ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'หมอชลน่าน' เผยวาระประชุม 'บอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติด' นัดแรก มีประเด็นระบบสุขภาพดิจิทัลเข้าหารือ ไฮไลท์คัดหา 1 จังหวัดนำร่องใช้บัตร ปชช. ใบเดียวเข้าได้ทุก รพ. ทั้งของ 'รัฐ-เอกชน' ก่อนประเมินผลการให้บริการ หากถูกใจไปต่อ ขยายไปพื้นที่อื่น ยันบอร์ดชุดนี้จำเป็น ต้องบูรณาการนโยบายสุขภาพ นำไปสู่การปฏิบัติจริง เตรียมประสานทุก รพ. นอกสังกัด สธ. ให้บริการสุขภาพไปในทางเดียวกัน 


วันที่ 12 ต.ค. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยช่วงหนึ่งในงานการประชุม “ทิศทางการพัฒนาระบบยาและเภสัชกรรมประเทศไทย ยุคดิจิทัล” ที่เมืองทองธานี ว่า การประชุมนัดแรกของคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ) ในวันที่ 24 ต.ค. 2566 นี้ จะมีการเสนอประเด็นระบบสุขภาพดิจิทัล (Digital Health) เข้าสู่ที่ประชุม โดยจะมีการนำร่องพื้นที่เพื่อใช้นโยบายบัตรประชาชนใบเดียว เข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการทดลองเพื่อให้ประชาชน สามารถเข้ารับบริการได้ทุกหน่วยบริการ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงร้านยา และคลินิกเทคนิคการแพทย์ (ตรวจห้องแล็บ) ได้ 

นอกจากนี้ จะมีการคัดเลือกจังหวัดที่มีความพร้อม 1 จังหวัดเพื่อนำร่องนโยบายดังกล่าวก่อนประกาศให้ประชาชนได้รับทราบในวันที่ 24 ต.ค. ทันที โดยเบื้องต้นขณะนี้มีการพิจารณาจังหวัดที่พร้อมแล้ว เหลือเพียงแค่รายละเอียดทางข้อมูลอีกเล็กน้อย ก่อนจะนำเข้าที่ประชุมบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งหากได้ผลดีก็จะขยายไปยังเขตสุขภาพอื่นๆ 

นอกจากนี้ ยังมีอีก 4 เขตสุขภาพ  ประกอบด้วย เขตสุขภาพที่ 1, เขตสุขภาพที่ 4, เขตสุขภาพที่ 9 และเขตสุขภาพที่ 13 ที่จะทดลองด้วยการใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้าได้ทุกโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยสามารถใช้บริการได้ข้ามจังหวัดแต่อยู่ในเขตสุขภาพเดียวกันได้ ซึ่งจะประเมินถึงผลการให้บริการจากการนำร่อง โดยเฉพาะการส่งต่อข้อมูลการรักษาที่เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยบริการ 

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงความจำเป็นของบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะที่เป็นกรรมการชุดดังกล่าวด้วยว่า แต่เดิมในด้านนโยบายสุขภาพของประเทศ จะกำหนดโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จะดูนโยบายสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพให้กับประชาชน และยังมีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด คสช.) ที่เป็นซูเปอร์บอร์ดด้านสุขภาพ แต่เมื่อมองมายังภาระงานของทั้ง 2 บอร์ดสุขภาพ ก็พบว่าเป็นแนวทางการทำงานนโยบายที่เป็นขาขึ้น แต่เมื่อมามองยังขาเคลื่อน ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติจริงแล้วอาจมีช่องว่างที่ทำให้ระบบสุขภาพมีอุปสรรคได้ 

รวมไปถึงเมื่อมีสถานการณ์ด้านสุขภาพ เช่น โควิด-19 ไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการแก้ไขปัญหาเลย จึงทำให้เป็นหน้าที่ของบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่นายกรัฐมนตรีเพิ่งตั้งขึ้นมา เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ เพื่อนำนโยบายด้านสุขภาพ เข้ามาบูรณาการในจุดเดียว แล้วบริหารจัดการขับเคลื่อนในภาพรวมของประเทศ ขณะที่บอร์ดสุขภาพอื่นๆ ก็ยังคงทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป

"รัฐบาลกำลังหาวิธีปิดช่องว่าง มันจึงเกิดเป็นบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพขึ้นมา เพื่อบูรณาการ ประสานกับทุกหน่วยบริการนอกสังกัด สธ. ทั้งส่วนของโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม รวมไปถึงหน่วยบริการของท้องถิ่น กระทรวงต่างๆ ที่ต้องดูแลสุขภาพในทุกมิติ ทั้งหมด เพื่อให้มีการจัดบริการสุขภาพไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อให้ภาพรวมของการดูแลสุขภาพให้กับคนทั้งประเทศไปในทิศทางเดียวกัน" รมว.สาธารณสุข กล่าว