ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“การได้บัตรประชาชนคือได้ชีวิตใหม่ มันมีความคุ้มค่าต่อชีวิตของประชาชนที่เกิดบนแผ่นดินไทยทุกคน เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าถึงสิทธิ์ของตัวเอง โดยเฉพาะกับสิทธิ์ด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพ” 

วรรคตอนหนึ่งจากห้องประชุมเล็กๆ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนวิจิตรวิทยาคาร ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี 

ห้องประชุมที่ไร้เครื่องปรับอากาศทำความเย็น บานหน้าต่างเปิดกว้างรับลมธรรมชาติ และเสียงฝนปรอยที่ร่วงตกอยู่เกือบตลอดทั้งวัน 

แต่ภายในห้องประชุมนี้ แน่นเต็มไปด้วยคนสำคัญจากหน่วยงานระดับประเทศทั้งภาครัฐ-ภาคประชาสังคมจำนวน 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

หน่วยบริการและโรงพยาบาลในพื้นที่ และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (ภาคประชาชน) และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่

ที่กำลังประชุมหารือแลกเปลี่ยน เพื่อทำงานใหญ่ร่วมกัน ซึ่งก็คือการช่วยทำให้คนไทยที่เคยไร้สิทธิ์ ทั้งที่เกิดบนแผ่นดินไทย หรืออยู่อาศัยจนกลืนวัฒนธรรมกันไปแล้ว ให้ได้มีตัวตน และเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ เหมือนกับคนไทยอีก 70 ล้านคน ผ่านการทำให้เขาเหล่านี้ได้มาซึ่งบัตรประชาชน 

ทว่า กว่าจะได้มาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเผชิญกับทั้งกับกลุ่มที่เรียกรับผลประโยชน์จากคนไทยไร้สิทธิ์ในพื้นที่ ซึ่งมีตั้งแต่ผู้นำท้องถิ่น ไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐ บวกกับความยากลำบากของการเดินทางในการเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกในการทำบัตรประชาชน 

1

สุริยศักดิ์ เหมือนอ่วม ผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนราษฎร (สทร.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) หนึ่งในแรงขับเคลื่อนความสำเร็จนี้ บอกกับ “The Coverage” ว่าเขาต้องเอากำลังคนจากส่วนกลาง และประสานความร่วมมือต่างๆ มายังพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ และรุกเข้ามาตั้งฐานทำงาน กิน-นอนกันที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนวิจิตรวิทยาคาร ต.ปิล็อก เลยทีเดียว

เพื่อหนุนเป็นกำแพงหนาให้นายอำเภอทองผาภูมิ ที่ตั้งใจจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเป็นโอกาสอันดีที่ มท. จะเข้ามาแก้ปัญหาในพื้นที่แห่งนี้ที่ฝังรากอิทธิพลมืดให้หมดไป รวมถึงจัดหน่วยทำบัตรประชาชนในพื้นที่ให้เลย หากพบว่าพิสูจน์ยืนยันสิทธิได้แล้วว่าเป็นคนไทย 

“มันจะได้ไม่ต้องเสียเวลา และได้เข้าถึงสิทธิต่างๆ และได้จับบัตรประชาชนใบแรกของตัวเองในทันที

2

“นายอำเภอทองผาภูมิที่เพิ่งมารับตำแหน่งเองก็เอาจริงไม่กลัวอิทธิพล และผลประโยชน์ในพื้นที่ ที่ฝังมานาน อีกอย่างยังเป็นคนในพื้นที่เองที่ต้องการจัดการปัญหานี้ เราบอกเขาเหมือนกันว่าพื้นที่นี้แรงนะ แต่ถ้านายอำเภอจะเอา พวกเราจากส่วนกลางก็จะเอาด้วย” สุริยศักดิ์ กล่าว

การทำงานในครั้งนี้ทำให้ได้เห็นถึงพลังของทีมที่รวมเอาทั้ง 9 หน่วยงานเครือข่าย และพร้อมหนุนการทำงานของ มท. ในการแก้ปัญหาเรื่องคนไทยไร้สิทธิ์อย่างเต็มที่

ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมายอย่างกระทรวงยุติธรรม ด้านสิทธิบริการสุขภาพจาก สปสช. การส่งเสริมสนับสนุนจาก สสส. กำลังเจ้าหน้าที่ที่มีศักยภาพอย่าง DSI ก็จัดให้เต็มที่ การขยับขบวนไปสู่เป้าหมายร่วมกันจึงเกิดขึ้น และไม่น่าจะเป็นเรื่องยากอีกต่อไป

ล็อกเป้าหมายเด็ก แก้ได้ง่าย ขยายไปกลุ่มอื่น

"เราประสานกับทีมเครือข่ายทั้ง 9 หน่วยงาน เริ่มกันเคลื่อนวางเป้าหมายที่จะเข้าไปช่วยเรื่องคนไทยไร้สิทธิ์ โดยเริ่มเอากลุ่มที่จัดการได้ง่ายก่อน นั่นคือกลุ่มเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ติดชายแดน เป็นเด็กที่เกิดในแผ่นดินไทย แต่ไม่มีบัตรประชาชน เพราะพ่อแม่อาจเป็นคนข้ามชาติ หรือคนชนกลุ่มน้อยอพยพมาอยู่อาศัยเป็นเวลนาน เด็กกลุ่มนี้กำลังมีปัญหา เพราะเข้าไม่ถึงสิทธิเลย ทั้งการเรียน สุขภาพ ฉีดวัคซีนก็ไม่ได้ เขาลำบากมาก เราจึงเลือกกลุ่มนี้" สุริยศักดิ์ กล่าว

2

นอกจากนี้ การเลือกเป้าหมายเพื่อให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้มีสิทธิก่อนกลุ่มเป้าหมายอื่น และได้ทำบัตรประชาชน รวมถึงบางคนยังได้เป็นเจ้าของนามสกุลคนแรกของตระกูล เพราะในสายตาของคนจาก มท. เองก็มองว่าเป็นเรื่องดี เพราะไม่เกิดแรงปะทะใดๆ หรือแรงต่อต้าน ทำให้เกิดการจัดการได้ง่ายที่สุด 

สุริยศักดิ์ อธิบายว่าการขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดความรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะได้กำลังจากตำรวจตระเวนชายแดน และ ยธ. โดยเฉพาะ DSI ที่ส่งพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจตามกฎหมายมาสืบเสาะพยาน หรือยืนยันหลักดินแดน รวมถึงการตรวจ DNA เพื่อตรวจสอบสิทธิ 

ทั้งนี้ ที่ต้องมีการสอบปากคำเพื่อเป็นหลักฐานการยืนยันสิทธิ และสัญชาติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อจำกัดอย่างมากสำหรับฝ่ายกรมการปกครอง ที่ไม่มีกำลังคนเพียงพอ ทำให้เกิดความล่าช้าในการสอบสวน ดังนั้น การได้กำลังจากการบูรณาการกัน ทำให้เกิดความรวดเร็วในการพิสูจน์สิทธิให้กับประชาชนได้เร็วขึ้น 

"รอบนี้ที่ปิล็อก ทองผาภูมิ เราทำบัตรประชาชนให้กับเด็กนักเรียนได้ถึง 90 คน จากทั้งหมดเกือบ 100 คน และในจำนวนนี้ 5 คนได้มีนามสกุลครั้งแรกในชีวิต ส่วนที่เหลือจะมีการพิสูจน์ทาบเพื่อความชัดเจน และจะผลักดันให้เด็กนักเรียนมีเลข 13 หลักเพื่อทำบัตรประชาชนให้ได้

3

“วินาทีนั้นรอยยิ้มอิ่มเอิบบนใบหน้า พ่อแม่ปาดน้ำตาดีใจที่ถึงตัวเองยังต้องรอพิสูจน์สิทธิ์ แต่อย่างน้อยลูกรักของเขาที่เกิดและโตในแผ่นดินไทย ก็ได้มีบัตรประชาชน มีนามสกุลแล้ว” ผู้อำนวยการ สรท. จากมหาดไทย กล่าว

ไม่มีบัตรมันเจ็บปวด หนุนความร่วมมือตรวจ DNA

แม้ว่าจะไม่มีอำนาจโดยตรงในการเข้าไปร่วมสอบสวนเพื่อยืนยันสิทธิ์ความเป็นคนไทย แต่ สปสช. ก็ยืนยันชัดเจนว่าพร้อมจะสนับสนุนการขับเคลื่อนการทำงานกับทีมนี้ 

“กลุ่มคนไทยไร้สิทธิจะเจอได้เมื่อพวกเขาเจ็บป่วย และจำเป็นต้องไปโรงพยาบาล แต่ในภาวะปกติ พวกเขามักจะหลบซ่อนตัว ไม่เผยสถานะเพราะหวั่นผลกระทบจากสังคมที่ยังไม่ยอมรับพวกเขา รวมไปถึงกลัวว่าสถานะของตัวเองจะทำให้ต้องลำบากและเกิดเรื่องยุ่งยาก แต่เมื่ออาการเจ็บป่วยมันควบคุมไม่ได้ เจ็บหนักก็ต้องหาหมอ และเมื่อไปโรงพยาบาล ปัญหาก็เกิดทันที" รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. บอกกับ “The Coverage” 

3

พร้อมกับสะท้อนปัญหาอีกว่า ถึงยังไงหมอก็ต้องรักษา แม้เขาจะไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพเลยก็ตาม แต่เมื่อรักษาเสร็จแล้วกลุ่มคนไทยไร้สิทธิก็ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา โรงพยาบาลก็ต้องนำเคสไปสู่หนี้ของโรงพยาบาล หรือเป็นงานสังคมสงเคราะห์ไป เพราะเรียกเก็บเงินจากที่ไหนไม่ได้ ภาระส่วนนี้จึงตกอยู่กับโรงพยาบาล"  

กระนั้นก็ตาม จากความร่วมมือที่เกิดขึ้น ทำให้มีการเชื่อมร้อยกันระหว่างสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ยธ. สปสช. และโรงพยาบาลศูนย์ เพื่อให้โรงพยาบาลได้จัดเก็บ DNA ของคนไทยไร้สิทธิ์ที่มารักษาตัว และส่งตรวจ เพื่อพิสูจน์สิทธิคนไทย โดยหากได้คำตอบยืนยัน จะมีการส่งผลลัพธ์กลับมายังโรงพยาบาลเพื่อให้สามารถเรียกเก็บเงินค่าบริการย้อนหลังกับ สปสช. ได้ อีกทั้งผลการตรวจสอบยังช่วยเป็นหลักฐานให้คนไทยไร้สิทธิ ได้ไปทำบัตรประชาชนต่อเพื่อยืนยันความเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ 

“เดิมคนไทยไร้สิทธิ์ที่ต้องการพิสูจน์สัญชาติและตรวจ DNA จะต้องเดินทางเข้ามาส่วนกลางที่กรุงเทพฯเพื่อตรวจกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และต้องมีค่าใช้จ่ายการเดินทาง แถมยังต้องมาเสียเงินค่าตรวจ DNA อีกอย่างน้อย 8,000 บาท ทำให้ภาระมาตกอยู่กับประชาชนมากเกินไป แต่ความร่วมมือดังกล่าว ภาครัฐจัดสรรงบฯ เพื่อตรวจ DNA ให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ ซึ่งโรงพยาบาลศูนย์ จะทำหน้าที่จัดเก็บ DNA เพื่อส่งให้กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตรวจสอบ ซึ่งจะช่วยประชานไม่ต้องเดินทางมายังกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลยังเรียกเก็บค่าบริการกับผู้ป่วยย้อนหลังกับเราได้" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว 

3

รศ.ภญ.ยุพดี ย้ำด้วยว่า เมื่อ สปสช.ไปพูดคุยกับผู้บริหารโรงพยาบาลศูนย์ต่างๆ เกี่ยวกับโปรแกรมความร่วมมือนี้ ก็ได้รับการตอบรับและพร้อมจะร่วมมืออย่างดีมาก เพราะโรงพยาบาลก็ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ไม่ต้องมาพะวงกับตัวเลขขาดทุนเมื่อทำการรักษาให้กับผู้ป่วย เป็นการทำงานเชิงรุกของทุกภาคส่วนที่หนุนเสริมกัน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อทำให้แม่งานหลักคือ มท. ได้ขับเคลื่อนการเข้าถึงสิทธิ์ของคนไทยอย่างราบรื่น กระทั่งวันนี้ได้กระบวนการพิสูจน์สถานะที่รวดเร็วที่สุด ซึ่งจะตอบโจทย์การเข้าถึงระบบสวัสดิการต่างๆ ของประชาชนในประเทศให้มีความเท่าเทียม และเป็นธรรม 

ทิพาพรรณ หอศิวาลัย ผู้อำนวยการกลุ่มจังหวัดที่ 2 (กาญจบุรี และสุพรรณบุรี)  สปสช. เขต 5 ราชบุรี ซึ่งรับผิดชอบดูแลการเข้าถึงบริการสุขภาพของสิทธิบัตรทองในพื้นที่แห่งนี้ ให้ข้อมูลเสริมกับ “The Coverage” ว่า การจัดเก็บ DNA  เป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะพิสูจน์สิทธิสถานะให้กับคนไทยไร้สิทธิ์ 

3

เนื่องจากเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากไม่สามารถพิสูจน์ในวิธีอื่นได้แล้ว ซึ่งถึงจะไม่ใช่ภารกิจโดยตรงของ สปสช. แต่ก็เข้ามาช่วยนับสนุน โดยเฉพาะหลังจากที่คนไทยไร้สิทธิได้รับบัตรประชาชนแล้ว จะมีสิทธิด้านสุขภาพใดบ้างที่ต้องรับบริการ รวมถึงให้คำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการใช้บริการสุขภาพจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) 

ขณะเดียวกัน ก็พร้อมขับเคลื่อนร่วมกันกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยบริการ ภาคประชาชน และหนุนเสริมในโอกาสที่ สปสช. เขตพื้นที่ช่วยทำได้ร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด