ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย สร้างอโรคยาสถาน (Health Station @ Temple) เพื่อพระสงฆ์มีสุขภาพที่ดี ตามแนวทางเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) เชื่อมโยงระหว่างวัดและชุมชน มุ่งให้เกิด “พระสงฆ์แข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข”


เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย สธ. ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ตามกรอบแนวทางธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ร่วมกับภาคีเครือข่ายและชุมชนทั่วประเทศ ผ่านโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยบูรณาการการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมร่วมกับศิลปวัฒนธรรมในความเป็นวัด โดยใช้หลัก 5 ร. คือ ร่มรื่น ร่มเย็นร่วมสร้าง ร่วมจิต (วิญญาณ) และร่วมพัฒนา

รวมถึงสนับสนุนให้พระสงฆ์ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ได้รับการดูแลส่งเสริมสุขภาพตามหลักพระธรรมวินัย สามารถขยายผลสู่การพัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การดูแลสุขภาวะของประชาชนในชุมชน โดยการสร้างและพัฒนา พระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (พระ อสว.) ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองและให้คำแนะนำดูแลสุขภาพพระสงฆ์ภายในวัด และชุมชน เตรียมการรองรับระบบการดูแลพระสงฆ์และการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ซึ่งปัจจุบัน มีวัดส่งเสริมสุขภาพผ่านเกณฑ์ จำนวน 18,219 แห่ง และพระคิลานุปัฏฐาก จำนวน 13,279 รูป

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา

นพ.เอกชัย กล่าวต่อไปว่า ในปีอันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567 กรมอนามัย สธ. ได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ และสามเณร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จอยู่หัว โดยพัฒนารูปแบบบริการ “Health station @ temple หรือ อโรคยาสถาน” คือ วัดส่งเสริมสุขภาพที่มีจุดบริการสร้างเสริมสุขภาพที่ตั้งอยู่ในวัด โดยพระสงฆ์ หรือประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองอย่างมีส่วนร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขผ่านระบบ Digital Platform ผู้มารับบริการสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพเบื้องต้น ได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพ ได้รับความรู้สุขภาพและการดูแลตนเอง และเป็นช่องทางในการสื่อสารความเสี่ยงสุขภาพ ซึ่งให้บริการโดยพระคิลานุปัฏฐาก

ทั้งนี้ มีขั้นตอน ประกอบด้วย 1. การคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ดัชนีมวลกาย รอบเอวและอื่นๆ 2. ประเมินสถานะสุขภาพ บันทึกข้อมูล ลงทะเบียนผ่าน Digital Health Platform 3. ติดตามกลุ่มเสี่ยง ได้รับคำแนะนำการจัดการความเสี่ยง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตามแนวทางเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) และ 4.  กลุ่มป่วย ได้รับการส่งต่อรักษา และติดตามสถานะสุขภาพของตนเอง ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

นพ.เอกชัย กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิต และพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนและพระสงฆ์ ทำให้เสี่ยงเจ็บป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดสมองดังนั้น กรมอนามัย สธ. จึงได้นำแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพด้วยเวชศาสตร์วิถีชีวิต เพื่อเป็นแนวทางการจัดการสุขภาพพระสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี 6 แนวทาง ได้แก่ 1. โภชนาการ (Nutrition)เน้นฉันอาหารครบ 5 หมู่ ลด หวาน มัน เค็ม ฉันน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว 2. กิจกรรมทางกาย (Physical Activity) โดยมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์

3. การนอนหลับ (Sleep) โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง 4. การควบคุมความเครียด และจัดการด้านอารมณ์ (Stress Management)  โดยทำอารมณ์และจิตใจให้เป็นสุข ไม่เครียด 5.หลีกเลี่ยงสารเสพติด สารหรือวัตถุที่เป็นอันตรายหรือให้โทษต่อสุขภาพ (Avoid Substance) โดยไม่สูบบุหรี่ ยาเส้น ลดหรือหลีกเลี่ยงการฉันเครื่องดื่มชูกำลัง ขา กาแฟ น้ำอัดลม และ 6. การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Relationship) พระสงฆ์เป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม โดยเทศนาธรรมและสื่อสารให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม และให้กำลังใจผู้สูงอายุในชุมชน