ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การประชุม คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ หรือ ‘Super Board สาธารณสุข’ นัดแรก (ครั้งที่ 1/2566) เปิดฉากขึ้นบ่ายโมงตรง ของวันที่ 24 ต.ค. 2566 ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล โดยมี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ ขนาบข้างด้วย น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการฯ

ตอนหนึ่งของการประชุม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์​ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอว่า เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการฯ เป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ จึงขอให้เพิ่ม ‘นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน’ และ ‘นายกสภาการแพทย์แผนไทย’ เข้าสู่การเป็นคณะกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ

นอกจากนี้ นายกเศรษฐา ยังได้เสนอให้มีการตั้ง คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นชุดการขับเคลื่อน ติดตาม และกำกับการดำเนินงาน เพื่อให้เป็นไปอย่างบูรณาการฯ โดยให้ น.ส.แพรทองธาร ประธาน 

ทั้งนี้ จะเริ่มขับเคลื่อนใน 5 นโยบายสำคัญ ได้แก่ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ มะเร็งครบวงจรและการให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือ HPV, สถานชีวาภิบาล, การเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขต กทม. และสุขภาพจิต/ยาเสพติด

พร้อมกันนี้ ยังให้ น.ส.แพรทองธาร พิจารณาแต่งตั้ง ‘ตัวแทนจากภาคประชาชน’ เข้าในคณะกรรมการฯ ตามความเหมาะสมด้วย

สำหรับบรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างคึกคักและเป็นทางการ โดยสาระสำคัญเริ่มต้นที่ ‘วาระที่ 4 เรื่องแจ้งให้ที่ประชุมทราบ’ โดย น.ส.แพรทองธาร ฉายภาพ หลักการและเหตุผลในการยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นการฉายภาพการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ภายใต้ชื่อโครงการ ‘30 บาทรักษาทุกที่’

30 บาท รักษาทุกที่

น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าวกับที่ประชุมว่า กว่า 2 ทศวรรษที่ประเทศไทยได้ดำเนินการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตร 30 บาท รักษาทุกโรค) ตั้งแต่ปี 2545 พบว่า ‘ร้อยละครัวเรือน’ ที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ลดลงอย่างต่อเนื่อง

จากปี 2531 ที่มีครัวเรือนยากจน 2.5 แสนครัวเรือน ลดลงเหลือเพียง 5.2 หมื่นครัวเรือน ในปี 2560 

1

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเข้าถึงบริการสุขภาพมีการขยายขอบเขตพื้นที่ และกลุ่มเป้าหมายมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งครอบคลุมประชากรได้ถึง 99.6% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (กลุ่มประเทศ OECD) ที่กำหนดไว้ 98% แล้ว

ทว่าโดยรวมยังพบว่า การเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลยังคงเป็นปัญหา รวมถึงการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ยังไม่เหมาะสม หลายพื้นที่ยังขาดแคลนแพทย์ พยาบาล  และยังมีระบบการส่งต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเป็นปัญหาเช่นกัน 

1

สำหรับประเด็นสำคัญที่ต้องพัฒนา ได้แก่ 1. ความเหลื่อมล้ำ 2. ปัญหาความแออด-รอคอย 3. คุณภาพ 4. การเข้าถึงบริการ

 “คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการกระจายการรักษา และแก้ปัญหาการเรื่องการรอคอยพบแพทย์ พร้อมกับพัฒนาข้อมูลของผู้ป่วยเป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้นประวัติการรักษาของผู้ป่วย ผ่านการใช้บัตรประชาชนใบเดียว ทำให้ประชาชนสามารถไปรักษาได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง ทั้งของรัฐ เอกชน รวมถึงหากเป็นโรคหรืออาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ก็สามารถเข้าไปยังคลินิก และร้านขายยาที่เข้าร่วม เพื่อขอรับบริการสุขภาพได้” น.ส.แพรทองธาร ระบุ

สำหรับการยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีภายใต้การยึดเอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ในพื้นที่ห่างไกลผู้ป่วยจะเข้าถึงการรักษาผ่านระบบเทเลเมดิซีน รวมไปถึงมีระบบส่งยาไปถึงบ้านผู้ป่วยที่ทันสมัย ซึ่งมั่นใจว่า เมื่อการยกระดับเสร็จสมบูรณ์ ในอนาคตประเทศไทยจะมีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลคนไทยได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน

4

13 นโยบายกระทรวงสาธารณสุข

ถัดจากนั้นเข้าสู่วาระ 4.2 กระบวนการขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้ชี้แจงนโยบายของ สธ. โดยได้เน้นย้ำถึง ‘นโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567’ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ แก้ปัญหา - วางรากฐาน – สร้างเศรษฐกิจ อันประกอบด้วย 13 นโยบายสำคัญ 

ประกอบด้วย 1. โครงการพระราชดำริฯ / เฉลิมพระเกียรติ / ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ 

แก้ปัญหา - 2. รพ. กทม. 50 เขต 50 รพ. และปริมณฑล 3. สุขภาพจิต/ยาเสพติด 4. มะเร็งครบวงจร 5. สร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร 

วางรากฐาน – 6. การแพทย์ปฐมภูมิ 7. สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ 8. สถานชีวาภิบาล 9. พัฒนา รพช. แม่ข่าย 

สร้างเศรษฐกิจ – 10. ดิจิทัลสุขภาพ 11. ส่งเสริมการมีบุตร 12. เศรษฐกิจสุขภาพ 13. นักท่องเที่ยวปลอดภัย

4

ระบบดิจิทัลสู่ผลลัพธ์ 30 บาทรักษาทุกที่

เข้าสู่วาระที่ 4.3 ‘การขับเคลื่อนบัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่’ ซึ่งมีรักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้าน ‘สุขภาพดิจิทัล’ อย่าง ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี เป็นผู้ชี้แจงข้อมูล

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาระบบ ‘บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่’ นั้น ดร.นพ.พงศธร ระบุถึงการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยบริการทุกระดับ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการรับบริการ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพการให้บริการ

ในส่วนของรายละเอียดนั้น จะแบ่งออกเป็น 4 กรอบการพัฒนาสำคัญ ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบบันทึกข้อมูลของโรงพยาบาล คลินิก ร้านยา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นจุดส่งต่อข้อมูลของผู้มารับบริการ 2. การพัฒนาระบบยืนยันตัวตน การตรวจสอบสิทธิการรักษา การยืนยันเข้ารับบริการ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของแพทย์ และบุคลากรอื่นๆ เป็นอาทิ 

3. การพัฒนาระบบการทำงาน เช่น ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ ใบรับรองแพทย์ ใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ การนัดหมาย ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และ 4. การพัฒนาระบบส่วนที่เชื่อมต่อกับประชาชนทางแอปพลิเคชันไลน์ และของ สธ. เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อกับประชาชนทั่วประเทศ โดยขณะนี้ สธ. มีฐานข้อมูลจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งรวมทั้งชาวต่างด้าว และชาวต่างชาติ ด้วย โดยมีทั้งหมดกว่า 66 ล้านคน

ขณะเดียวกันในระบบไลน์แอปพลิเคชัน และของ สธ. ก็มีประชาชนราว 35 ล้านคน ซึ่งอาจใกล้เคียงกับแอปพลิเคชันเป๋าตัง  โดย สธ. จะใช้ฐานข้อมูลเหล่านี้ในการต่อยอดให้เกิด Quick win 100 วันได้ทันที สำหรับความปลอดภัยด้าน cyber security และความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เป็นสิ่งที่ สธ. คำนึงถึงละให้ความสำคัญสูงสุดในการพัฒนาระบบนี้

4

การดำเนินการในระยะที่ 1 ช่วงเดือน ม.ค. 2567 ผลที่คาดว่าจะได้รับมีด้วยกัน 12 เรื่อง ได้แก่ ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์แสดงบนมือถือ (สมุดสีชมพู-สมุดสีเหลือง) 2. สมุดสุขภาพประชาชน (Health Wallet) 3. ใบรับรองแพทย์ดิจิทัลแสดงบนมือถือ 4. ใบสั่งยา/สั่งแล็ปอิเล้กทรอนิกส์ 5. การแพทย์ทางไกล และเภสัชกรรมทางไกล สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ป่วยจิตเวช/ยาเสพติด 6. นัดหมายออนไลน์และการแจ้งเตือน (คลินิกฝากครรภ์ ทันตกรรม กายภาพบำบัด) 

7. บริการรับ-ส่งยาทางไปรษณีย์ 8. การเบิกจ่ายกับกองทุนสุขภาพ ผ่านระบบ Financial Data Hub 9. บริการจ่ายเงินออนไลน์ 10. การส่งต่อการรักษาโดยไม่ใช้ใบส่งต่อ 11. บริการเจาะเลือดห้องแล็ปใกล้บ้าน และเชื่อมโยงข้อมูล 12. การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

“โครงการนี้จะเริ่มนำร่องใน 4 จังหวัด กระจายทุกภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ได้แก่ จ.แพร่ จ.เพชรบุรี จ.ร้อยเอ็ด และ จ.นราธิวาส โดยจะมีโรงพยาบาลสังกัด สธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ร้านยา รพ.สต. ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และนำบทเรียนจากพื้นที่นำร่องดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไขก่อนนำไปขยายผลต่อไป” นพ.พงศธร ระบุ

ในเดือน ม.ค. 2567 ประชาชนใน 4 จังหวัดจะมีประวัติสุขภาพแสดงบนโทรศัพท์ สามารถดึงประวัติของตนเองมาเก็บไว้ในสมุดสุขภาพ (Health wallet) บนโทรศัพท์ของตนเองได้ นอกจากนี้ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ จะมีสมุดฝากครรภ์สีชมพูบนโทรศัพท์ ซึ่งถ้าหากต้องการใบรับรองแพทย์ จะมีให้ในระบบดิจิทัลที่มีลายเซ็นของแพทย์ โดยไม่ต้องใช้กระดาษ ป้องกันการปลอมแปลง สะดวกต่อการใช้งาน 

1

มากไปกว่านั้น เมื่อประสงค์จะไปรับยาที่ร้านยา หรือไปเจาะเลือดก็จะมีใบสั่งยา หรือแล็บแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เชื่อมโยงไปยังร้านยา และแล็บแบบอัตโนมัติ อีกทั้งโรงพยาบาล ร้านยา คลินิก รพ.สต. ใน 4 จังหวัด จะมีระบบการแพทย์ทางไกลที่เชื่อมต่อประวัติสุขภาพผ่านโทรศัพท์ของประชาชน มีระบบนัดหมายออนไลน์ มีแจ้งเตือนการมารับบริการ การส่งยาทางไปรษณีย์ และอื่นๆ 

พร้อมการเบิกจ่ายผ่านระบบกลาง ที่เตรียมพัฒนาไปสู่ระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และต่อยอดด้วยปัญญาประดิษฐ์  (AI) ที่สำคัญ สธ. มีเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพของการเงินในอนาคต โดยหน่วยบริการจะได้รับเงินภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากการส่งเบิก

ดร.นพ.พงศธร กล่าวอีกว่า ในเดือน เม.ย. 2567 สธ. จะเพิ่มระบบจ่ายเงินทางออนไลน์ ซึ่งเมื่อประชาชนไปรับบริการเสร็จแล้ว ไม่ต้องไปรอที่เคาท์เตอร์จ่ายค่าบริการ สามารถกดจ่ายผ่านโทรศัพท์ได้เลย รวมถึงที่ตู้คีออส ในกรณีที่ไม่มีสมาร์ทโฟน

ส่วนการส่งผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป ข้อมูลสุขภาพที่เตรียมการจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ หากข้อมูลที่เป็นประวัติส่วนตัวในการรักษาจะมีระบบป้องกันขั้นสูง ต้องมีรหัส OTP ของผู้ป่วย ก่อนที่แพทย์จะส่งข้อมูลไปได้ เพื่อเป็นการป้องกัน ความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล 

ไม่เพียงเท่านั้น ระบบสามารถเชื่อมโยงไปถึงการเจาะเลือดใกล้บ้าน และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล

“ขอให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ปี 2567” 

4

ปรับระบบเบิกจ่าย - ยกเครื่อง 1330

ต่อจากนั้น ในวาระเดียวกันนี้ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เมื่อ 20 ปีก่อน บัตร 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ และเป็นการเปลี่ยนแนวคิด จากระบบสงเคราะห์ เป็นสิทธิของประชาชน กระทั่งปัจจุบัน เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะมีการปฏิรูปอีกครั้งโดยการใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น 

ทั้งนี้ สปสช. มีหน้าที่สนับสนุน อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และหน่วยบริการในการให้บริการสุขภาพ สำหรับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียว เมื่อมีการเชื่อมทุกข้อมูลทุกเข้าระบบเดียวกันแล้ว  สปสช. จะสนับสนุนให้สายด่วน สปสช. 1330 ที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อคอยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ได้ติดต่อสอบถาม และช่วยเหลือในการเข้ารับบริการ เช่น การนัดหมายพบแพทย์ออนไลน์ การไปรับยาแต่ไม่รู้สถานที่ การตรวจแล็ป รวมไปถึงการใช้บริการเทเลเมดิซีน เป็นต้น ซึ่งสายด่วน สปสช. 1330  จะเข้ามาเสริมการให้บริการในเรื่องข้อมูล ให้ภาพรวมของการบริการมีความราบรื่น รวมไปถึงจะเพิ่มอาสาสมัครเข้ามาทำหน้าที่ ทั้งกลุ่มพยาบาลเกษียณ เพื่อให้มาช่วยตอบคำถาม

4

"สปสช. ยังเปิดทุกช่องทางเพื่อติดต่อกับประชาชน ทั้งผ่านระบบแอปพลิเคชั่นไลน์ของ สปสช. @nhso รวมถึงช่องทางติดต่อผ่านไลน์ Traffy Fondue และแพลตฟอร์มอื่นๆ เพื่อรองรับการยกระดับการให้บริการบัตร 30 บาทรักษาทุกที่" นพ.จเด็จ กล่าว 

5

นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า ยังเปิดคู่สายให้กับหน่วยบริการ ที่หากไม่เข้าใจ หรือต้องการตรวจสอบข้อมูลของประชาชน รวมไปถึงข้อมูลการเบิกจ่าย การสนับสนุนการส่งต่อ นอกจากนี้ สปสช. ปรับกลไกการชดเชย เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการจัดสรรงบประมาณ มีการปรับระบบการจ่ายเงินล่วงหน้า และประชาชนไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของหน่วยบริการ จะเร่งการจ่ายให้เร็วขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะดำเนินการได้ในเวลาไม่เกิน 3 วัน แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องเป็นผู้ป่วยใน และพักรักษาตัวในโรงพยาบาล จะจ่ายชดเชยได้ในเวลาไม่เกิน 14 วัน โดยจะหารือกับหน่วยบริการทุกสังกัดในช่วงนำร่องเพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพ 

"งบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังดูแลประชาชนทุกกลุ่ม เช่น วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก สถานชีวาภิบาล หรือจิตเวชเรื้อรังในชุมชน โดยหวังว่าการประชุมวันนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง" เลขาธิการ สปสช. กล่าว

4

4

เสนอตั้ง ตัวแทนประชาชน เพิ่มใน คกก.

ในวาระอื่นๆ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) เสนอต่อที่ประชุมว่า อยากให้เพิ่มสัดส่วนภาคประชาชนในคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติให้มากขึ้น โดยเฉพาะ “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” พร้อมกันนี้ ปัจจุบันมีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากถึง 9 กลุ่ม และทำงานอย่างแข็งขันทุกกลุ่ม ซึ่งหากมีตัวแทนจากภาคประชาชนที่เข้าร่วมมากขึ้น ก็จะช่วยให้มีการพัฒนาระบบสุขภาพ รวมถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ตรงกับความต้องการของประชาชน 

น.ส.สารี กล่าวอีกว่า เห็นด้วยกับ น.ส.แพรทองธาร รวมถึง นพ.ชลน่าน ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันฯ โดยเฉพาะผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ได้รับความเหลื่อมล้ำสูงสุด ที่ต้องจ่ายเงิน 2 ส่วน คือเงินสมบทด้านสุขภาพ และเงินภาษี รวมถึงปัญหาประชาชนถูกเรียกเก็บเงิน รวมถึงเห็นด้วยเรื่องการลดความแออัดในโรงพยาบาล รวมถึงคุณภาพของการให้บริการ ที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากต่อประชาชน 

ดังนั้น จึงเห็นว่าควรต้องให้มีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะกรมการพัฒนาระบบสุขภาพฯ มากขึ้น เพื่อให้การพัฒนาตรงกับความต้องการของประชาชน เพราะการเพิ่มเติมภาคประชาชนเข้าร่วมมากขึ้น จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพให้มีความยั่งยืน และมีทิศทางตรงกับเป้าหมายอย่างที่ต้องการ

สำหรับวาระนี้ นายกเศรษฐา ได้มอบหมายให้ น.ส.แพรทองธาร พิจารณาเพิ่มเติม เพื่อแต่งตั้งผู้แทนภาคประชาชน เข้าร่วมในคณะกรรมการฯ ตามความเหมาะสม

5

ตั้งทีม Cancer Warrior

เข้าสู่วาระที่ 4.4 การขับเคลื่อน “มะเร็งครบวงจร และการให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) 1 ล้านโดส ในหญิงอายุ 11-20 ปี” ผู้นำเสนอคือ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.สุรโชค กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง จะมีการส่งเสริมความรู้ในการดูแลตัวเองเพื่อช่วยลดการเกิดมะเร็งในระยะยาว และให้วัคซีนป้องกันมะเร็งกับประชาชน โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก ที่ทางการแพทย์รู้ถึงสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส HPV และป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยภายในเดือน พ.ย. 2566 จะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และจากนั้นจะมีการคัดกรองมะเร็งตลอดทั้งปี 2567 

4

ขณะที่กลุ่มเสี่ยงมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม จะมีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงมีการวินิจฉัยด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น การส่องกล้อง การตรวจด้วยระบบแมมโมแกรม การตรวจด้วยเครื่องซีทีสแกน เป็นต้น และยังเพิ่มเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อช่วยในการรักษาในทุกมิติ เช่น การเข้าถึงเคมีบำบัด การผ่าตัด การฉายรังสี ซึ่งจะครอบคลุมการให้บริการกับประชาชนทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ ยังมีทีม Cancer Warrior เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็ง โดยเฉพาะการทำหน้าที่เยียวยาจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งทีม Cancer Warrior จะมีตั้งแต่ระดับสธ. มาถึงระดับเขตสุขภาพ และระดับจึงหวัด เพื่อช่วยดูแลจิตใจควบคู่ไปกับการรักษาทางกาย เพื่อลดการเจ็บป่วย และการเสียชีวิตจากมะเร็ง 

ประเดิมบริการ รพ.เขตดอนเมือง-สถานชีวาภิบาล ธ.ค.นี้

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สำหรับการเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) 50 เขต 50 โรงพยาบาล จะนำร่องโรงพยาบาลประจำเขตดอนเมืองระยะที่ 1 โดยจะยกระดับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิขนาด 120 เตียง ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉพาะทางร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย และเตรียมพร้อมโรงพยาบาลราชวิถี 2 เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วย คาดว่าจะเปิดให้บริการทั้ง 3 ส่วนได้ภายในเดือน ธ.ค. 2566

ส่วนสถานชีวาภิบาล ที่จะดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง ติดบ้านติดเตียง ตลอดจนผู้ป่วยที่รับการดูแลแบบประคับประคอง ตั้งแต่ระยะแรกจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานมากขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดภาระค่าเดินทาง และลดความกังวลครอบครัว โดยจะมีการพัฒนาคนเพื่อรองรับระบบชีวาภิบาลเพิ่มขึ้น 5,000 คน สร้างระบบชีวาภิบาลในทุกโรงพยาบาล บริการที่บ้าน ชุมชน และ Telemedicine รวมทั้งจัดตั้งสถานชีวาภิบาลในชุมชน เช่น วัดคำประมง จ.สกลนคร และขยายสิทธิให้ครอบคลุมทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ (บัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม) ซึ่งเป้าหมาย 100 วันแรกจะจัดตั้งสถานชีวาภิบาลทุกเขตสุขภาพและใน กทม. 7 เขต มีการจัดบริการ Hospital at Home หรือ Home Ward ทุกจังหวัด โดยจะมีการเปิดสถานชีวาภิบาลต้นแบบในเดือน ธ.ค. 2566 เช่นกัน