ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เห็นได้ชัดเจนจากเวที 'ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกและรูปแบบการจัดบริการปฐมภูมิในหน่วยบริการที่ถ่ายโอนภารกิจไปองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)' ซึ่งจัดขึ้น ณ สมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ถึงทิศทางของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มุ่งหวัง สร้างความร่วมมือกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระดับ อบจ. ที่ได้รับถ่ายโอนหน่วยบริการปฐมภูมิ คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปดูแล และจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิให้กับประชาชนในพื้นที่

เพราะนโยบายหลักของกรมอนามัย ซึ่งนำโดย พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมฯ ที่ได้แลกเปลี่ยนกับทีมบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.สต. ถ่ายโอนฯ รวมถึงผู้นำ อบจ. อีกหลายสิบจังหวัด มุ่งไปที่การส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมโดยมีมาตรฐาน

โอกาสดีที่ "The Coverage" เข้าไปร่วมวงประชุมดังกล่าว จึงทำให้เห็นรายละเอียดของแผนดำเนินงานของกรมอนามัยในปี 2567

พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ฉายภาพนโยบายปี 2567 โดยมีกรอบของเข็มทิศการทำงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมกันอยู่ 4 ด้าน ประกอบด้วย

1. ส่งเสริมภาคีเครือข่ายให้เข้มแข็ง : Partnership โดยจะเป็นการยกระดับการทำงานกับเขตสุขภาพ ให้บรรลุเป้าหมายเพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายที่สามารถเฝ้าระวัง (Surveillance) และสามารถประเมิน (Assessment) เพื่อเป็นการชี้เป้าการเฝ้าระวังสุขภาพในพื้นที่

2. ยกระดับการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมสู่สากล : PP Excellence เกิดเป็นการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม (HPC Transformation) อย่างครอบคลุม โดยวางเป้าหมายลดมารดาเสียชีวิต ส่งเสริมการเกิดสร้างพัฒนาการที่สมวัยให้กับเด็กเล็ก รวมถึงมีอนามัยโรงเรียนที่ได้มาตรฐาน ขณะที่วัยทำงานต้องรอบรู้ด้านสุขภาพ เกิดชุมชนเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ

3. สร้างสังคมรอบรู้ สู่สุขภาพดีทุกช่วงวัย : Health Literacy โดยสนับสนุน ส่งเสริมและร่วมมือให้สังคมไทยมีความรู้ พร้อมกับสื่อสารสุขภาพอย่างถูกต้องและใช้ประโยชน์ได้จริง ขณะเดียวกันจะมีการพัฒนาเครือข่าย องค์กร ชุมชน ให้เป็นองค์กรที่มีความรู้ด้านสุขภาพ เพื่อสื่อสารต่อได้ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน

4. อนามัยสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐานปลอดภัย เอื้อต่อการมีสุขภาพ : Environment Health เป้าหมายเกิดเป็นศูนย์สุขภาพในชุมชน หรือ Wellness Community ที่ช่วยให้คนในชุมชนกินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีจากสภาพแวดล้อมอยู่อาศัยที่ดี รวมไปถึงยกระดับเมืองท่องเที่ยวปลอดภัย และยกระดับสถานประกอบการในเรื่องสุขภาภิบาล อาหาร และน้ำ

1

บนกรอบทิศทางทั้ง 4 ด้าน พญ.อัจฉรา บอกว่า จะไปสอดรับกับ 13 นโยบายหลักของ สธ. ที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างสุขภาวะที่ดีอย่างทุกมิติให้กับคนไทย และจะทำให้เกิดเป็นการยกระดับด้านสุขภาพของคนไทยในภาพรวมทั้งประเทศ

"อย่างเช่น การส่งเสริมการมีบุตร เรื่องเศรษฐกิจสุขภาพ เรื่องนักท่องเที่ยวปลอดภัย หรือการแพทย์ และการสาธารณสุขปฐมภูมิ เป็นต้น กรมอนามัยที่แม้จะเป็นแกนของการขับเคลื่อนนโยบาย แต่ในทางปฏิบัติ ก็ต้องอาศัยเครือข่าย โดยเฉพาะกับเครือข่ายปฐมภูมิ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันยกระดับสุขภาพทั้งหมด" วรรคตอนหนึ่งที่พญ.อัจฉรา กล่าวกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต.

พญ.อัจฉรา บอกถึงภาพรวมการดำเนินงานของปี 2567 จะมุ่งมาที่สร้างสังคมรอบรู้สุขภาพดีทุกช่วงวัย ตั้งแต่การเกิดไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ตั้งแต่ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย เด็กมีพัฒนาการสมวัย นำไปสู่เด็กเก่ง ดี มีทักษะ และสุุขภาพร่างกายแข็งแรง

ต่อมาด้วยการที่มีสุขภาพดีก็จะนำไปสู่การเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ ขณะที่เมื่อเข้าสู่ช่วงสังคมสูงวัยก็สามารถดูแลตนเองได้ ลดภาวะพึ่งพิง

แต่การจะทำได้ตามภาพรวมที่มุ่งหวัง ในส่วนการบริการปฐมภูมิ พญ.อัจฉรา ยกว่าคือหัวใจของเป้าหมายความสำเร็จที่จะทำให้จับต้องได้ โดยเฉพาะการร่วมกันสร้างระบบนิเวศเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในแต่ละชุมชนอย่างองค์รวม และนำไปสู่การมี Healthy Cities ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ

พญ.อัจฉรา บอกด้วยว่า Healthy Cities จะครอบคลุมมิติด้านการสาธารณสุขปฐมภูมิ ซึ่งการขับเคลื่อนจะมีนโยบาย 3 ด้านของกรมอนามัยเป็นกรอบทิศทาง คือ 1. โครงสร้างการดูแลสุขภาพ ที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย/ปลอดสาร คนอายุยืน มีกิจกรรมทางสุขภาพ และมีการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งจะทำให้ภาพรวมคือการทำให้ประชาชนสุขภาพดี และทำให้ลดภาระงานของระบบบริการ

2. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหา และมาตรการจัดการฝุ่น PM2.5 และสร้างสังคมสีเขียวที่ปลอดภัย เป็นมิตรกับการอยู่อาศัยและสุขภาพของคนในชุมชน และ 3. การออกแบบเมือง ที่มุ่งเน้นให้เกิดถนนปลอดภัยของทุกคน และทุกกิจกรรม รวมถึงมีพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ

พญ.อัจฉรา เสริมด้วยว่า กรมอนามัย จะขับเคลื่อนและสนับสนุนงานส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมในระดับปฐมภูมิ โดยเฉพาะกับ รพ.สต. รวมถีงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ใกล้ชิดกับชุมชน ทั้งการชี้ให้เห็นถึงกลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่ รวมถึงร่วมเฝ้าระวังสภาวะสุขภาพ แนะนำฝึกอบรมเพื่อพัฒนาและยกระดับทักษะ ศักยภาพของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้บริการส่งเสริมสุขภาพ และบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐาน

"บริการสุขภาพปฐมภูมิ หากมีการจัดบริการที่ดีและได้มาตรฐาน รวมถึงมีความร่วมมือกัน จะเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศ เพราะจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น" อธิบดีกรมอนามัย กล่าวตอนท้าย