ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอชลน่าน แจง เตรียมตั้ง 2 คกก. ‘คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ-คณะกรรมการบริหารงานบุคคล’ แก้ปัญหาเชิงนโยบาย ‘ระบบไร้เอกภาพ-บุคลากรทางการแพทย์’


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา ในการชี้แจงนโยบายคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตอนหนึ่งว่า ได้เตรียมเสนอให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่เป็นเอกภาพ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่พัฒนาขับเคลื่อนระบบสุขภาพ บูรณาการทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน ซึ่งจะแยกจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ดูแลด้านยุทธศาสตร์และนโยบาย

นอกจากนี้ ที่มีความกังวลเรื่องนโยบายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) หรือ ศูนย์สุขภาพองค์รวม (Wellness Center) ในอาเซียน จะกระทบกับการให้บริการสุขภาพสำหรับประชาชนคนไทย จนทำให้เกิดการถูกแย่งชิง และดูแลได้ไม่ทั่วถึง ขอยืนยันว่าจะมีการให้ความสำคัญกับการเข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเป็นธรรม ใโดยสามารถช้บัตรประชาชนใบเดียวไปรักษาได้ทุกที่ ภายใต้ระบบเทคโนโลยีรองรับที่วางเอาไว้ ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลกัน ส่งถึงกันตลอด

รวมถึงจะมีการให้ความสำคัญกับเรื่องการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ นวมินทราชินี 60 พรรษา (สอน.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภายใต้การกระจายอำนาจที่ตอบรับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในเรื่องบริการปฐมภูมิ โดยยอมรับว่าบางแห่งมีปัญหาจริง แต่บางแห่งก็ทำได้ดี และลดความแออัดโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อีกทั้งจะดำเนินการลดภาระงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างแน่นอน โดยปัจจุบันการบริหารงานบุคคลของ สธ. อยู่ภายใต้กฎสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่จำกัดจำนวน อัตรา ทำให้บุคลากรบางส่วนไม่ว่าจะ เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาล ฯลฯ จึงไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ หรือให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมได้ ซึ่งการขับเคลื่อนหลังจากนี้จะมีการตกลงกับ ก.พ. ในการตั้ง ‘คณะกรรมการบริหารงานบุคคล’ ของ สธ. เอง หากตกลงกับ ก.พ. ได้และไม่กระทบต่องบประมาณ เชื่อว่าจะเป็นเชิงโครงสร้างใหญ่ที่จะแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้

ทั้งนี้ ในส่วนการไหลออกจากระบบสุขภาพของรัฐของบุคลากรทางการแพทย์ จะมีการทำในเชิงระบบ โดยมีเป้าหมายคือ จะทำให้โรงพยาบาลที่มีสังกัดทุกแห่ง ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน เป็นโรงพยาบาลของประชาชน สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ และสามารถตอบแทนค่าบริการแก่หน่วยบริการได้ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า เรื่องการกระจายแพทย์ที่มีข้อห่วงใยถึงเรื่องการจัดสรรโควตาแพทย์ชดใช้ทุน ขณะนี้มีการพูดคุยหารือกันเรียบร้อยแล้ว โดยจะจัดสรรด้วยความเป็นธรรมทุกฝ่าย ทั้งฝ่าย สธ. โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย รวมถึงโรงพยาบาลทหาร บนพื้นฐานด้านการแก้ปัญหาในขณะนี้เป็นหลัก หลังจากนั้นจะมีการดูระบบการผลิต และการกระจายแพทย์ทั้งหมด เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์

สำหรับประเด็น 50 เขต 50 โรงพยาบาล ซึ่งมีคนคัดค้านอย่างมากว่าเหตุใดต้องสร้างโรงพยาบาลให้กับคนกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยต้องบอกว่าด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าประชาชนใน กทม. มีการติดเชื้อจนถึงขั้นเสียชีวิตอย่างอนาถาตามท้องถนน ขณะที่จังหวัดอื่นๆ เช่นที่น่านไม่มี หรือบึงกาฬที่มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรน้อยที่สุดก็พบกับเหตุการณ์ดังกล่าว

ดังนั้น ถ้าเจาะในเชิงลึก ระบบการดูแลสุขภาพใน กทม. ในขั้นปฐมภูมิ และขั้นทุติยภูมิมีความขาดแคลนและไม่สอดคล้องอย่างมาก ซึ่งต้องได้รับการแก้ปัญหาตรงนี้ เพื่อให้กลุ่มคนจำนวนไม่น้อยเข้าถึงบริการ แน่นอนว่าใน 50 เขต อาจไม่ใช่ทุกแห่งที่จะต้องสร้างโรงพยาบาลขึ้นมาใหม่ แต่จะเป็นการพัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการขึ้นมาแทน โดยจะเป็นโครงการนำร่องเพื่อเบิกทาง และเป็น Quick win ของ สธ. ขณะที่อีก Quick win ในการตั้งศูนย์ชีวาภิบาล ในเชิงนโยบายจะมีการทำให้ความสอดคล้องเหมาะสม เพราะความตั้งใจมาจากการสร้างสถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่สร้างภาระให้กับประชาชนที่เป็นญาติอย่างมาก