ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รศ.นพ.สุรศักดิ์ แสดงความเห็นในเวทีรับฟังความเห็นผู้ให้บริการ ชี้ สิ่งที่ สปสช. ทำอยู่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ต้องคำนึงถึงผู้ให้บริการด้วย เสนอให้ สปสช. สนับสนุนการจัดบริการ ช่วยแบกรับภาระเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยี


รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ในฐานะเครือข่ายสถานพยาบาลสมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวในเวทีรับฟังความคิดเห็นจาก ‘ผู้ให้บริการ’ ประเด็น (ร่าง) ประกาศการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2567 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 ตอนหนึ่งว่า หากพิจารณาประกาศของ สปสช. เรื่องหลักเกณฑ์การดำเนินการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่างบประมาณมีการปรับเพิ่มขึ้น จาก 1.54 แสนล้านบาท ในปี 2557 เป็น 2.17 แสนล้านบาท ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้นมา 40% ขณะที่งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวประชากรก็เพิ่มขึ้นอีกราว 20% ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเป็นงบประมาณที่นำมาเป็นชุดสิทธิประโยชน์สำหรับดูแลประชาชน

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมผู้ให้บริการ สถานพยาบาล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ก็ไม่มีการพูดถึงความเป็นธรรมต่อผู้ให้บริการที่ต้องรับภาระการให้บริการทางการแพทย์ การให้บริการสาธารณสุขต่อประชาชนบ้างเลย ทั้งที่ชุดสิทธิประโยชน์ก็มีการปรับเพิ่มขึ้นมาตลอด อีกทั้ง ในส่วนของสถาบันทางการแพทย์ หรือกลุ่มโรงเรียนแพทย์ บางแห่งก็ต้องแบกรับต้นทุนค่าบริการสำหรับดูแลผู้ป่วยนอกสิทธิบัตรทอง 30 บาท สูงถึง 500-700 ล้านบาท

ทั้งนี้เพราะ สปสช.จ่ายค่าบริการตามที่กำหนดเท่านั้น แต่เมื่อทำเกินกว่าเป้าหมายก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ซึ่งเหมือนกับระเบิดเวลาที่รอวันระเบิดและจะมีความเสียหายตามมา ซึ่งประเด็นการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพฯ เพื่อให้เป็นธรรมกับผู้ให้บริการด้วย สปสช. จะต้องเข้ามาจัดการเพื่อให้ผู้ให้บริการ ที่เป็นสถาบันการแพทย์ ซึ่งมีการลงทุนเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ต้องรับดูแลผู้ป่วยในของสิทธิบัตรทอง 30 บาท สามารถบริหารจัดการได้ และไม่ต้องแบกรับกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมขึ้นมาอยู่ฝ่ายเดียว เพราะแต่ละปีต้นทุนการบริการก็เพิ่มขึ้น จึงอยากให้สปสช. พิจารณาต้นทุนการบริการที่สะท้อนความเป็นจริงในทุกๆ 3 ปี หรือทุกๆ 5 ปี

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในประเด็นความโปร่งใสและความเชื่อมั่นต่อการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ของ สปสช. นั้น สปสช.ควรเปิดเผยยอดงบประมาณหรือกรณีมีเงินเหลือว่ามีจำนวนเท่าใด และควรให้หน่วยบริการ ได้ทราบถึงการบริหารจัดการงบประมาณกรณีมีเงินเหลือ หรือได้รับเงินคืนด้วยเช่นกัน เพราะหน่วยบริการกำลังมองว่า สปสช. บริหารอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อให้หน่วยบริการ ในฐานะผู้ให้บริการสำคัญของระบบสุขภาพ มีความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ของ สปสช.

“สิ่งที่ สปสช.ทำอยู่นั้นเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่อีกด้าน สปสช. ก็ต้องคำนึงถึงผู้ให้บริการด้วย” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว