ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ด้วยแรงจิตแรงใจและแรงกายของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เพียง 6 ชีวิต มีคุณูปการช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ให้กับผู้คนได้จำนวนหลายร้อย

เรื่องที่ ‘The Coverage’ เต็มใจเล่าให้คุณฟัง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบนพื้นที่เขาสูงใน อ.ปัว จ.น่าน ภายใต้ร่มการบริหารจัดการของ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว (รพร.ปัว)

พื้นที่แห่งนี้ อสม. ได้เข้ามาช่วยเป็นกำลังสำคัญ ทำหน้าที่เป็น ‘Health Rider’ ช่วยจัดส่งยาถึงบ้านให้ผู้ป่วย ในรัศมี 7 กิโลเมตรจากโรงพยาบาล

เมื่อเดือนที่แล้ว (มกราคม 2567) เพียงเดือนเดียว กำลังคนแค่ 6 คน ช่วยส่งยาไปแล้วถึง 616 เคส

นั่นหมายถึง ความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา ไม่ต้องรอคอย

นั่นหมายถึง คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน 616 คน

"ที่ผ่านมาผู้ป่วยนอกที่มารับบริการคลินิกเฉพาะทาง บางคนมาตั้งแต่ 6-7 โมงเช้า ที่เฉลี่ยแล้วมีถึงวันละ 400-500 คน เมื่อตรวจเสร็จแล้วก็ต้องรอรับยา ทำให้กว่าจะกลับถึงบ้านบางคนอาจต้องรอถึงเย็น"

เรา ได้พูดคุยกับ นพ.กิติศักดิ์ เกษตรสินสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว ซึ่งทำให้ทราบว่า นอกจากประโยชน์ทางตรงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยแล้ว หน่วยบริการก็ยังได้รับประโยชน์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการกระจุกตัวของหน่วยบริการ รวมทั้งการลดภาระเภสัชกรที่ห้องยา

“เมื่อผู้ป่วยเยอะก็ทำให้ภาระห้องยามากขึ้น เภสัชกรเร่งรีบ แต่เมื่อเอาบริการจัดส่งยาถึงบ้านเข้ามา ก็เห็นได้ชัดว่า เภสัชกรสามารถจัดตารางการทำงานได้ดีมากขึ้น และที่สำคัญไม่ต้องเร่งรีบจัดยา”

และที่ควบคู่กันก็คือ รายได้ยังเกิดกับ อสม. ที่เข้าร่วมเป็นไรเดอร์ ด้วย

สำหรับ รูปแบบการบริการจัดส่งยาถึงบ้าน ‘นพ.กิติศักดิ์’ เล่าว่า รพร.ปัว ได้พัฒนาแอปพลิเคชันร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งเป็นแอปฯ ที่ใช้ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ รพร.ปัว และผู้ป่วย ที่ใช้ติดตามการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วย และบันทึกการจัดส่งงานของไรเดอร์เพื่อบริหารจัดการ โดยจะให้บริการส่งยาถึงบ้านในระยะไม่เกิน 7 กิโลเมตร

ฉะนั้น เมื่อมาพบแพทย์เสร็จแล้ว จะไม่ต้องรอรับคอยรับยา สามารถกลับบ้านได้เลย โดยไรเดอร์ที่เป็น อสม. จะจัดส่งยาให้ถึงที่บ้านในช่วงเย็นของวันเดียวกัน

เมื่อยาถูกจัดส่งไปถึงบ้านของผู้ป่วยแล้ว อสม. ซึ่งเป็นไรเดอร์จัดส่งยา ก็จะบันทึกการทำงานผ่านแอปฯ จากนั้นเภสัชกรจะได้ใช้ระบบบริการเภสัชกรรมทางไกล หรือ Telepharmacy (เทเลฟาร์มาซี) ติดต่อกับผู้ป่วยเพื่อยืนยันการรับยา และแนะนำวิธีการรับประทานยา

นพ.กิติศักดิ์ เล่าอีกว่า จากรูปแบบบริการจัดส่งยาถึงบ้านที่ให้บริการเมื่อเดือน ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ในระยะแรกมีผู้ป่วยนอกใช้บริการไม่กี่สิบคน แต่เมื่อผ่านไปสักระยะ ประชาชนอาจเห็นว่ามีผู้ป่วยในชุมชนที่ใช้บริการ และเห็น อสม. ที่คุ้นเคยในชุมชนเป็นไรเดอร์จัดส่งยาให้ ก็ทำให้มีประชาชนเริ่มสนใจและลงทะเบียนร่วมใช้บริการจัดส่งยาถึงบ้านเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

"เมื่อเดือน ม.ค.2567 จาก อสม.ไรเดอร์ของเราที่มีอยู่ 6 คน แต่ให้บริการจัดส่งยาไปมากถึง 616 เคส ทำให้ อสม.มีรายได้เพิ่มเติมจำนวนมาก และยังทำให้ลดภาระงานในห้องยาของ รพร.ปัว ไปได้อย่างมาก" ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว กล่าว

นพ.กิติศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับค่าบริการจัดส่งยาถึงบ้าน หากเป็นผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) ก็จะไม่เสียค่าบริการแต่อย่างใด แต่สำหรับผู้ป่วยในกองทุนสุขภาพอื่นๆ หากจะใช้บริการนี้ก็ต้องจ่ายค่าบริการ ครั้งละ 50 บาท ซึ่งเป็นเรตราคาที่เบิกจ่ายกับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง

แต่สำหรับ อสม.ไรเดอร์ ที่จัดส่งยาให้กับผู้ป่วย จะได้รับเบิกจ่ายค่าบริการครั้งละ 30 บาทจากบริษัทเอกชนที่เอาไปบริหารจัดการ ซึ่งหากแต่ละวันมีหลายสิบเคสที่ต้องส่งยาถึงบ้าน ก็จะเพิ่มรายได้ให้กับ อสม. มากยิ่งขึ้น ส่วน รพร.ปัว ก็ถือว่าไม่ได้มีรายได้เพิ่มเติมแต่อย่างใดกับบริการนี้ แต่เข้ามาจัดการเพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล

ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว กล่าวอีกว่า ด้วยจำนวนประชากรใน อ.ปัว และที่โรงพยาบาลรับผิดชอบอยู่มีสูงถึง 4.8 หมื่นคน และยังอีกหลายชุมชนที่อยู่ห่างไกลออกไปเกินกว่ารัศมีบริการจัดส่งยาถึงบ้าน 7 กม. จึงมีแนวคิดที่จะขยายการบริการนี้ โดยให้ เจ้านหน้าที่ของ รพร.ปัว รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องกลับบ้านในช่วงเย็น ได้ทำหน้าที่เป็นไรเดอร์ส่งยา โดยเฉพาะกับพื้นที่ห่างไกลโรงพยาบาล เพื่อขยายการเข้าถึงบริการให้กับผู้ป่วยมากขึ้นด้วย

นพ.กิติศักดิ์ กล่าวอีกว่า การบริการจัดส่งยาถึงบ้านให้กับผู้ป่วยโดยไรเดอร์ที่เป็น อสม. มองว่าเป็นนวัตกรรมการบริการที่ช่วยลดความแออัดได้ และยังได้ประโยชน์กว่าการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ ในแง่ที่เภสัชกรได้สื่อสารกับผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งทำให้แน่ใจได้ว่ายาถึงผู้ป่วย

นอกจากนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ที่เห็นการบริการ ก็มีแนวทางที่อยากให้โรงพยาบาลในทุกๆ อำเภอได้นำรูปแบบบริการจัดส่งยาแบบนี้ไปปรับใช้ และยังเป็นบริการที่จะหนุนเสริมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น