ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ย้อนกลับไปกว่า 20 ปีก่อน นโยบาย ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ หรือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่เข้ามาสร้างแรงสั่นสะเทือนวงการสาธารณสุขไทย

ในมุมผู้รับบริการ นี่เป็นเรื่อง ‘เชิงบวก’ เพราะถือเป็นหลักประกันให้คนไทยที่เกิดมาพร้อมกับเลขประจำตัว 13 หลัก ว่าจะไม่ล้มละลายจากการรักษา

จากการเริ่มต้นของนโยบาย 30 บาทในวันนั้น เดินทางข้ามเวลามาถึงวันนี้ และกลายเป็นจังหวะก้าวสำคัญในปี 2567 ภายใต้การนำของรัฐบาลเพื่อไทย (ไทยรักไทยเดิม) คือการยกระดับกลายเป็นนโยบาย ‘30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’

เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือบัตร 30 บาท) สามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่ง ทุกสังกัดที่เข้าร่วม

ทว่า การที่ประชาชนจะไปรักษาที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องพึ่งใบส่งตัว รวมไปถึงการเข้ารับบริการตามความสะดวกของผู้ป่วยนั้น ‘ระบบการเชื่อมโยงข้อมูล’ จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ทำให้นโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นจริง

ฉะนั้น “The Coverage” จึงขอพาทุกคนมาดูการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศ เบื้องหลังความสำเร็จของนโยบายนี้ ผ่านคำบอกเล่าของ นพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้ากลุ่มสารสนเทศทางระบาดวิทยา กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค หรือ ‘หมอไผ่’ ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านระบบเทคโนโลยี และคุ้นเคยกับแพลตฟอร์ม ‘หมอพร้อม’ มาตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“เมื่อข้อมูล (ของหมอพร้อมช่วงโควิด-19) สามารถส่งผล RT-PCR ได้ ผมก็ต้องส่งผลเลือด ค่าน้ำตาล ไขมัน หรือผลเบาหวานได้ ถ้าข้อมูลใบรับรองการป่วยจากโควิดสามารถทำได้ ใบรับรองแพทย์ตัวอื่นๆ ใบรับรองแพทย์สำหรับทำใบขับขี่ก็ต้องทำได้ หรือแม้กระทั่งสมุดเล่มเหลือง (หนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน วัคซีนโควิด-19) กรณีเดินทางไปต่างประเทศ การทำให้คนไทยมีข้อมูลเมื่อต้องเดินทาง เผื่ออาจเกิดการเจ็บป่วยก็ต้องทำได้เหมือนกัน”

นี่คือศักยภาพของระบบการเชื่อมต่อข้อมูล ที่นับเป็นหัวใจของ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

‘โควิด-19’ คือสารตั้งต้นในการเชื่อมร้อยข้อมูล

‘ข้อมูลที่ไม่เชื่อมต่อกัน’ เป็นเรื่องปกติของทุกโรงพยาบาล และไม่ใช่แค่เฉพาะที่ไทยเท่านั้น แต่เป็นกันทั่วโลก นั่นคือสิ่งที่หมอไผ่อธิบายให้ฟังก่อนจะเริ่มต้นบทสนทนา พร้อมกับอธิบายต่อไปว่า แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นมา ประจวบกับในขณะนั้นมีทั้งกฎหมาย กำลังคน งบประมาณ ฯลฯ เข้ามารองรับทำให้ทุกอย่างสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น และเกิดเป็นแพลตฟอร์ม ‘หมอพร้อม’ ขึ้นมา ซึ่งในขณะนั้น ข้อมูลการตรวจหาเชื้อ ข้อมูลการฉีดวัคซีน ฯลฯ จากทั้งภาครัฐ เอกชน คลินิก ฯลฯ ก็ขึ้นแสดงทั้งหมด มากไปกว่านั้น ยังสามารถใช้เดินทางไปต่างประเทศได้อีกด้วย

ฉะนั้นแล้ว การเชื่อมโยงข้อมูลของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวนั้น เป็นการขยายผลจากการดำเนินการช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิดผ่านแพลตฟอร์มหมอพร้อม

“สำหรับโครงการนี้ ทุกคนอาจจะงงว่าใน 100 วันเกิดขึ้นได้อย่างไร นี่คือคำตอบ เพราะมันคือของเดิม เราแค่สานต่อ และขยายผลเท่านั้น”

หมอไผ่เปรียบเปรยให้ฟังว่า ‘เป็นการทำถนนลาดยาง’ เพื่อให้รถยนต์ธรรมดาสามารถไปต่อ และใช้ประโยชน์ได้ จากเดิมที่ต้องใช้รถโฟวิลเดินทาง ‘บนถนนลูกรัง’ เท่านั้น

‘ต่างโรงพยาบาล ต่างระบบ’ ความซับซ้อนจึงบังเกิด

ด้วยระยะเวลาที่มีจำกัด รวมถึงความแตกต่างของระบบการเก็บข้อมูลหลังบ้านของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ทำให้การเชื่อมต่อข้อมูลยังมีความซับซ้อน และส่วนที่ยากที่สุดคือ ‘ระบบของโรงพยาบาล’ หรือระบบ Hospital Information System: HIS ที่แค่เฉพาะโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวนกว่า 900 แห่ง ก็มีระบบที่ใช้งานราว 30 ระบบแล้ว ยังไม่รวมกับระบบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีกกว่า 9,000 แห่ง ซึ่งหมอไผ่บอกว่า แทบไม่มีที่สังกัดไหนที่ใช้ระบบเดียวตามที่หลายคนเข้าใจ 

ฉะนั้นการพูดคุยเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกันในแต่ระบบจึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน การเลือกใช้ระบบของโรงพยาบาล เป็นเรื่องที่ ‘ส่วนกลาง’ ไม่สามารถสั่งการได้ เพราะโรงพยาบาล (ในสังกัด สธ.) มีขนาดต่างกัน ความต้องการในการใช้งานของบุคลากรก็มีความต่างกัน ฉะนั้นโรงพยาบาลแต่ละแห่งจึงเลือกใช้สิ่งที่เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง

ทว่า สิ่งที่ยากไปกว่านั้น คือการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจของบริษัทเจ้าของระบบที่ให้บริการ หมอไผ่บอกว่า ‘แค่เรียกคุยก็ยากแล้ว’ แทบไม่ต้องพูดกันถึงเรื่องเทคนิคเลย ในฐานะส่วนกลางจึงต้องใช้แรงพอสมควรในการพูดคุยกัน

ส่วนความยากอีกหนึ่งอย่างในเรื่องนี้ คือการคุยกับพื้นที่ในกรณี รพ.สต. ถ่ายโอนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงระบบ HIS ที่ใช้นั้นไม่ได้มีหลากหลายเหมือนโรงพยาบาล มีเพียงประมาณ 2-3 ระบบเท่านั้น เพราะส่วนหนึ่งเป็นระบบที่พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีฯ เอง

นั่นทำให้ในการดำเนินโครงการ จึงจำเป็นต้องมี ‘จังหวัดนำร่อง’ เพราะในชีวิตจริงจะต้องมีสิ่งที่เหนือความคาดหมาย หรือสิ่งที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ โดยส่วนกลางจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสาน และสนับสนุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำมาตั้งแต่สมัยเกิดหมอพร้อม โดยที่ผ่านมาก็ได้มีการชี้แจงเรื่องมาตรฐาน รวมถึงคู่มือแจกจ่ายกันไป หากโรงพยาบาลใดติดขัดก็สามารถแจ้งเข้ามาได้ และจะมีการส่งทีมเข้าไปสนับสนุน

“คุณจะใช้ระบบไหนก็แล้วแต่ หากสามารถเชื่อมต่อกับเราได้ เราจบ เพราะหลักการเรามีแค่นี้”

เปลี่ยนบัตรประชาชนเป็นบัตรผู้ป่วย ผ่าน ‘Health ID’ หมอพร้อม

การยืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการ ‘Health ID’ ของระบบหมอพร้อมนั้น เปรียบเสมือนการยืนยันตัวตนจากธนาคารก่อนทำธุรกรรมทางการเงิน (National Digital ID: NDID) ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกัน ‘ผู้สวมรอย’ รวมถึงสามารถเห็นข้อมูลของตัวเองได้ ซึ่งหากเป็นธนาคารจะเห็นข้อมูลทางการเงิน แต่เมื่อเป็นโรงพยาบาลประชาชนที่ยืนยันตัวตนก็จะเห็นข้อมูลสุขภาพของตัวเอง (Personal Health Records: PHR)

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาหมอไผ่เองก็ได้รับคำถามว่า เหตุใดจึงไม่ใช้ข้อมูลจากบัตรประชาชน? นำมาสู่การพูดถึงระบบ ‘ThaID’ ซึ่งเป็นระบบพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล จากฝั่งกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งหมอไผ่ก็ได้อธิบายไว้ว่ามักจะยกตัวอย่างว่า ‘Health ID คือบัตรผู้ป่วย ส่วน ThaID คือบัตรประชาชน’ ซึ่งการจะทำบัตรผู้ป่วยได้ ก็ต้องใช้บัตรประชาชน

แม้จะเป็นบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลทุกอย่างบนหน้าบัตรจะใช้บริการได้ในช่วงนำร่อง ณ ขณะนี้ เช่น ภูมิลำเนา หรือที่อยู่ปัจจุบัน เพราะบางคนอาจมีภูมิลำเนาอยู่อีกจังหวัด แต่เข้ามาทำงานในจังหวัดนำร่อง หากไม่มีการยืนยันตัวตนว่าอยู่ในพื้นที่จริงก็อาจส่งผลต่อการเข้ารับบริการได้

“เวลาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเขาจะเจอแพทย์ เจอพยาบาลทุกครั้ง และพวกเราก็จำเป็นต้องได้รับการยืนยันข้อมูลรวมถึงที่อยู่ เพราะต้องมีการเยี่ยม หรือติดตามอาการที่บ้าน ฉะนั้นที่อยู่จะต้องเป็นที่อยู่ปัจจุบัน ซึ่งก็จะรองรับกรณีมีเหตุฉุกเฉินด้วย”

ฉะนั้นการ ยืนยันตัวตนผ่านระบบหมอพร้อม จะเปรียบเสมือนการใช้บัตรประชาชนเป็นบัตรผู้ป่วย ซึ่งจะเข้ามาเสริมให้บัตรประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการดึงข้อมูลเวชระเบียนที่ไม่ได้ปรากฏหน้าบัตร เช่น ประวัติการรักษา เลขประจำตัวผู้ป่วยนอก (HN) ผลเลือด ฯลฯ กลายเป็นบัตรผู้ป่วยกลางที่ใช้ได้กับทุกโรงพยาบาลที่เข้าร่วม  

การยืนยันตัวตนผ่าน Health ID ถือเป็นจุดสำคัญที่ทุกคนควรต้องลงทะเบียน เพราะการยืนยันตัวตนนั้นจะนำไปสู่การบริการการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine หรือสิทธิประโยชน์ในอนาคตด้วย

“หากผมไป 5 โรงพยาบาล ผมจะได้บัตรผู้ป่วยมา 5 สี แต่ตอนนี้ผมต้องการให้เป็นบัตรผู้ป่วยอันเดียวใช้ได้ทั้งประเทศ ลักษณะแบบนี้ ซึ่งเดี๋ยวก็จะตามมาด้วย เราต้องทำไปทำบัตร เมื่อไป 5 โรงพยาบาลก็มีบัตรผู้ป่วย 5 ใบ อีกหน่อยจะใช้ Health ID เป็นบัตรเดียว และจะเร็วๆ นี้ก็จะเริ่มมีการทดสอบในเฟสที่ 2 อีก 8 จังหวัดในเดือนมีนาคมนี้”

ขณะเดียวกัน หมอไผ่เองก็ได้อธิบายว่าการยืนยันตัวตนผ่าน Health ID นั้นไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อแข่งกับ ThaID แต่อย่างไร แต่เป็นการเติมเต็มข้อมูลอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น และมากไปกว่านั้นระบบของหมอพร้อมก็รองรับ ThaID เช่นกัน ซึ่งจากวันนำร่อง 4 จังหวัดในเฟสแรกก็ได้มีการทดสอบแล้ว

จากประสบการณ์เก็บข้อมูลวัคซีน สู่การขยายตัว ‘ถังข้อมูลหมอพร้อม’

เรื่องการเชื่อโยงข้อมูลขนาดใหญ่ผ่านนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวนั้น หมอไผ่ระบุว่า ‘เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีเคยมีใครทำมาก่อนในประวัติศาสตร์สาธารณสุข’ เพราะที่ผ่านมาอาจจะมีเพียงการเชื่อมต่อ หรือทำงานร่วมกัน 2-3 จังหวัด แต่ในภาพใหญ่ของประเทศนั้นยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน และแน่นอนว่าหมอพร้อมเองก็มีประสบการณ์จากการเก็บข้อมูลวัคซีนในช่วงโควิด-19 มาแล้ว

รวมถึงมีสถานบริการที่ส่งข้อมูลเข้ามาในระบบตั้งแต่ช่วงโควิด-19 และแม้ว่าการทำงานในครั้งนี้จะไม่เหมือนที่ผ่านมา แต่หมอพร้อมก็มีประสบการณ์มาแล้วในระดับหนึ่ง ฉะนั้นจึงคิดว่าสามารถตอบสนองต่อนโยบายได้

หากย้อนกลับไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถังเก็บข้อมูลของหมอพร้อม สามารถเก็บข้อมูลการฉีดวัคซีนของประชาชนได้ราว 150 ล้านโดส ในขณะที่ตอนนี้คาดว่าน่าจะมีการเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการได้แล้วประมาณ 1 พันล้านครั้ง และสามารถเก็บข้อมูลย้อนหลังได้ถึง 6 ปี

หมอไผ่อธิบายว่า โดยปกติแล้วข้อมูลที่เก็บเอาไว้จะนำมาคืนให้ประชาชน รวมถึงให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ หน้างานที่อยู่ตามคลินิก หรือโรงพยาบาลต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการสามารถดูข้อมูลได้ แต่มากไปว่านั้นส่วนหนึ่งก็จะนำมาสู่การการวิจัยเพื่อการขับเคลื่อน และกำหนดเป็นเชิงนโยบายต่อไป

การเชื่อมต่อข้อมูลนั้น ก็เพื่อขอข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาใส่ไว้ในถังข้อมูลที่เปรียบเสมือนถังน้ำปลายทาง ที่จะเหมือนกับช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งโดยปกติแล้วจะคุ้นเคยกับข้อมูล 43 แฟ้ม ที่จะเน้นการนำข้อมูลที่ได้จากอีเมล หรือเอ็กเซลมาใส่เป็นก้อน แต่ปัญหาที่ตามมาคือข้อมูลเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาในการดึง เพราะมีทั้งขั้นตอน และกระบวนการที่ค่อนข้างมาก

ฉะนั้นแล้ว ส่วนนี้จึงเป็นการต่อเติมจากหลักการทำงานเดิม และจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นแล้วว่าทั้งโรงพยาบาลรัฐ เอกชน โรงเรียนแพทย์ คลินิก ฯลฯ สามารถเข้าสู่ระบบหมอพร้อมได้ นำไปสู่ที่ว่า ‘กระบวนการเหมือนเดิม เพียงแต่มีการปรับเพิ่มเล็กน้อย’ เท่านั้น

“สำหรับการเชื่อมข้อมูลนั้น เริ่มจากข้อมูลของระบบ HIS หน่วยบริการ ข้อมูลจาก Dashboard ติดตามสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงข้อมูลจากแอปพลิเคชัน และไลน์หมอพร้อมวิ่งเข้าถังข้อมูล Data Center ซึ่งเป็น Private Cloud”

ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงการยืนยันตัวตนผ่านแพลตฟอร์มอื่นๆ หมอไผ่อธิบายว่าในทางเทคนิค การเชื่อมโยงข้อมูลไม่ได้ติดขัดอะไร เพียงแต่ส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับนโยบายมากกว่า เพราะต้องอย่าลืมว่าโรงพยาบาลนั้นมีหลายสังกัด หลายกระทรวงดูแล

มีระบบความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล ‘3 ระดับ’

อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่เป็นข้อกังวลของหลายฝ่าย นั่นก็คือเรื่องของ ‘ระบบความปลอดภัยของข้อมูล’ ซึ่งระบบหมอพร้อมมีระบบที่ว่าถึง 3 ระดับ เพราะการที่ใครจะเข้าถึงข้อมูลส่วนไหนได้นั้นเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับการเข้าถึงข้อมูลระดับที่ 1. ข้อมูลทั่วไปที่หาได้ไม่ยาก และจำเป็นต้องเปิดเผย เช่น ข้อมูลวัคซีน ฯลฯ ระดับที่ 2. ข้อมูลสุขภาพ ประวัติสุขภาพที่ผู้ป่วยจะต้องยืนยันตัวตนผ่าน ‘Health ID’ ก่อนเข้าถึงข้อมูลได้  ซึ่งส่วนนี้เป็นสิ่งที่หลายคนเข้าใจผิด และคิดว่าจะสามารถเห็นข้อมูลได้เพียงแค่เข้าใช้งานแอปพลิเคชัน และระดับที่ 3. ข้อมูลสำหรับแพทย์ พยาบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเท่านั้น โดยในระดับนี้จะมี ‘Provider ID’ เอาไว้รองรับบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะ เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริง

“มากไปกว่านั้นเราต้องตรวจสอบอยู่แล้ว มีการจ้างไวท์แฮกเกอร์ และเรามีคณะทำงานที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลโดยเฉพาะ โดยเป็นคณะทำงานเรื่องความั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้รับเกียรติจากธนาคาร สมาคมธนาคาร และกระทรวงดีอีมาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเรามีคณะนี้โดยตรง มีตั้งแต่สมัยโควิด”

‘30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ นโยบายเปลี่ยนประวัติศาสตร์สาธารณสุข

หมอไผ่มองย้อนกลับไปถึงภาพการให้บริการในอดีตจะพบว่า สิ่งที่แพทย์ และพยาบาลทำคือการให้ผู้ป่วยกลับไปเอาประวัติ ยา บัตร ฯลฯ เดิมมาเพื่อใช้ในการรักษา ทำให้ประชาชนยังต้องเสียเวลากลับไปเอา แน่นอนว่า ‘ไม่มีใครมีความสุข’ แต่เมื่อมองในฐานะแพทย์แล้ว สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องทำเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ฉะนั้นการทำระบบดังกล่าวนี้ขึ้นมาก็เพื่อ ‘ไม่ให้ทุกคนต้องเจอกับเหตุการณ์แบบนั้นอีก’

“ระบบนี้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ เพราะเมื่อมีการเชื่อมข้อมูล แปลว่าโรงพยาบาลที่เคยใช้กระดาษ ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นการเชื่อมข้อมูลเพื่อสนองนโยบาย หมายความว่าโรงพยาบาลก็จะต้องมีการปรับปรุงการให้บริการ ระบบข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน”

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้ส่งผลให้เฉพาะประชาชนที่จะได้รับความสะดวกสบายในเข้ารับบริการ และได้รับคุณภาพขึ้นในการรักษามากขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการปรับปรุงระบบของหน่วยบริการ คลินิก ร้านขายยา ฯลฯ ที่เข้าร่วมโครงการด้วย

ฉะนั้นแล้วโครงการนี้เป็นสิ่งที่ตั้งอยากจะปรับโครงสร้างพื้นฐาน และถือเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของระบบสาธารณสุขไทยทั้งประเทศอีกด้วย