ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'ประธานชมรม อสม. แห่งประเทศไทย’ ตอบชัดขั้นตอน ‘รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์’ หลังมีญาติ อสม. กว่า 30 คน ยังไม่ได้ เหตุ บางส่วนส่งข้อมูลไม่ครบถ้วน เผย หากสามารถหักเงิน อสม. สมาชิกได้ครบเล็งเดินหน้าปรับเป็นสวัสดิการอื่นต่อ


นายจำรัส คำรอด ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ปัจจุบันมีญาติของ อสม. ที่เสียชีวิต ประมาณ 30 – 40 คน ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ (เงินฌาปนกิจสงเคราะห์กว่า 5 แสนบาท) จากสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม. แห่งประเทศไทย ที่ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว เนื่องจากติดขัดเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ผู้รับผลประโยชน์อยู่ในเรือนจำตลอดชีวิต การฟ้องร้องระหว่างผู้รับผลประโยชน์ด้วยกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งข้อมูลไม่ครบถ้วน

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้รับผลประโยชน์จะต้องทำเมื่อคนในครอบครัวที่เป็น อสม. และเป็นสมาชิกของสมาคมฯ เสียชีวิต คือ 1. นำส่งข้อมูลของ อสม. ผู้เสียชีวิต (บัตรประชาชน บัตรสมาร์ทการ์ดประจำตัว อสม. ใบมรณะบัตร และทะเบียนบ้าน) มาที่สมาคมฯ ผ่านทางเจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้าน อสม. ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือประธาน อสม. จังหวัด และ 2. นำส่งข้อมูลของผู้รับผลประโยชน์ (บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เลขบัญชีที่จะให้โอนเงินให้) มาที่สมาคมฯ ผ่านทางเจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้าน อสม. ใน รพ.สต. หรือประธาน อสม. จังหวัด 
    
“กรณีที่ผู้รับผลประโยชน์มีหลายคน หากใครข้อมูลครบก่อนเราก็จะจ่ายให้คนนั้นก่อน แต่ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังก็จะได้เท่าๆ กันภายใต้เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ก้อนนั้น ที่จะแบ่งเป็นส่วนๆ ให้เท่ากัน เช่น มี 2 คน เราก็แบ่งคนละ 50% มี 4 คนเราก็แบ่งคนละ 25%” นายจำรัส ระบุ
    
นายจำรัส กล่าวต่อไปว่า สำหรับสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม. แห่งประเทศไทยนั้น ก่อตั้งมาตั้งแต่ ธ.ค. ปี 2563 ภายใต้ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่าด้วยการฌาปนกิจสงเคราะห์ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรวิชาชีพซึ่งเป็นนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ พ.ศ. 2547 เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งจากค่าป่วยการของ อสม. ที่สมัครเป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจ  มาเป็นสวัสดิการให้กับญาติของ อสม. ในกรณีที่ อสม. เสียชีวิต สำหรับใช้จัดงานฌาปนกิจศพ และใช้จ่ายอื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม สมาคมจะไม่ใช่ผู้ถือเงินสดที่จะได้จาก อสม. แต่ในทุกๆ เดือน คณะกรรมการสมาคมฯ จะมีการประชุมกันเพื่อสรุปข้อมูลสมาชิกและการเสียชีวิตของ อสม. จากนั้นจะส่งข้อมูลไปให้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ซึ่งเมื่อถึงวันที่ 15 ของทุกเดือนที่กรมบัญชีกลางโอนเงินค่าป่วยการมา ทาง ธกส. จะหักเงินจาก อสม. ที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ ทั้งหมดจำนวนคนละ 40 สตางค์ ต่อจำนวน อสม. เสียชีวิต 1 คน และจะโอนให้ญาติที่เป็นผู้รับผลประโยชน์ในวันที่ 23 ของเดือนนั้นๆ ครั้งเดียวเต็มจำนวน

ประธานชมรม อสม. แห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ตอนนี้เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วที่ดำเนินการกันมา โดยมี อสม. ที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ กว่า 1,330,600 คน อีกทั้งยังมีกลุ่มคู่สมรสคนทั่วไปกว่า 3 แสนคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ใน รพ.สต. หรือโรงพยาบาล ที่ดูแลด้านงาน อสม. อีกประมาณ 1 หมื่นคนทั่วประเทศ ที่มาขอเข้าร่วมด้วย ทำให้ตอนนี้ในแต่ละเดือนหากมีสมาชิกเสียชีวิตญาติผู้ได้รับผลประโยชน์จะได้รับเงินประมาณ 5.4 แสนบาท (จำนวนเงินจะเพิ่มขึ้นและลดลงตามจำนวน อสม. ที่เสียชีวิตในแต่ละเดือน ซึ่งโดยปกติจะมี อสม. เสียชีวิตประมาณ 800 – 900 คนต่อเดือน)

ทว่า ในปัจจุบันจะมีการโอนเงินให้กับญาติ อสม. ซึ่งเป็นผู้รับผลประโยชน์ที่ประมาณ 5.1 แสนบาทก่อน เพราะตอนนี้มีปัญหาเรื่องการหักเงิน อสม. ที่เป็นสมาชิกไม่ได้ประมาณ 1.4 – 1.6 หมื่นคน และคู่สมรสอีก 6 หมื่นคน ส่วนเจ้าหน้าที่ 10 – 20 คน เนื่องจากบางส่วนคือสมาชิกเสียชีวิต ลาออก ซึ่งก็ไปหักกลุ่มนี้ไม่ได้ รวมถึงกรณีปิดหรือบัญชีถูกระงับ และอื่นๆ แต่ภายในไม่เกิน 100 วันเมื่อเคลียร์ได้แล้วก็จะโอนให้อีก 3 หมื่นกว่าบาทให้ครบ 100%

“เวลา อสม. เสียชีวิตคณะกรรมการ อสม. ประธาน อสม. จังหวัด หรือ อำเภอก็จะไปร่วมไว้อาลัยกับ อสม. แต่ละตำบล หรือหมู่บ้านที่เสียชีวิต พร้อมกับป้ายที่แสดงยอดเงินจำนวน 5 แสนกว่าบาทด้วย” นายจำรัส กล่าว 

ประธานชมรม อสม. แห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันทางสมาคมฯ ยังคงเน้นไปที่เงินฌาปนกิจสงเคราะห์เป็นหลัก ส่วนเงินเพื่อเป็นสวัสดิการในเรื่องอื่นๆ ยังไม่มีการดำเนินการ เพราะตอนนี้ก็พยายามหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรหักเงินสมาชิกของให้ครบ 100% ก่อนแล้วถึงขยับไปทำสวัสดิการในเรื่องอื่นๆ