ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิมิตรภาพบำบัด ร่วมกับ สปสช. จัดงานรำลึก 16 ปี นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้วางรากฐานและขับเคลื่อนให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพใประเทศไทย พร้อมมอบ “รางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่น” ให้แก่บุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นประจำปี 2566 ด้าน “หมอชลน่าน” ร่วมกล่าวเชิดชูเกียรติ ระบุ นายกฯ ยกย่องหมอสงวนให้เป็น “รัฐบุรุษแห่งวงการสาธารณสุขไทย”


เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2567 มูลนิธิมิตรภาพบำบัด ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดงาน “รำลึก 16 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” โดยมี ดร.นพ.อุทัย สุดสุข อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมงาน อาทิ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการมูลนิธิมิตรภาพบำบัด นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ขึ้นกล่าวเชิดชูยกย่อง “นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์”  

1

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หมอสงวนถือเป็นบุคคลสำคัญในระบบสาธารณสุข ผมได้มีโอกาสทำงานกับท่านและเมื่อมาเป็นผู้แทนราษฎร์ช่วงปี 2544-2545 ได้มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดในการทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อออกกฎหมายรองรับนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ต้องขับเคลื่อนด้วยกฎหมาย ถึงวันนี้มุมมองที่มีต่อท่านก็ไม่ต่างจากเดิม

หมอสงวน ท่านเป็นผู้ที่ทำให้ความฝันเป็นจริงได้ โดยเฉพาะการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน จากที่ขาดสิทธิสุขภาพในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล แม้ว่าตอนนั้นจะมีบัตรสุขภาพต่างๆ มีสวัสดิการของรัฐก็ตาม แต่สิทธิเหล่านั้นก็ดูแลคนได้จำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการรับรองสิทธิให้กับคนไทยทุกคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ดังนั้นไม่ว่าจะยากดีมีจน เป็นเศรษฐีพันล้าน หรือคนที่มีสตาค์แค่ 1 บาท ก็มีสิทธิหลักประกันสุขภาพที่เท่าเทียมกัน  

4
 
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ก่อนการเสนอร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น คนที่มีบทบาทสำคัญที่สุด ต้องยกย่องเชิดชูหมอสงวนที่ได้ใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎร์อาวุโส มาเป็นแรงผลัก สร้างองค์ความรู้ของการขับเคลื่อนทางสังคมและเชื่อมโยงทางการเมืองที่เป็นเรื่องยาก ซึ่งหมอสงวนทำให้การเชื่อมโยงทางการเมืองที่เป็นจริงได้ และต้องพูดถึงคุณทักษิณ ชินวัตร ถ้าไม่มีคุณทักษิณ ชินวัตร การเชื่อมโยงการเมืองนี้ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะด้วยเป็นนโยบายที่ใหญ่มาก ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากในการดูแลสุขภาพประชาชนที่ไม่มีสิทธิถึง 50 ล้านคน เฉลี่ยคนละ 1,205 บาทในขณะนั้น การผลักดันการเมืองจึงเป็นขาสำคัญ ทำให้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้น และเป็นหลักประกันให้กับพี่น้องประชาชนเข้าถึงบริการ มีความเสมอภาคเท่าเทียม และหลังจากนี้จะเป็นต่อยอดให้การเกิดการเข้าถึงได้ทุกที่ ง่ายและสะดวก ซึ่งเป็นการต่อยอดจากที่หมอสงวนทำไว้

“ผมขอนำคำพูดของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้กล่าวถึงวันครบรอบ 16 ปีของคุณหมอสงวนไว้ว่า ขอไว้อาลัยแด่นายแพทย์สงวน รัฐบุรุษแห่งวงการสาธารณสุขไทย จากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สู่30 บาทรักษาทุกโรค หมอสงวนคือผู้ที่วางรากฐานหลักของโครงการ นับว่าเป็นผู้สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้กับประชาชนไทย วันนี้เราสูญเสียรัฐบุรุษแห่งวงการสาธารณสุข ผู้ที่ผลักดันเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล แต่หลักการที่ท่านวางไว้จะยังคงอยู่และเป็นแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนตลอดไป” นพ.ชลน่าน กล่าวและว่า คำพูดของนายกรัฐมนตรีถึงรัฐบุรุษแห่งวงการสาธารณสุขไทยเชื่อว่ามีความหมาย จึงอยากเชิญชวนทุกๆ คนในที่นี้ช่วยกันขับเคลื่อนต่อจากนี้  

4

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการเสวนา “ไปให้ถึง (SAFE) ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทุกคนบนแผ่นดินไทย” “ไปให้ถึง (SAFE) ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทุกคนบนแผ่นดินไทย” โดยในช่วงหนึ่งของการเสวนา รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ก้าวต่อไปของหลักประกันสุขภาพไทย มีคีย์เวิร์ดสำคัญคือ SAFE หรือ Sustainability Adequacy Fairness และ Efficiency ซึ่งนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาท ที่มีเป้าหมาย Quick win 100 วัน ก็ตั้งอยู่บนแนวคิดดังกล่าว เช่น ตอบโจทย์ Sustainability ด้วยการพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิ เน้นที่การส่งเสริมสุขภาพเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในระยะยาว ตอบโจทย์ Adequacy หรือความเพียงพอด้วยนโยบาย กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาล เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตเมือง การขับเคลื่อนงานสุขภาพจิต มีแผนกจิตเวชในโรงพยาบาลใกล้บ้าน การดูแล บำบัด รักษาสาเสพติดครบวงจร หรือในเรื่อง Fairness ก็ให้ความสำคัญกับพื้นที่ชายแดนและพื้นที่เฉพาะ ตลอดจนสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรสาธารณสุข 

ส่วนเรื่อง Efficiency ก็จะเน้นการใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริการจัดการในระดับเขตสุขภาพ เริ่มนำร่องการจัดบริการแบบมุ่งเน้นคุณค่า (Value-Based Health Care) ในเขตสุขภาพ ตลอดจนปรับปรุงการจัดทำบัญชีต้นทุนสถานพยาบาล เป็นต้น

4

นอกจากนี้ภายนในงานยังมีพิธีมอบรางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่น ประจำปี 2566 แก่บุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิมิตรภาพบำบัด มอบรางวัล ดังนี้  

ประเภทที่ 1. “ผู้ป่วยจิตอาสา” รางวัลดีเด่น ได้แก่ นายสมบัติ หทัยเปี่ยมสุข รางวัลชมเชย น.ส.ฐิติพร พริ้งเพลิด นางวรรณรี แสนชาติ

ประเภทที่ 2. “เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ” รางวัลดีเด่นได้แก่ พญ.พิชญานันท์ คู่วัจนกุล และ พญ.พรรณวดี สารวนางกูร ส่วนรางวัลชมเชยได้แก่ นางนภัสกมลฉัตร ประเสริฐศรี

4

ประเภทที่ 3. “หน่วยงาน/องค์กรและทีมสนับสนุน” รางวัลดีเด่นได้แก่ โรงพยาบาลสุโขทัย รางวัลชมเชย ได้แก่ โรงพยาบาลท่าตูม และ หน่วยไตและไตเทียม โรงพยาบาลศรีนครินทร์

ประเภทที่ 4. “องค์กรพัฒนาเอกชน/องค์กรชุมชน/องค์กรสาธารณประโยชน์/กลุ่มบุคคล” รางวัลดีเด่น ได้แก่ กลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง จ.เชียงราย รางวัลชมเชย ได้แก่ สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต จ.พิษณุโลก