ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคม อบจ.ฯ พร้อมรับ หาก อสม. อยากมาอยู่ด้วย แต่ต้องแก้ระเบียบเบิกจ่าย ด้าน ประธาน อสม.ภาคอีสาน ชี้ เป็นไปได้ยาก เพราะติดปัญหาเงินค่าป่วยการ พร้อมเผยที่ผ่านมา อบจ. สนับสนุน อสม. อยู่แล้ว แถมท้องถิ่นมีงบให้ขับเคลื่อน เชื่อยังทำงานได้ดีเหมือนเดิม แม้ รพ.สต. ถ่ายโอนไป อบจ.


จากกรณีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หลายแห่ง เสนอให้มีการออกระเบียบให้ชัดว่าให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) มาอยู่สังกัด อบจ. เพื่อให้การทำงานร่วมกันกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนในการเป็นด่านหน้าด้านดูแลสุขภาพปฐมภูมิให้กับประชาชนในพื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น

ล่าสุด นายชูพงศ์ คำจวง นายก อบจ.สกลนคร และอุปนายกสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย ปฎิบัติหน้าที่แทนนายกสมาคม อบจ.ฯ เปิดเผยกับ "The Coverage" ว่า หาก อสม. ต้องการ อบจ. ก็ยินดีพร้อมรับ แต่จะต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบที่ครอบคลุม และเอื้อให้ อบจ. ได้ขับเคลื่อนทำงานร่วมกับ อสม. ด้วย โดยเฉพาะกฎระเบียบการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้ อบจ. สนับสนุน อสม. ได้อย่างถูกต้อง เพราะขณะนี้ การสนับสนุนทำได้ยาก เนื่องจากความกังวลว่าจะผิดระเบียบ 

"อบจ. อยากช่วย อสม. มาก แต่ก็กลัวปัญหาตามมา โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ เพราะ อสม. ไม่ได้อยู่ในส่วนภารกิจการทำงานของ อบจ. เราจะเบิกจ่ายงบประมาณของ อบจ. ไม่ได้" นายชูพงศ์ กล่าว 

นายชูพงศ์ กล่าวอีกว่า หรือในอีกด้าน อสม. อาจไม่ต้องมาอยู่กับ อบจ. ก็ได้ หากว่ามีการแก้ไขกฎหมายให้ อบจ. เข้าไปจัดสรรงบประมาณของ อบจ. สำหรับกิจกรรมต่างๆ ในการสนับสนุน อสม. ได้ เพราะตอนนี้ นายก อบจ. หลายแห่ง ก็ต้องใช้เงินส่วนตัวเข้าไปสนับสนุนให้เกิดการทำงาน 

ด้าน น.ส.วิลัยวัลย์ ธงสันเทียะ ประธานชมรม อสม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ชมรม อสม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และประธานชมรม อสม.จังหวัดนคราชสีมา เปิดเผยกับ "The Coverage" ถึงประเด็นนี้ว่า  อาจทำได้ยาก เพราะจะติดขัดปัญหาเรื่องเงินค่าป่วยการให้กับ อสม. 

เนื่องจาก ปัจจุบัน อสม. ได้รับค่าป่วยการ ซึ่งเป็นค่าตอบแทนการทำงานให้กับ อสม. ทุกคน โดยจะเป็นเงินที่สำนักงบประมาณจัดสรรให้กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เพื่อจ่ายเป็นค่าป่วยการตามบัญชีรายชื่อให้กับ อสม. ทั่วประเทศ ซึ่งหากให้ อสม. ไปสังกัด อบจ. ก็จะทำให้งบประมาณที่เป็นค่าป่วยการ เกิดความยุ่งยากในการจ่ายเงิน และอาจไม่เหมาะสมที่จะให้ อบจ. ถืองบประมาณก้อนนี้ 

"ค่าป่วยการให้กับ อสม. ทั่วประเทศ เป็นเงินก้อนใหญ่ หากเอาไว้กับ อบจ. ก็อาจถูกมองว่า อบจ. ถือเงินก้อนใหญ่จำนวนมากเพื่อจ่ายให้กับ อสม. ก็อาจมีคำถามจากสังคม" น.ส.วิลัยวัลย์ กล่าว 

น.ส.วิลัยวัลย์ กล่าวอีกว่า อสม. ยังมองไม่เห็นว่าจะเกิดความแตกต่างในการทำงานอย่างไรหากมีการโอนไปสังกัด อบจ. เพราะขณะนี้ อสม. เองก็ทำหน้าที่ตามปกติเหมือนเดิมในพื้นที่อยู่แล้ว และที่ผ่านมา อบจ. รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็สนับสนุนในการยกระดับศักยภาพ อสม. ในการดูแลประชาชนมาโดยตลอด 

"อย่างเช่นที่ อบจ.ขอนแก่น ที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. มาทั้งหมด อบจ. ก็ยังสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของ อสม. เหมือนเดิม หรือที่ อบจ.นครราชสีมา ที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. มาแล้ว 60% ก็สนับสนุนยกระดับ อสม. ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ รพ.สต. ถ่ายโอน หรือไม่ถ่ายโอนมายัง อบจ. ก็ตาม" ประธานชมรม อสม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุ

น.ส.วิลัยวัลย์ กล่าวว่า การถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ. เป็นเรื่องขั้นตอนทางราชการ ที่มีการเปลี่ยนสังกัดของ รพ.สต. แต่ อสม. ในฐานะจิตอาสา หรือภาคประชาชนที่มาร่วมขับเคลื่อน ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย แต่ก็ยังคงทำงานบนจุดหมายเดียวกัน คือ เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแล และส่งเสริมสุขภาพได้อย่างดีที่สุด 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน อสม. ยังคงทำงานดูแลสุขภาพ และส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชนตามระบบและมาตรฐานที่กำหนดไว้เช่นเดิม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากได้รับการยกระดับให้ใช้ระบบเทคโนโลยีประสานการทำงานกับทั้ง รพ.สต. รวมถึงท้องถิ่น ให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเฝ้าระวังโรคระบาดที่ทำได้รวดเร็วมากขึ้น 

"ท้องถิ่นก็สนับสนุนงบประมาณให้กับเรา รวมถึงงบประมาณกองทุน กปท. (กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น) ที่เข้ามาเป็นกำลังเสริมในการทำงาน ทำให้ อสม. สามารถออกไปขับเคลื่อนงานได้ รวมถึงสามารถของบประมาณจากท้องถิ่น ที่จัดสรรไว้ให้เพื่อยกระดับการทำงานให้พวกเราเอง ท้องถิ่นก็สนับสนุนด้วยดีมาตลอด" น.ส.วิลัยวัลย์ กล่าวตอนท้าย