ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ขานรับนโยบาย รมว.สธ.เพิ่มทางเลือกประชาชนรับยาได้ที่ “ร้านขายยา” ลดความแออัด รพ. “หมอศักดิ์ชัย” ชี้ สอดคล้องกับในต่างประเทศ พร้อมยกตัวอย่าง ‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ ที่ได้ดำเนินการส่งเสริมป้องกันโรคแล้ว ยืนยัน ระบบหลักประกันสุขภาพไม่ได้สร้างภาระงบประมาณ-ยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่ WHO กำหนด เชื่อในอนาคตเข้า-ออก โรงพยาบาล จบได้ใน 1 ชั่วโมง

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนสามารถรับยาได้ทั้งห้องยาที่โรงพยาบาลและร้านขายยาใกล้บ้าน ตอนหนึ่งว่า วัตถุประสงค์ของนโยบายดังกล่าวคือการสร้างทางเลือกให้กับประชาชนในการรับยาได้ทั้งที่โรงพยาบาลและร้านขายยาใกล้บ้าน ซึ่งการรับยาที่ร้านยานั้นก็เป็นวิธีที่บางประเทศใช้อยู่ โดยโรงพยาบาลจะไม่จ่ายยาแต่จะให้ร้านยาจ่ายยาตามใบสั่งยาของแพทย์แทน 100% ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยลดความแออัดของสถานพยาบาลได้

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าประชาชนที่เจ็บป่วย 100 คน จะมีถึง 20 คนที่เลือกไปร้านขายยาเป็นลำดับแรก ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อย ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนรู้จักพึ่งพาตัวเองและมีความรอบรู้เรื่องยามากขึ้น จึงมีการเปิดโครงการที่เกี่ยวข้องกับร้านขายยาขึ้นมา โดยนโยบายที่ รมว.สธ. มอบหมายนั้นไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้ที่ใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เท่านั้น แต่จะครอบคลุมถึงผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการด้วย ซึ่งในปัจจุบันก็มีการทดลองให้ร้านยาในกรุงเทพมหานคร (กทม.) กว่า 50 แห่ง ทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านส่งเสริมป้องกันโรคแล้ว

“ร้านยาเหล่านั้นหรือที่เรียกว่าร้านยาชุมชนอบอุ่นจะมีบทบาทเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค กล่าวคือประชาชนสามารถไปใช้บริการการส่งเสริมป้องกันโรคต่างๆ ได้ที่ร้านยา จากนั้น สปสช.จะมีระบบตามจ่ายให้กับร้านยาเอง ซึ่งกรณีของการส่งเสริมป้องกันโรคนั้น สปสช.ดูแลทั้งผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการราชการด้วยเช่นกัน” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว และว่าร้านยาชุมชนอบอุ่นในเฟสต่อไปจะให้ความสำคัญเรื่องยาเหลือใช้ตามบ้านเรือน ซึ่งมีมูลค่ามากถึงปีละ 2,500 ล้านบาท

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก เรียกได้ว่าติดอันดับ 1 ใน 10 และมีหลายประเทศยกย่องให้เป็นต้นแบบ ขณะเดียวกันปัจจุบันเริ่มมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการให้บริการ เช่น ในหลายโรงพยาบาลมีการทำระบบนัดหมายล่วงหน้า นัดหมายตามช่วงเวลา ตลอดจนการใช้ระบบคิวออนไลน์ ฉะนั้นคิดว่านโยบายของ รมว.สธ. ที่ต้องการให้ร่นระยะเวลาตั้งแต่เดินทางเข้าโรงพยาบาลจนออกจากโรงพยาบาลให้เหลือเพียง 1 ชั่วโมงนั้น สามารถเป็นจริงได้ แต่จำเป็นต้องใช้เวลาและค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับสถานการณ์งบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า งบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ 3 กองทุน ปัจจุบันอยู่ที่ราวๆ 4.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งถือว่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ 5% ของจีดีพี และหากดูเฉพาะกองทุนบัตรทองที่ดูแลคน 50 ล้านคน พบว่าใช้เพียง 2% กว่าๆ เท่านั้น

“ถามว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นภาระงบประมาณหรือไม่ ก็ต้องดูว่างบประมาณที่ใช้อยู่ใน 3 กองทุนในขณะนี้อยู่ที่ 15% ของงบประมาณทั้งหมดของประเทศ ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ จะอยู่ที่ 20%” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เกิดขึ้นกับประชาชน การใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์จึงต้องมีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้นการซื้อยาหรืออุปกรณ์ต่างๆ จำเป็นต้องมีการจัดซื้อรวมกันในปริมาณที่มากเพื่อที่จะต่อรองราคาให้ถูกลง ตัวอย่างเช่น การซื้อสายสวนหัวใจหรือสเตนท์ ซึ่งมีราคาเส้นละ 7 หมื่นบาท ปัจจุบัน สปสช.ซื้อได้ในราคาเส้นละ1 หมื่นบาทเท่านั้น