ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พัฒนาศักยภาพบริการ ให้การรักษาโรคที่มีความซับซ้อน ดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ย้ำจุดแข็ง รพ มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญและเครื่องมือการแพทย์ที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นด้านอุบัติเหตุ ระบบทางเดินอาหาร กระดูกและข้อ และด้านจักษุ


นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ให้สัมภาษณ์ภายหลังพิธีส่งมอบงานผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ว่า ขณะนี้โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความพร้อมในการเป็นโรงพยาบาลที่ให้การรักษาในระดับตติยภูมิสำหรับพื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยเปิดรับทุกสิทธิการรักษา รวมถึงผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่มีความซับซ้อนได้รับการรักษาขั้นสูงโดยไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จ.สงขลา

นพ.อารักษ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปัจจุบันมี 426 เตียง และจะเพิ่มอีก 114 เตียง ภายในกลางปี 2567 นี้ รวมแล้วประมาณ 540 เตียง มีทั้งบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่เพียบพร้อม ยกเว้นบริการแพทย์เฉพาะทางบางสาขาเท่านั้น ซึ่งเดิมที รพ. มีผู้รับบริการไม่มาก เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เบิกจ่ายเงินได้ เช่น ข้าราชการ ประกันสังคม ขณะที่ผู้มีสิทธิบัตรทองที่รับบริการจะมีเฉพาะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ ประมาณ 1,900 คนเท่านั้น 

อารักษ์ วงศ์วรชาติ

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจุบันที่ รพ. ได้พัฒนาศักยภาพบริการและมีความพร้อมเพิ่มเติม ประกอบกับนโยบายของ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ต้องการขยายบริการให้ผู้ป่วยทุกสิทธิสามารถเข้ารับการรักษาซึ่งรวมถึงสิทธิบัตรทอง ประจวบกับ “นโยบาย 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ของรัฐบาลที่รุกพัฒนาระบบบัตรทอง โดยให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิสามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่ในหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คาดการณ์ว่า ภายหลังจากนี้ รพ.วลัยลักษณ์จะมีผู้ป่วยมาเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น

“จากการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลที่ยกระดับเป็นศูนย์การแพทย์ ที่มีความพร้อมให้บริการ โดยรวมถึงโรคที่มีความซับซ้อน ดังนั้นเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่เป็นประโยชน์มากที่สุด ทาง รพ.จึงเปิดให้บริการประชาชนทุกสิทธิการรักษาพยาบาล ที่นอกจากเป็นการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนแล้ว ยังเป็นการลดการเดินทางให้กับผู้ป่วย” โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าว 

1

สำหรับความพร้อมในด้านต่างๆ นั้น นพ.อารักษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีศูนย์เชี่ยวชาญที่พร้อมให้บริการประชาชนในหลายๆ ด้าน ประกอบด้วย ศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุ ศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ ศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านจักษุ แม้แต่กรณีการผ่าตัดโรคหัวใจ ก็มีหมอทางด้านศัลยศาสตร์โรคหัวใจและทรวงอก และให้การรักษาไปหลายรายแล้ว ถือว่ามีความพร้อมให้บริการรองรับพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และโรงพยาบาลก็ได้มีการประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลในเครือข่ายทุกระดับ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลทหารบกค่ายวชิราวุธ หรือแม้แต่โรงพยาบาลเอกชนก็จะประสานการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างกันให้ได้รับการดูแลที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ในบางโรคที่ยังไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็จะอาศัยความร่วมมือในการไปเชิญแพทย์จากโรงพยาบาลชั้นนำมารักษาอีกด้วย

จเด็จ ธรรมธัชอารี

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากการเยี่ยมชมความพร้อมของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ถือว่าโรงพยาบาลมีความพร้อมในการเป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคซับซ้อนในเขตภาคใต้ตอนบน ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อนมากๆ อย่างโรคหัวใจ โรคปอด สมอง และกระดูก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความพร้อมด้านจักษุแพทย์ในทุกสาขา หลังจากนี้จะสามารถกระจายผู้ป่วยสิทธิบัตรทองให้มารับบริการที่โรงพยาบาลได้มากขึ้น ขณะเดียวกันด้วยความที่เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย สปสช. จะร่วมมือกับโรงพยาบาลในด้านการวิจัยต่างๆ โดยพร้อมสนับสนุนงบประมาณและข้อมูลแก่บุคคลากรของโรงพยาบาลสำหรับนำไปวิเคราะห์วิจัย และในอนาคตก็จะขับเคลื่อนในด้านการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ต่อไป