ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชัดเจนแล้วว่า ผลพวงจากปัญหา ‘เด็กเกิดน้อย’ ไม่ต่างไปจาก ‘ระเบิดเวลา’ ที่รอเขย่ารากฐานของประเทศไทย

ในอนาคต เราจะไม่มีกำลังคนในการพัฒนา ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจะขาดแคลนบุคลากรสำหรับขับเคลื่อน ฟันเฟือนของประเทศจะฝืดและหยุดชะงัก ในขณะที่ ‘ผู้สูงอายุ’ ที่ต้องการการพึ่งพิงจะเพิ่มสูงขึ้น

‘ไม่อยากมีบุตร’ จึงไม่ใช่แค่เรื่องค่านิยมของยุคสมัย หรือสิ่งที่ถูกส่งต่อกันมา หากแต่สัมพันธ์กับหลายมิติ ทั้งความพร้อมในทุกแง่มุม ตลอดจนความรู้สึกภายในจิตใจ

บทวิเคราะห์จาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แจกรายละเอียดเอาไว้ใน 3 ประเด็นที่น่าสนใจ 

1. อัตราเจริญพันธุ์ที่ลดลง จะส่งผลให้ประชากรรุ่นใหม่ในอนาคตเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง

2. ประสบการณ์จากหลายประเทศ พบว่านโยบายส่งเสริมการมีลูกไม่ประสบความสำเร็จ

3. การขาดแคลนวัยแรงงาน นำไปสู่ความท้าทายทางการคลัง เนื่องจากเก็บภาษีได้น้อยลง

โจทย์ที่ประเทศต้องให้ความสำคัญนับจากนี้ สภาพัฒน์ จำแนกเอาไว้ว่า

หนึ่ง ต้องสร้างรากฐานที่ดีตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต คือการส่งเสริมให้ครอบครัวอบอุ่น มีลูกเมื่อพร้อม ผลักดันกฎหมาย/กฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้อและสนับสนุน รวมถึงส่งเสริมการศึกษาในคนทุกกลุ่ม เสริมสร้างสมรรถนะด้านการเรียนรู้ ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาทุกระดับ

สอง ต้องพัฒนาประชากรให้มีรายได้อย่างยั่งยืน ทั้งการพัฒนาทักษะแรงงาน ทั้งยกระดับ (Up-skill) หรือสร้างใหม่ (Re-skill) ให้สอดคล้องกับตลาดงานในอนาคต การขยายโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ โดยออกแบบงานให้มีความยืดหยุ่น สร้างแรงจูงใจในการจ้างผู้สูงอายุ

สาม ต้องปรับรายได้ยามชราภาพให้เพียงพอ โดยทำได้จากส่งเสริมการออมภาคบังคับ โดยเริ่มออมตั้งแต่วัยทำงาน เพื่อให้มีเงินเพียงพอและยั่งยืนในวัยเกษียณ รวมทั้งการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี พัฒนาแนวทาง/กลไกการหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ ให้กับระบบรายได้ยามชราภาพ

หากว่ากันในเชิงการแพทย์ แม้ว่าเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์จะช่วยเพิ่มโอกาสในการมีบุตรได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในสมการเด็กเกิดน้อย

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกกับ “The Coverage” โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า เทคโนโลยีที่จะช่วยในการเจริญพันธุ์ จะช่วยได้ก็แต่ กลุ่มที่มีปัญหาในด้านการเจริญพันธุ์ เช่น คู่สมรสที่อยากมีลูก แต่มีลูกยาก หรือแท้งบ่อย

“เทคโนโลยีเจริญพันธุ์ไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาทั้งหมด และในทางการแพทย์มองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ปัจจัยหลักคือปัญหาทางสังคม และเศรษฐกิจ ที่ทำให้ประชากรไม่อยากจะมีลูก” ศ.นพ.มานพ ระบุ

ฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหาการเกิดของประชากร รัฐบาลจะต้องแก้ในเชิงนโยบาย เพราะปัญหานี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการแพทย์ หรือการสาธารณสุขอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวกับเรื่องของสวัสดิการทางด้านสังคม สิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐเอื้ออำนวยให้ประชากรมีบุตรมากขึ้น ประเทศไทยจำต้องแก้ปัญหาในส่วนนั้น ควบคู่ไปกับการยกระดับเศรษฐกิจ รวมถึงต้องระวังการพัฒนาประเทศที่จะเกิดขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งจะมีผลต่อการเกิดของประชากรด้วยเช่นกัน 

"มีอีกหลายประเทศที่เผชิญปัญหาเดียวกัน โดยเฉพาะกับประเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเร่งด่วน จะเจอปัญหาประชากรที่ไม่สัมพันธ์กันในแต่ละช่วงอายุ ทั้งคนสูงวัยที่จะมีจำนวนมากขึ้น ประชากรวัยทำงานลดลง ประชากรเกิดใหม่มีการเติบโตช้า หรือชะลอตัว และเข้าสู่สถานการณ์ประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นปัญหาใหม่ที่แต่ละประเทศกำลังเผชิญ และต้องเตรียมการรับมือ" ศ.นพ.มานพ ระบุ

อาจารย์มานพ บอกว่า สังคมเมือง สังคมเศรษฐกิจที่อิงเรื่องอุตสาหกรรม การค้า งานบริการที่มากขึ้น จะไม่ใช่สังคมเศรษฐกิจที่อิงกับแรงงาน 

ดังนั้น แต่ละครอบครัวก็อาจมองว่าไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกครอบครัวให้มากเพื่อมาช่วยทำงาน อีกทั้งเมื่อเป็นสังคมที่คู่สมรสเรียนสูงขึ้น มีการทำงานทั้งคู่ ก็ทำให้การอยากมีลูกลดลง เพราะเมื่อตั้งครรภ์ต้องหยุดงาน เสียรายได้ และยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งก็เป็นตัวแปรและปัจจัยที่ทำให้คนเลือกจะไม่มีลูก ซึ่งเป็นเหมือนกันทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ผลพวงของ ‘เด็กเกิดน้อย’ และ ‘สังคมสูงวัย’ คือเรื่องที่ไม่อาจพูดแบบแยกส่วนกันได้ นั่นเพราะทั้งสองประเด็นนี้ หมายถึงโครงสร้างประชากร และเศรษฐกิจ

วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กล่าวในการประชุมประจำปี 2566 ของสภาพัฒน์ ภายใต้เวทีเสวนา Inclusive Green Growth Transition ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบ แต่ยังไม่มีความพร้อมในหลากหลายด้าน เช่น สวัสดิการของภาครัฐที่ไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ 

ที่สำคัญก็คือ เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตลาดจะเล็กลงเรื่อยๆ และเมื่อตลาดเล็กลง “ความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็จะลดลง”

วิรไท อธิบายว่า ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า คนทำงาน 1 คน จะต้องหารายได้ทั้งดูแลผู้สูงอายุ และจ่ายภาษีให้รัฐมาจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ หากไม่สามารถเพิ่ม Productivity ได้ ปัญหาสังคมผู้สูงอายุจะเป็นปัญหาใหญ่มากๆ

มาถึงบรรทัดนี้ พอจะเห็นสภาพปัญหา และพูดได้อย่างชัดเจนแล้วว่า ‘เด็กเกิดน้อย’ ไม่ต่างไปจาก ‘ระเบิดเวลา’ ที่รอเขย่ารากฐานของประเทศไทย