ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมรับฟังความเห็นบัตรทองเสนอให้ สปสช.พัฒนาศักยภาพ “อสม.-บอร์ด” พร้อมจัดทำแผนคุ้มครองสิทธิสุขภาพร่วมกับ สสส.-สช. ชงสถานศึกษาบรรจุหลักสูตรหลักประกันสุขภาพ

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2559 ตามมาตรา 18 (13) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยห้องย่อยที่ 5 ได้หารือในประเด็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ

ทั้งนี้ ที่ประชุมเริ่มอภิปรายถึงองค์ประกอบและบทบาทในระดับนโยบบาย และเห็นด้วยให้เพิ่มการพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้เข้าร่วมในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พร้อมทั้งเสนอให้ สปสช.สนับสนุนส่งเสริมการทำงานของภาคประชาชนให้เข้มแข็ง

นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้ สปสช.จัดทำแผนพัฒนาศักยภาพ และมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ รวมถึงตัวแทนภาคประชาชน และเครือข่าย 9 ด้าน ที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการทุกระดับอย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมทุกจังหวัด เพราะถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนงานภาคประชาชน

ในส่วนของการพัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อจัดให้มีกองทุนส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพนั้น ที่ประชุมเห็นด้วยให้บูรณาการการทำงานของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ และเสนอให้ร่วมกันทำแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ขณะที่การสนับสนุนให้มีศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพนักศึกษาในสถาบันการศึกษา ที่ประชุมเห็นด้วยและเสนอให้เพิ่มความรู้ในเรื่องหลักประกันสุขภาพในหลักสูตรการเรียนการสอน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเสนอให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการทำงานของศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพฯ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ และยังเสนอให้เครือข่ายผู้หญิงเข้าไปเป็นกรรมการในบอร์ด สปสช. พร้อมทั้งให้เครือข่ายประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดให้บริการโดยได้รับงบประมาณตรงเช่นเดิม

สำหรับแนวคิดที่ต้องการให้ สปสช.กันงบประมาณไว้อย่างน้อย 1 บาทต่อหัวประชากร เพื่อจัดสรรให้แก่ภาคประชาชนเครือข่ายต่างๆ ในการดำเนินงานด้านการเสริมสร้างและป้องกันโรคนั้น ที่ประชุมเห็นด้วยให้จัดสรรงบประมาณตามจำนวนเงินดังกล่าว เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังเห็นด้วยให้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการ ตามมาตรา 18 (4) ในทุกข้อเสนอย่อย และให้เร่งรัดพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังให้มีประสิทธิภาพ โดยขอให้เพิ่มอุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการและให้คนพิการเป็นผู้เลือก

ที่มา: คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ