ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการ สวรส. ชี้ หากนักวิจัยรวมกลุ่มแบบ Intelligence unit ทำงานวิชาการ ช่วยรัฐบาลตัดสินใจภาวะวิกฤตได้ทันที เผย ปัจจุบันฝ่ายนโยบายต้องการข้อมูลเชิงประจักษ์ก่อนตัดสินใจ เหตุเพราะรับผิดชอบผลลัพธ์มากขึ้น หนุนนักวิจัยให้ความรู้ประชาชนด้วย มากกว่าพุ่งเป้าไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายอย่างเดียว


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยตอนหนึ่งในเวทีเสวนา “การกำหนดนโยบายและทิศทางสำคัญต่อการผลักดันระบบสุขภาพและการแพทย์ของประเทศ” งาน Policy Forum รัฐสภา เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2566 ว่า หากมีการรวมกลุ่มของนักวิจัย นักวิชาการในรูปแบบ Intelligence unit ในการทำงานวิชาการ จะช่วยตอบข้อมูลให้กับฝ่ายนโยบาย หรือรัฐบาลสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในระยะสั้นได้ทันที ซึ่งน่าจะสอดรับกับภาวะวิกฤตต่างๆ ที่ฝ่ายนโยบายต้องการข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อตัดสินใจอย่างรวดเร็ว 

อีกทั้ง ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เป็นงานวิจัยในระบบสุขภาพ ที่ครอบคลุมในมิติสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและหาแนวทางลดผลกระทบ รวมไปถึงกระบวนการที่ได้มาซึ่งนโยบายได้เกิดประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง จะยิ่งเป็นข้อมูลที่ทำให้ฝ่ายนโยบายตัดสินใจกำหนดเป็นนโยบายได้เร็วขึ้น 

"งานวิจัยในระบบสุขภาพ รวมถึงงานวิชาการ ต้องทำให้ผู้กำหนดนโยบาย ได้เข้าใจในสิ่งที่กำลังตัดสินใจ รวมถึงผลลัพธ์ของการตัดสินใจว่าจะเกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง และหากว่าเป็นข้อมูลในพื้นที่อย่างชัดเจน ครอบคลุม ก็ทำให้เคาะเป็นนโยบายได้อย่างรวดเร็ว เพราะผู้กำหนดนโยบายมั่นใจข้อมูล" ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าว 

3

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อไปว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำงานด้านนโยบาย และแผนภาพรวมระบบสุขภาพของประเทศ ทำให้เห็นว่าปัจจุบันฝ่ายนโยบายต้องรับผิดชอบกับผลลัพธ์มากขึ้น ฝ่ายนโยบายจึงต้องการข้อมูลที่เป็นประจักษ์ในการลดความผิดพลาดของนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ 

นอกจากนี้ งานวิจัยที่เป็นข้อมูลอย่างรอบด้านซึ่งครอบคลุมในมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมไปถึงประเด็นต่างๆ ในสังคมที่อาจทำให้เกิดความเห็นต่าง งานวิจัยที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์จะช่วยลดการถกเถียงและขัดแย้งในประเด็นเชิงนโยบายด้านระบบสุขภาพ รวมถึงผลกระทบด้านต่างๆ ได้

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ควรเข้ามาช่วยให้เครือข่ายงานวิจัยทุกด้านได้มีกระบวนการทำงานร่วมกัน หนุนเสริมเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในสังคมเกี่ยวกับการวิจัยด้านต่างๆ รวมถึงด้านของสุขภาพ เพิ่มเติมจากการทำงานงานวิจัยเพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้กำหนดนโยบาย เพราะเป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนระบบสุขภาพคือประชาชนและสังคมโดยรวม

ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. ยังได้กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนา  “ระบบสุขภาพเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของคนไทย” ว่า การลงทุนด้านสุขภาพมีเป้าหมาย คือ คนไทยสุขภาพดี ลดการป่วย และลดการเสียชีวิต เพราะเมื่อคนไทยสุขภาพดี จะเป็นบุคลากรสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างรายได้ให้ประเทศ และนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน 

ทั้งนี้ สวรส. มีผลงานสำคัญที่สนับสนุนงานวิจัยเพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยเฉพาะจากสถานการณ์โควิด -19 ที่ได้งบประมาณจากระบบ ววน. เพื่อบริหารจัดการงานวิจัย และได้ความรู้ นวัตกรรมจากงานวิจัยที่ได้สนับสนุน และนำไปใช้ประโยชน์ในสถานการณ์หลายมิติ เช่น ในด้านงานวิจัยทางวิชาการ มีผลงานการจัดทำข้อเสนอเรื่องบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine, การวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพเพื่อรับมือในพื้นที่ที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก และการทบทวนการปรับการให้บริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ฯลฯ

3

ขณะที่การวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ มีการพัฒนานวัตกรรมเปลและเต็นท์ความดันลบแยกผู้ติดเชื้อโควิด -19 แผ่นปิดกะโหลกศีรษะไทเทเนียม ออกแบบเฉพาะบุคคลใช้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดสมองและไม่สามารถใช้กะโหลกเดิมปิดศีรษะได้ และชุดตรวจ albuminuria คัดกรองโรคไตเรื้องรัง เป็นอาทิ

ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวอีกว่า ในส่วนการวิจัยระบบสุขภาพของประเทศ สวรส. ได้สนับสนุนทำให้เกิดแผนงานการแพทย์จีโนมิกส์ ที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model และผลักดันให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์จีโนมิกส์ได้อย่างมีคุณภาพ ช่วยลดการเสียชีวิตก่อนวันอันควรของประชาชน 

รวมไปถึงยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับ การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข กรณีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยมีการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีงานวิจัยที่ติดตามประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนหลังการถ่ายโอน  

"การผลักดันงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง จำเป็นอย่างมากที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำของการวิจัยไปจนถึงปลายน้ำที่เป็นผลของการวิจัยที่จะนำไปใช้ประโยชน์ สวรส. ที่สนับสนุน และช่วยเหลือด้วยการจัดการงานวิจัย จึงทำหน้าที่เสมือน Policy Broker ที่เป็นเหมือนโซ่ข้อกลางของการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ระหว่างนักวิจัย และผู้กำหนดนโยบาย" ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. กล่าว