ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘สมศักดิ์’ มอบปลัด สธ. เร่งประชุมออกไทม์ไลน์กำหนดปริมาณ ‘ยาบ้า’ ชี้ไม่มีใครเห็นเป็นอื่น ส่วน ‘กัญชา’ คาดใช้เวลามากกว่า เพราะมีความละเอียดอ่อน ระบุการแก้ระเบียบ-กฎเกณฑ์ ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ ส่วนการบำบัดกำลังพิจารณาใช้ยาฉีด แต่จะพยายามให้จบตามระยะเวลานายกฯ กำหนด


เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ได้เปิดเผยถึงกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แก้ไขประกาศกฎกระทรวง โดยดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 และเร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น รวมถึงขอให้ สธ. แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดปริมาณที่สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยปรับให้เหลือ 1 เม็ด แทนการเขียนว่าปริมาณเล็กน้อย เพื่อเป็นหลักฐานให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยให้ดำเนินการเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้

นายสมศักดิ์ ระบุว่า สำหรับประเด็นดังกล่าวนั้นจะต้องพยายามให้เสร็จสิ้นตามที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ ซึ่งในส่วนของการกำหนดปริมาณยาบ้านั้น ได้สั่งการให้ปลัด สธ. เร่งประชุมเพื่อดำเนินการ และกำหนดไทม์ไลน์ โดยคาดว่าจะออกได้ภายในสัปดาห์หน้า ส่วนนี้จะทำให้ทราบว่าต้องมีขั้นตอนอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ดูจะไม่มีใครเห็นเป็นอื่น

ส่วนกรณีของกัญชา รัฐบาลมีการแถลงดำเนินการตามนโยบายการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพเพื่อสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการคิดว่าถูกปิดกั้นในเรื่องของการขออนุญาต แต่เมื่อรับแนวนโยบายจากรัฐบาล ก็จะพยายามทำให้เกิดความสอดคล้องกัน 

“เรื่องกัญชาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก โดยเฉพาะการทำประชาพิจารณ์ หรือฟังความคิดเห็น รวมถึงต้องมองดูว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในส่วนของผู้ที่ลงทุนไปแล้ว ในเรื่องของการทำผลิตภัณฑ์ ซึ่งในส่วนของการอนุญาตต่างๆ ต้องทำให้เกิดความคล่องตัว อันนี้ก็ยังต้องใช้เวลามากกว่ายาบ้าในการดำเนินการ เพราะยังมีแง่มุมที่ต้องทำความเข้าใจ” นายสมศักดิ์ ระบุ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การแก้ระเบียบ กฎเกณฑ์ ต้องมีการทำประชาพิจารณ์อยู่แล้ว ขณะเดียวกันแนวทางที่รัฐบาลจะดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายกัญชาก็จะต้องดูไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการธุรกิจ ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการอยากพูดคุยก็ยินดีรับฟัง

นายสมศักดิ์ ระบุอีกว่า กรณีกัญชงยังมีความรู้น้อย พยายามพูดคุยอ่านเอกสารแล้วพบว่าไม่ได้นิยมนำมาเสพ ซึ่งกัญชงที่ปลูกบนเขา มีค่า THC ต่ำกว่า 0.2 แต่เมื่อปลูกในที่ราบจะมีค่า THC สูงกว่า ซึ่งตนเองพยายามพูดกับผู้รู้ และได้รับคำตอบว่าแยกได้ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องดูอย่างรอบครอบ เชื่อเลยไม่ได้

ส่วนกรณีถ้าจะนำส่วนใดของกัญชา เช่น ทั้งต้น หรือช่อดอก กลับไปเป็นยาเสพติดหรือไม่นั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อาจจะไม่ได้อย่างใจอยาก เพราะมีเรื่องวิชาการ ข้อมูลจากองค์กรสากลว่าทำอย่างไรปัญหาถึงจะน้อยที่สุด

มากไปกว่านั้น ต้องมีการยกระดับการบำบัดผู้ที่ติดยาเสพติด รวมถึงยาที่ใช้บำบัดผู้ที่ติดยาเสพติด เนื่องจากในอดีตยาที่ใช้ในการบำบัดผ่านการอมหรือกลืน ทำให้ผู้ได้รับการบำบัดรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวและไม่อยากรับประทานยา เกิดเป็นปัญหาจิตเวชรุนแรง ซึ่งกำลังพิจารณาว่าในการยกระดับจะต้องใช้ยาฉีดสำหรับการบำบัดหรือไม่ ในขณะที่ผู้หนีการบำบัด หรือบำบัดไม่ครบ ไม่ได้ใบรับรองจะต้องถูกดำเนินคดีต่อตามที่กฎหมายได้ระบุไว้

“ผู้เสพจะมีสีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีแดง ในกรณีสีเหลือง สีส้ม อาจจะต้องมีการยกระดับเป็นยาฉีด แต่ด้วยราคาที่สูงก็ต้องอยู่กับคณะกรรมการที่จะอนุมัติ และอาจจะต้องไปถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้วย เนื่องจากเป็นผู้ถือเงิน ผมดูแล้วว่าการบำบัดที่ผ่านมาถูกวิพากษ์ว่าไม่ได้ผล เพราะเราให้ยาที่ผู้ป่วยไม่กิน ครั่นเนื้อครั่นตัว ทรมาน เขาไม่รั บฉะนั้นต้องเปลี่ยน อาจจะใช้ยาแพงหน่อยก็จำเป็น แต่ก็ต้องพิจารณาดูว่าใช้กี่เข็ม ส่วนในกลุ่มสีเขียวก็มีสมุนไพรราคาไม่แพง” นายสมศักดิ์ ระบุ

นายสมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ได้มีการพูดคุยกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ถึงเรื่องนี้ แม้อาจจะไม่ได้เห็นด้วยกันทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้ทะเลาะกัน