ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สมศักดิ์” เดินหน้าสร้างความมั่นคงเจ้าหน้าที่ ยืนกรานลุยเขียนกฎหมายค่าตอบแทน ‘อสม.’ พร้อมทบทวนครอบครอง ‘ยาบ้า 5 เม็ด’ ชี้ ให้ดูที่เจตนารมณ์ของกฎหมาย พร้อมปรับแนวทางกัญชาแน่นอน


นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหาร สธ. เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2567 ตอนหนึ่งว่า เรื่องการพิจารณาออกกฎหมาย พ.ร.บ. สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือ พ.ร.บ. ค่าตอบแทน อสม. นั้น ได้พูดอย่างชัดเจนไปแล้ว ซึ่งจะเป็นไปเพื่อสร้างความมั่นคงให้ อสม. โดยประเทศไทยมี อสม. จำนวน 1,075,000 คน อยู่ทุกหมู่บ้านและชุมชน และหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ด้านอื่นๆ ก็จะตามไปด้วย ตรงนี้เป็นการบ้านให้กับปลัด สธ. และข้าราชการ สธ. ได้ทำร่วมกันเพื่อให้เกิดความมั่นคงของเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2567 ในพิธีเปิด "กุฏิชีวาภิบาลจังหวัดสุโขทัย" นายสมศักดิ์ ได้กล่าวว่า เบื้องต้นได้หารือกับปลัด สธ.ว่าจะพิจารณาออกกฎหมาย เป็น พ.ร.บ. สำหรับ อสม. เพื่อให้ อสม. มีค่าตอบแทน และมีความยั่งยืน โดยไม่ต้องกังวลว่า ในอนาคตจะได้เดือนละ 2,000 บาทหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีกฎหมาย ก็ต้องใช้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการอนุมัติ ซึ่งถ้าไม่ให้ อสม. ก็จะไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกฎหมายแล้ว ก็จะเกิดความยั่งยืน ดังนั้นจะช่วยผลักดันให้ อสม. เกิดความยั่งยืนต่อไป

นายสมศักดิ์ ระบุถึงปัญหาการเข้ารับบริการของประชาชนตามนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวในพื้นที่กรุงเทพมหาคนร (กทม.) ว่า ยินดีพบกับประชาชนที่จะรวมกลุ่มกันมาพบ เพื่อพูดคุย สะท้อนปัญหา และหาทางปรับ หากทำได้ก็ทำ แต่จะพยายามให้เร็ว ส่วนเรื่องการนโยบาย 50 เขต 50  โรงพยาบาลในพื้นที่ กทม. นั้นยังดำเนินการต่อ 

หนีบำบัด แจ้งตำรวจจับ

นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า วันนี้ เป็นการประชุมผู้บริหารกระทรวงครั้งแรก โดยมีโอกาสได้รับฟังผลการดำเนินงาน ซึ่งตนก็ได้ให้นโยบายว่า อะไรที่ทำแล้วประหยัด ได้ผลดี ทำให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย ก็ขอให้เร่งดำเนินการ รวมถึงพร้อมสนับสนุนภาคเอกชน หรือ ภาครัฐ ที่จะเข้ามาลงทุนเกี่ยวกับด้านการแพทย์อย่างเต็มที่ โดยสิ่งที่ได้พูดคุยเน้นย้ำ คือ นโยบาย 30 บาท และแผนการบำบัด ที่ต้องบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงานด้วย ซึ่งเรื่องยาเสพติด จากนี้ ก็ต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่า มีการบำบัดไปแล้วเท่าไหร่ ผลเป็นอย่างไร

“ส่วนยาเสพติดอื่นๆ ต้องมีตัวชี้วัดว่าผู้ที่เข้ารับการบำบัดแล้วหายเท่าไหร่ ถ้าสมัครใจบำบัด แล้วหายต้องมีใบรับรอง คนที่หนีการบำบัด บำบัดไม่ทันหายก็ต้องมีการแจ้งตำรวจ เพื่อให้การดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นคดี ต้องนำตัวมารับโทษ ในอดีตอาจจะยังปฏิบัติตามเงื่อนไขไม่ครบเลยยังความลักลั่น แต่เมื่อดำเนินกาครบแล้ว ต้องขอให้หน่วยงานอื่นเข้ามาขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลทรี่กำหนดเวลาให้” นายสมศักดิ์ กล่าว

ยาบ้า 5 เม็ด พิจารณาใหม่แน่นอน 

เมื่อถามถึงการพิจารณาปรับลดจำนวนยาบ้าที่ถือเป็นผู้เสพ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องมีการพิจารณาใหม่อย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ ถ้ามีโอกาส ตนจะนำเสนอผู้บังคับบัญชาต่อไป เพราะตนเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายยาเสพติดเป็นอย่างดี โดยถ้ามีการพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมาย ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งเดิมทีเจตนารมณ์กฎหมาย ไม่มีเรื่องปริมาณเล็กน้อย โดยห้ามครอบครอง 100% แต่เมื่อ ครม.ส่งร่างกฎหมายใหม่ ให้กฤษฎีกา ก็ได้รับการปรับแก้ให้มีเรื่องปริมาณเล็กน้อย เนื่องจากในอดีตมีข้อถกเถียงว่า ถ้ามียาบ้าติดกระเป๋า หรือ ติดเล็บ จำนวนไม่ถึงเม็ด ก็จะถูกดำเนินคดี ดังนั้น จึงมีการเพิ่มมาตรา ให้มีเรื่องปริมาณเล็กน้อย เพื่อให้ฝ่ายปฏิบัติ ไม่ต้องยุ่งยากมาก แต่จากนี้ จะกำหนดจำนวนกี่เม็ด ก็ต้องมีการหารือจากทุกภาคส่วน แต่ยอมรับว่า มีแนวโน้มน้อยลงกว่า 5 เม็ด อย่างแน่นอน

เมื่อถามถึงการปรับแก้กัญชา นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องมีการปรับปรุง โดยแนวทางต้องเปลี่ยนไป แต่จะเปลี่ยนอย่างไร ต้องหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะเราจะทำโดยลำพังไม่ได้ ซึ่งขอยังไม่ลงรายละเอียดว่า จะเป็นกัญชาทางการแพทย์เท่านั้นหรือไม่ โดยขอให้รอความชัดเจนภายในเดือนนี้ 

เมื่อถามถึงเรื่องคุณภาพข้าว 10 ปี ทางการแพทย์ สามารถรับประทานได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องข้าวเวลาเก็บตัวอย่าง ต้องเก็บพร้อมกัน เพื่อป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์แบบผิดๆ ถูกๆ ซึ่งข้าวที่เก็บเป็นระยะเวลานาน ต้องยอมรับว่า สภาพจะเปลี่ยนไปตามภูมิศาสตร์ โดยถ้าสังคมเกิดความสงสัย ก็สามารถส่งห้องแล็บ ของวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 7 วัน ก็จะทราบผลของข้าวอย่างละเอียด