เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้หารือเนื้อหาในรายงานความก้าวหน้าหลักประกันสุขภาพ หรือรายงาน EB154/6 ซึ่งชี้ว่าการทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วโลกกำลังเจอความท้าทายจากหลายปัจจัย
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เงินทุนสำหรับโครงการหรือนโยบายสุขภาพลดลงถูกย้ายไปแก้ปัญหาเร่งด่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการสู้รบและการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีคนจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพและยากจนลงเพราะค่ารักษาพยาบาล
"การลงทุนด้านสุขภาพกำลังลดลงอย่างต่อเนื่องตอนนี้ รัฐบาลหลายประเทศกำลังโยกย้ายเงินไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ” ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยกล่าว
“การลงทุนด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องเท่านั้นที่จะสามารถช่วยเราป้องกันโรคระบาดในครั้งต่อไป การลงทุนทั้งในด้านสุขภาพและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อเนื่องจะช่วยให้เราตอบสนองต่อวิกฤตสุขภาพได้”
รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปี 2562 มีประชากรจำนวน 1,300 ล้านคน ตกตกอยู่บนเส้นความยากจนเพราะเสียค่าใช้จ่ายสุขภาพ อีก 344 ล้านคน ประสบภาวะยากจนสูงสุด ซึ่งวัดจากรายได้ต่อวันที่ 2.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือประมาณ 7 บาทต่อวัน
รายงานยังเน้นย้ำว่า หากต้องการผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จ จำเป็นต้องมีการเพิ่มเงินลงทุนด้านสุขภาพอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ทั้งยังต้องเสริมความเข้มแข็งให้บุคลากรทางการแพทย์ และขยายการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ
ภาระหนี้สินกีดกันการลงทุนด้านสุขภาพ
รายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า ประเทศกำลังพัฒนามีภาระหนี้สินทางสุขภาพเพิ่มขึ้นหลังปีงบประมาณ 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วงฟื้นฟูวิกฤตโควิด-19
ปัญหาหนี้สินได้รับการยืนยันจากผู้นำประเทศรวันดาในระหว่างการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกเมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งพูดในนามเป็นตัวแทนของ 47 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกา
ระบุว่า มีประเทศมากมายที่ถูกบังคับให้ใช้งบประมาณในการชำระหนี้ มากกว่าการลงทุนด้านสุขภาพและการศึกษา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานว่าอัตราส่วนหนี้เฉลี่ยในแอฟริกาใต้ได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จาก 30% ของ GDP ในปี 2556 เป็น 60% ในปี 2565
ทางด้านตัวแทนจากประเทศเยเมนให้ข้อมูลว่า 70% ของค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพในประเทศมาจากกระเป๋าของประชาชน ทำให้หลายครัวเรือนเผชิญกับความยากลำบากทางการเงิน
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่เกิดขึ้นหากไร้สันติภาพ
ตัวแทนจากปาเลสไตน์อธิบายในระหว่างการประชุมว่า พื้นที่ของตนกำลังเผชิญกับการโจมตีที่รุนแรงจากอิสราเอล จนระบบสาธารณสุขสาธารณะไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ และไม่สามารถจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิในสภาวะที่มีทรัพยากรจำกัด การทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการฟื้นฟูความเสียหายจากสงครามก่อน
ทางด้านเยเมน ซึ่งมีปัญหาการสู้รบมานานหลายปี ทำให้เกิดผู้ลี้ภัยทั้งในประเทศและข้ามพรมแดนมากกว่า 3 ล้านคน จึงเกิดภาระในระบบสุขภาพและไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสร้างหลักประกันสุขภาพได้เร็วๆ นี้
อัฟกานิสถานกำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ผู้หญิง เพราะผู้หญิงถูกจำกัดการศึกษาและอาชีพภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน ขณะที่ซีเรียต้องให้ความสำคัญกับการตอบสนองสภาวะฉุกเฉินจากสงครามก่อนสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ด้วยสงครามที่ลากยาวมานานกว่า 12 ปี
ปัญหาขาดเแคลนบุคลากร ชะลอการพัฒนาระบบสุขภาพ
ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ส่งผลต่อความล่าช้าในการผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ตัวแทนจากประเทศบาร์เบโดส ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในทะเลแคริบเบียน ระบุว่า ประเทศของตนต้องเผชิญกับการขาดแคลนพยาบาลและผู้ประกอบวิชาชีพทางสุขภาพ จนต้องเปิดรับพยาบาลจากประเทศกานาและคิวบา
ขณะที่การรักษาบุคลากรทางการแพทย์ไว้ในภาคส่วนสุขภาพยังเป็นอุปสรรค โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท เช่นในกรณีของสาธารณรัฐมอลโดวา ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของยุโรป บุคลากรที่อยู่ในภาคส่วนบริการแพทย์ปฐมภูมิในชนบทมีแนวโน้มลาออกมากที่สุด
ทางด้านฟิลิปปินส์ บุคลการทางการแพทย์จำนวนมากย้ายออกจากประเทศเพื่อเสาะหาโอกาสที่ดีกว่า ทำให้การทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความติดขัดและไม่ประสบผล
ความท้าทายในการเก็บรักษาระบบสุขภาพถ้วนหน้าระยะยาว
"ในขณะที่หลายประเทศเน้นย้ำสถานการณ์มืดมน โดยเฉพาะเมื่อครึ่งหนึ่งของประชากรโลกไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น และอีกครึ่งหนึ่งเผชิญกับความยากลำบากทางการเงินจากค่าบริการ เราควรจะมองอีกมุมด้วยว่า มีประเทศกว่า 30% มีสถานการณ์ที่ดีขึ้นทั้งสองด้าน" นพ.บรูซ อิววาร์ด (Bruce Aylward) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า องค์การอนามัยโลก กล่าว
ประเทศที่สามารถริเริ่มการทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จ มักเจอความท้าทายในการยกระดับความก้าวหน้าในการทำโครงการ หรือทำให้โครงการให้ยั่งยืนในระยะยาว
เช่นในกรณีของมาเลเซีย ซึ่งทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 ยังคงต้องหาแนวทางพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนจะขยายการครอบคลุมบริการสุขภาพผ่านบริการแพทย์ปฐมภูมิ ขยายสถานพยาบาลด้านปฐมภูมิ อบรมบุคลากรทางการแพทย์ด้านนี้ และขยายความร่วมมือรัฐและเอกชน
ขณะที่มัลดีฟส์ กำลังเผชิญกับปัญหาการเสาะหาเงินทุนด้านสุขภาพ เพราะการสู้รบที่เกิดขึ้นในบางประเทศ ทำให้แหล่งทุนผันเงินไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ทั้งยังเผชิญผลกระทบความสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งรัฐบาลต้องผันงบประมาณไปช่วยภาคส่วนการท่องเที่ยงและประมง ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด
อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังมีแผนพัฒนาระบบสุขภาพในสองแนวทาง ได้แก่ ยกระดับบริการแพทย์ปฐมภูมิด้วยมาตรการที่มีความคุ้มค่า เช่น ยกระดับการทำงานของบุคลากรด้านสาธารณสุขให้ทำงานได้หลายด้าน และทำแผนคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแต่เนิ่นๆ
แนวทางอีกด้านคือ เน้นเพิ่มการลงทุนในโครงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น เพิ่มความรู้ด้านสุขภาพดิจิทัลให้ประชาชน และส่งเสริมวิถีชีวิตที่ก่อให้เกิดสุขภาพดี
อ้างอิง: https://healthpolicy-watch.news/universal-health-coverage-has-wide-support-but-is-undermined-by-lack-of-financing-and-health-workers/
รายงาน EB154/6 ขององค์การอนามัยโลก: https://apps.who.int/gb/ebwha/pdf_files/EB154/B154_6-en.pdf
- 112 views