ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานชมรม อสม.ภาคอีสาน เผย 21 ธ.ค. นี้ ยุติใช้แอปพลิเคชัน ‘อสม.ออนไลน์’ เปลี่ยนมาเป็นแอปฯ ‘Smart อสม.’ ที่ สธ. พัฒนาพร้อมกันทั่วประเทศ 


จากประเด็นที่มีการแจ้งกันในกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ว่าจะมีการยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน อสม./อสส. ออนไลน์ ในวันที่ 21 ธ.ค. 2566 นี้ อีกทั้งระบุด้วยว่า หาก อสม. ที่ต้องการบันทึกข้อมูลการใช้งานผ่านแอปฯ อสม./อสส. ในช่วงที่ผ่านมา ขอให้บันทึกข้อมูลให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ยุติให้บริการ 

“The Coverage” สอบถามประเด็นดังกล่าวไปยัง น.ส.วิลัยวัลย์ ธงสันเทียะ ประธานชมรม อสม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประธานชมรม อสม.จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับการยืนยันว่า แอปฯ อสม.ออนไลน์ จะยุติการให้บริการในวันที่ 21 ธ.ค. 2566 แต่จะไม่มีปัญหาในการดำเนินงานของ อสม. เพราะที่ผ่านมา อสม. ทั่วประเทศก็ใช้แอปฯ ใหม่ในการทำงานคือแอปฯ ‘Smart อสม.’

ทั้งนี้ แต่เดิมแอปฯ อสม. ออนไลน์ เป็นของภาคเอกชนคือเอไอเอส (ais) ที่เข้ามาร่วมสนับสนุน อสม. กับภาครัฐให้ใช้เทคโนโลยีเสริมการทำงาน ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้มีการบันทึกข้อมูลการทำงานของ อสม. ส่งกลับไปยังส่วนกลางเพื่อตรวจสอบ พร้อมกับเป็นการรายงานการทำงานเพื่อรับค่าป่วยการไปด้วย 

น.ส.วิลัยวัลย์ กล่าวต่อไปว่า โดยระหว่างที่ อสม. ได้ใช้งานแอปฯ ของ ais ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2563 และนำร่องที่ จ.นครราชสีมา ก่อนจะขยายการใช้งานไปทั่วประเทศนั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกลุ่มงานไอที ก็ได้พัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมา ชื่อว่า Smart อสม. จนสำเร็จ และใช้คู่ขนานกันไปกับแอปฯ เดิมมาเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปีแล้ว ฉะนั้น อสม. ทั่วประเทศจึงเรียนรู้และเข้าใจกับระบบการทำงานในแอปฯ ใหม่ได้อย่างดี ทาง ais จึงยุติการให้บริการในแอปฯ เดิม

น.ส.วิลัยวัลย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนการใช้งานของแอปฯ Samrt อสม. จะเป็นการรายงานการทำงานสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่เข้าสู่ระบบ เพื่อบันทึกในการใช้เป็นหลักฐานรับค่าป่วยการประจำเดือน 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การใช้เทคโนโลยี รวมถึงการใช้อินเทอร์เน็ตของ อสม. ในการทำงาน มีปัญหา อุปสรรค หรือไม่ น.ส.วิลัยวัลย์ กล่าวว่า พี่น้อง อสม. ในบางพื้นที่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล ซึ่ง อสม. อาจมีปัญหาในการเชื่อมต่อสัญญาณเพื่อรายงานข้อมูล 

"พื้นที่ห่างไกล ส่วนใหญ่สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่แรง การส่งรายงานของ อสม. ก็มีปัญหา ซึ่งหากมีการสนับสนุนก็จะทำให้การทำงานมีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น" ประธานชมรม อสม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนในเรื่องเทคโนโลยีการทำงานของ อสม. ในด้านใดเพิ่มเติมหรือไม่ น.ส.วิลัยวัลย์ ระบุว่า อยากให้มีการยกระดับและปรับปรุงระบบของแอปฯ เพื่อให้มีความเสถียรในการรับข้อมูลบันทึกการทำงานของ อสม. เพราะที่ผ่านมาระบบจะล่มอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงสิ้นเดือนซึ่งมีการส่งข้อมูลจากพี่น้อง อสม. ทั่วประเทศจำนวนมาก และมักจะมีเหตุระบบล่ม จนทำให้ อสม. ส่งบันทึกรายงานเข้าระบบไม่ได้ 

“พี่น้อง อสม. ทั่วประเทศ มีการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มความรู้ และเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพื่อการทำงานมาโดยตลอด ซึ่งในอนาคตหากมีเทคโนโลยี หรือระบบใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยการทำงานสุขภาพปฐมภูมิ อสม. ก็พร้อมที่จะยกระดับเรียนรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสุขภาพปฐมภูมิ” ประธานชมรม อสม.ภาคตะวันออก กล่าวตอนท้าย