ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในปี 2545 ระบบสาธารณสุขของไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นก็คือการเกิดขึ้นของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อเป็นหลักประกันให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงบริการสุขภาพโดยไม่ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

ผ่านมา 20 กว่าปี จนถึงปี 2567 ระบบสาธารณสุขไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยยกระดับจาก "รักษาทุกโรค" เป็น "รักษาทุกที่" ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

สาระสำคัญที่อยู่เบื้องหลังนโยบายนี้มี 2 ประการ คือ 1. เป็นการทำ Digital Transformation ระบบข้อมูลสุขภาพให้มีการเชื่อมต่อกันทั่วประเทศ ซึ่งผลลัพธ์ที่ประชาชนจะเห็นได้ชัดคือสามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัว หน่วยบริการสามารถเรียกดูข้อมูลโรค การวินิจฉัยโรค และแนวทางการรักษาที่ได้ทำไปแล้วจากฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงถึงกันระหว่างหน่วยบริการ และสามารถให้การรักษาได้ต่อเนื่อง ลดความซ้ำซ้อนในการรักษาและการให้ยา เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังสามารถนำข้อมูลสุขภาพซึ่งมีมหาศาลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์แนวโน้มเพื่อกำหนดนโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสมและทันสถานการณ์อีกด้วย

เมื่อรักษาได้ทุกที่แล้ว สิ่งสำคัญอีกประการคือต้องมีหน่วยบริการที่เพียงพอให้ประชาชนไปรับบริการด้วย ความสำคัญที่ 2. จึงเป็นการดึงคลินิกเอกชนเข้ามาร่วมโครงการเพื่อให้มีหน่วยบริการที่เพียงพอ และเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในภาคเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลสุขภาพประชาชนด้วย

คลินิกเอกชนที่เข้าร่วมดูแลประชาชนในโครงการนี้ เรียกว่า “หน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่” ซึ่งประกอบด้วย ร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น และรถทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้ต้องขัง เด็กในสถานพินิจ เป็นต้น โดยบทบาทหลักจะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ให้ประชาชนสามารถไปรับบริการใกล้บ้านโดยไม่ต้องไปเสียเวลาแออัดหรือรอที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน

ยกตัวอย่างเช่น ร้านยาชุมชนอบอุ่น ประชาชนสามารถไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแล้วกลับมารับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้เลยโดยไม่ต้องไปเสียเวลารอที่ห้องยาอีก หรือหากเจ็บป่วยเล็กน้อย ก็สามารถไปพบเภสัชกรเพื่อรับยาและคำแนะนำเบื้องต้นได้เลยโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล หรือแม้แต่บริการเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ก็สามารถไปที่ร้านยาได้ เช่น รับถุงยางอนามัย ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง เป็นต้น

ขณะที่คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น ผู้ป่วยก็สามารถให้การรักษาเจ็บป่วยเบื้องต้นได้ เช่น การฉีดยา ทำแผล ล้างแผล รักษาโรคเบื้องต้น โดยไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล และคลินิกพยาบาลฯ ยังมีบริการเยี่ยมบ้านเพื่อดูแลผู้ป่วยในชุมชนอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

เช่นเดียวกับโรคบางอย่างที่ต้องเจาะเลือดก่อนพบแพทย์ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยก็สามารถไปรับการเจาะเลือดที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่นใกล้บ้าน หรือในกรณีที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ทางคลินิกฯก็จะไปเจาะเลือดให้ถึงที่บ้าน เป็นต้น รวมทั้งผู้ที่มีปัญหาสุขภาพในช่องปาก ก็สามารถไปรับบริการเบื้องต้นที่คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น ซึ่งจะได้รับการตรวจสุขภาพช่องปาก ทั้งการอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ฯลฯ โดยไม่ต้องรอคิวนานที่โรงพยาบาลของรัฐ

อีกบริการที่เพิ่มเข้ามาและจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างมาก คือการมีคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่นเข้ามาร่วมให้บริการผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรค คือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury) ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ (Spinal cord injury) ผู้ป่วยภาวะกระดูกสะโพกหักจากภยันตรายชนิดไม่รุนแรง (Fragility fracture hip) ซึ่งโรคเหล่านี้จะมีระยะเวลาทอง (Golden Period) ในการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยการทำกายภาพบำบัดภายในระยะเวลา 6 เดือน แต่ด้วยจำนวนบุคลากรในโรงพยาบาลที่มีน้อยและมีผู้บริการจำนวนมาก ทำให้ผู้ป่วยบางส่วนได้รับการทำกายภาพบำบัดได้ไม่เต็มที่หรือหลุดจากระบบการฟื้นฟูไปเลย การมีคลินิกกายภาพบำบัดเข้ามาร่วมให้บริการ จึงสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพได้มากขึ้น

ขณะที่ คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น ก็เป็นการตรวจรักษาโรคแบบผู้ป่วยนอกที่เปิดนอกเวลาราชการ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่เจ็บป่วยเบื้องต้นไปใช้บริการได้ โดยไม่ต้องลางาน

รวมไปจนถึง คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น เมื่อมีการเปิดให้คลินิกทันตกรรมเอกชนเข้ามาให้บริการทันตกรรมทั่วไป เช่น ขูด อุด ถอน เคลือบหลุมร่องฟัน และฟลูออไรด์ ก็ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอคิวนาน และสามารถผ่องถ่ายผู้ป่วยในกลุ่มที่เป็นการรักษาเบื้องต้นออกจากโรงพยาบาลไปได้ ให้ทันตแพทย์ในโรงพยาบาลได้มีเวลารักษาในรายที่ซับซ้อนเฉพาะทางมากขึ้น

และ คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น ที่ให้บริการ นวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษา ก็เป็นอีกทางเลือกในการให้ประชาชนได้รับการดูแลด้วยการแพทย์แผนไทย

ทั้งนี้ การเข้ามามีบทบาทหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่เหล่านี้ เป็นมิติใหม่ของระบบสุขภาพไทย ซึ่งจะตอบโจทย์แนวคิดในเรื่อง “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” ให้ประชาชนไปรับบริการในหน่วยบริการใกล้บ้านได้อย่างสะดวก สิ่งที่ตามมาคือการลดความแออัดในโรงพยาบาล และเมื่อมีหน่วยบริการเหล่านี้เข้ามาเป็นด่านหน้าในการดูแลระดับปฐมภูมิ ก็ทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลมีเวลาไปดูแลผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น ที่อีกประเด็นสำคัญคือ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายแฝงของผู้ป่วยในการเข้ารับบริการ เช่น ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดการเสียโอกาสในการหารายได้ ตลอดจนระยะเวลาการรอคอย เป็นต้น

ปัจจุบันมีหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ที่เข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ มีทั้งหน่วยบริการที่สามารถใช้บริการได้ทั่วประเทศ ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่ที่ไหน คือ ร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น และคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น ขณะที่หน่วยบริการอีก 3 ประเภทใช้ได้ในจังหวัดนำร่อง 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ได้แก่ คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น และคลินิกแพทย์แพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น

ทั้งนี้การยกระดับ 30 รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มนำร่องใน 4 จังหวัดแรกไปเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี นราธิวาส ในเดือน มี.ค. นี้ได้ขยายพื้นที่นำร่องไปอีก 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี พังงา หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา และสระแก้ว

ในเดือนพฤษภาคมมีแผนที่จะขยายพื้นที่เป็นระดับเขตสุขภาพใน 4 เขตสุขภาพ ได้แก่ เขต 1 เขต 4 เขต 9 เขต 12 และมี 2 เขตสุขภาพที่เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเข้าร่วมในเฟสนี้ คือ เขต 3 และเขต 8 รวมทั้งหมดเป็น 6 เขตก่อนจะขยายไปทั่วประเทศในอนาคต ซึ่งจะเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพให้ก้าวกระโดดครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สาธารณสุขไทย