ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชุมบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ นัดแรก สธ. เสนอชัด แนวทางพัฒนาระบบข้อมูล  นำร่องบัตร ปชช. ใบเดียวรักษาได้ทุกที่ 4 จังหวัด ‘แพร่-เพชรบุรี- ร้อยเอ็ด-นราธิวาส พร้องเร่งรัดทุกหน่วยงานทำเต็มที่ เผย เดือน ม.ค. 67 ปชช. มีประวัติสุขภาพบนมือถือ เม.ย. 67 เพิ่มระบบจ่ายเงินออนไลน์ 


วันที่ 24 ต.ค. 2566 นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรอบการพัฒนาระบบบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ในที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นโยบายที่สำคัญในการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในโรงพยาบาลทุกระดับ ทั้งรัฐและเอกชน

4

ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนให้ได้รับบริการที่สะดวกมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการให้บริการ อย่างไรก็ตาม หากประชาชนบางส่วนไม่ถนัดที่จะใช้สมาร์ทโฟนก็สามารถใช้บัตรประชาชนในการรับบริการ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกัน

นพ.พงศธร กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาระบบจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1. การพัฒนาระบบบันทึกข้อมูลของโรงพยาบาล คลินิก ร้านยา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นจุดส่งต่อข้อมูลของผู้มารับบริการ 2. การพัฒนาระบบยืนยันตัวตน การตรวจสอบสิทธิการรักษา การยืนยันเข้ารับบริการ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของแพทย์ และบุคลากรอื่นๆ เป็นอาทิ 

4

3. การพัฒนาระบบการทำงาน เช่น ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ ใบรับรองแพทย์ ใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ การนัดหมาย ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และ 4. การพัฒนาระบบส่วนที่เชื่อมต่อกับประชาชนทางแอปพลิเคชันไลน์ และของ สธ. เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อกับประชาชนทั่วประเทศ โดยขณะนี้ สธ. มีฐานข้อมูลจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งรวมทั้งชาวต่างด้าว และชาวต่างชาติด้วย โดยมีทั้งหมดกว่า 66 ล้านคน 

ขณะเดียวกันในระบบไลน์แอปพลิเคชัน และของ สธ. ก็มีประชาชนราว 35 ล้านคน ซึ่งอาจใกล้เคียงกับแอปพลิเคชันเป๋าตัง  โดย สธ. จะใช้ฐานข้อมูลเหล่านี้ในการต่อยอดให้เกิด Quick win 100 วันได้ทันที สำหรับความปลอดภัยด้าน cyber security และความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เป็นสิ่งที่ สธ. คำนึงถึงและให้ความสำคัญสูงสุดในการพัฒนาระบบนี้ 

5

นพ.พงศธร กล่าวต่อไปว่า โครงการนี้จะเริ่มนำร่องใน 4 จังหวัด กระจายทุกภูมิภาคทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ได้แก่ จ.แพร่ จ.เพชรบุรี จ.ร้อยเอ็ด และ จ.นราธิวาส โดยจะมีโรงพยาบาลสังกัด สธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ร้านยา รพ.สต. ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และนำบทเรียนจากพื้นที่นำร่องดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไขก่อนนำไปขยายผลต่อไป 

ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค. 2567 ประชาชนใน 4 จังหวัดจะมีประวัติสุขภาพแสดงบนโทรศัพท์ สามารถดึงประวัติของตนเองมาเก็บไว้ในสมุดสุขภาพ (Health wallet) บนโทรศัพท์ของตนเองได้ นอกจากนี้ ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ จะมีสมุดฝากครรภ์สีชมพูบนโทรศัพท์ ซึ่งถ้าหากต้องการใบรับรองแพทย์ จะมีให้ในระบบดิจิทัลที่มีลายเซ็นของแพทย์ โดยไม่ต้องใช้กระดาษ ป้องกันการปลอมแปลง และสะดวกต่อการใช้งาน 

4

มากไปกว่านั้น เมื่อประสงค์จะไปรับยาที่ร้านยา หรือไปเจาะเลือดก็จะมีใบสั่งยา หรือแล็บแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เชื่อมโยงไปยังร้านยา และแล็บ แบบอัตโนมัติ อีกทั้งโรงพยาบาล ร้านยา คลินิก รพ.สต. ใน 4 จังหวัด จะมีระบบการแพทย์ทางไกลที่เชื่อมต่อประวัติสุขภาพผ่านโทรศัพท์ของประชาชน มีระบบนัดหมายออนไลน์ มีแจ้งเตือนการมารับบริการ การส่งยาทางไปรษณีย์ และอื่นๆ 

พร้อมการเบิกจ่ายผ่านระบบกลาง ที่เตรียมพัฒนาไปสู่ระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และต่อยอดด้วยปัญญาประดิษฐ์  (AI) ที่สำคัญ สธ. มีเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธอภาพของการเงินในอนาคต โดยหน่วยบริการจะได้รับเงินภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากการส่งเบิก เป็นอาทิ 

5

นพ.พงศธร กล่าวอีกว่า ในเดือน เม.ย. 2567 สธ. จะเพิ่มระบบจ่ายเงินทางออนไลน์ ซึ่งเมื่อประชาชนไปรับบริการเสร็จแล้ว ไม่ต้องไปรอที่เคาท์เตอร์จ่ายค่าบริการ สามารถกดจ่ายผ่านโทรศัพท์ได้เลย รวมถึงที่ตู้คีย์ออส ในกรณีที่ไม่มีสมาร์ทโฟน การส่งผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป ข้อมูลสุขภาพที่เตรียมการจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ หากข้อมูลที่เป็นประวัติส่วนตัวในการรักษาจะมีระบบป้องกันขั้นสูง ต้องมีรหัส OTP ของผู้ป่วย ก่อนที่แพทย์จะส่งข้อมูลไปได้ เพื่อเป็นการป้องกัน ความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล 

ไม่เพียงเท่านั้น ระบบสามารถเชื่อมโยงไปถึงการเจาะเลือดใกล้บ้าน และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล