ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เอาจริง เจ้ากระทรวงทั้งสอง ไม่ว่าจะเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. และ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สธ. ยืนยันตรงกันว่า จะลุยแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย และผลักดันวาระส่งเสริมการมีบุตรให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’

เท่าที่พิจารณา มั่นใจว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ‘เอาด้วย’ เพราะเรื่องนี้มีผลต่อรากฐานของประเทศ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม

ภายใต้ความพยายามของรัฐบาล คลังสมองของชาติอย่าง สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีมุมมองที่น่าสนใจ ส่งผ่านข้อมูลและความคิดเห็นจาก ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ

“The Coverage” ได้รับเกียรติสนทนากันอย่างละเอียดแบบเจาะลึก เพื่อเลาะตะเข็บสถานการณ์ที่จะนำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน

ดร.สมชัย บอกกับเราว่า หนึ่งในการแก้ไขปัญหาเด็กเกิดน้อย คือการสร้างความมั่นใจให้พ่อแม่ว่า เมื่อมีลูกแล้วจะได้รับ ‘ความคุ้มครองทางสังคม’ โตมาแล้วจะไม่ตกงานหรือไม่ถูกเทคโนโลยีแย่งงาน ซึ่งหากรัฐบาลไม่แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท รวม 5.6 แสนล้านบาท 

เราจะมีเงินแจกคูปองสำหรับ UpSkill-ReSkill ให้กับคนทั้งประเทศให้เท่าทันโลก เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ได้ถึง 7 ปีเต็มๆ 

1

เด็กเกิดน้อยซ้ำเติม ความเหลื่อมล้ำ

ดร.สมชัย เริ่มต้นฉายภาพว่า คนสูงวัยและคนวัยแรงงานมีเยอะ แต่ ‘เด็กเกิดน้อย’ ฉะนั้นในแง่ของจำนวน ‘คงทดแทนกันไม่ได้’ เมื่อทดแทนกันไม่ได้ หากคนรุ่นใหม่หรือเด็กที่กำลังโตไม่ได้มีคุณภาพที่สูงกว่า ภาพรวมของประเทศก็จะมีปัญหา และตัวของเด็กก็จะมีปัญหา เพราะตัวคนเดียวก็จะต้องดูแลพ่อแม่ และถ้าหากมีปู่ย่าด้วย แน่นอนว่าเขาย่อมดูแลไม่ไหว

“คนที่จะแบกไหวจะต้องเป็นคนที่เก่งมาก เขาจะต้องเป็น superman หรือ superwomen ซึ่งก็ไม่มีอะไรการันตีว่าเขาจะเป็นหรือทำได้ และถ้าไม่ได้ ก็จะเป็นปัญหาในระดับบุคลาคือต่อตัวเขาเอง รวมไปถึงระดับสังคม”

ถามต่อว่าแล้วสถานการณ์ที่ประชากรมี ‘อายุยืน’ ขึ้น จะก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่นั้น ตรงนี้คงไม่ใช่ปัญหา เพราะการมีอายุยืนย่อมเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราคงไม่มานั่งคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้คนอายุสั้นลง มันคงไม่ใช่

ทว่าสิ่งที่ตามมา มีแง่มุมที่น่ากังวลให้เราต้องเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็น คนรุ่นใหม่จะรับภาระดูแลคนรุ่นก่อนหน้าไหวหรือไม่ หรือหากพิจารณาในแง่เศรษฐกิจก็มีคำถามว่า เศรษฐกิจจะโตช้าลงหรือไม่ เพราะจำนวนแรงงานน้อยลง 

“เว้นแต่แรงงานที่เหลือน้อยลงนั้นเป็นแรงงานที่มีคุณภาพสูงมาก จึงจะช่วยเรื่องของเศรษฐกิจไม่ให้โตช้าลงได้”

นอกจากนี้ ยังมีมิติของความเหลื่อมล้ำด้วย เพราะเด็กที่ยังเกิดอยู่ ส่วนหนึ่งเกิดมาในครอบครัวที่อาจไม่พร้อมดูแลบุตรให้โตขึ้นมาอย่างเต็มศักยภาพ ถ้าเราแบ่งครอบครัวไทยออกมาจะพบว่า เด็กที่เกิดใน 40% ล่าง จะสูงกว่าเด็กที่เกิดมาในครอบครัว 60% บน 

ดร.สมชัย กล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องหนึ่งที่จะมาพร้อมกันคือ ถ้าเด็กเกิดน้อยลง มีแรงงานให้ใช้น้อยลง ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่ภาคธุรกิจจะปรับตัวไปในทิศทางที่ใช้คนน้อยลง และใช้เทคโนโลยี-ai มากขึ้น แนวโน้มตรงนี้จะเร่งขึ้น โดยคนที่จะถูกเทคโนโลยีทดแทนจะเป็นคนระดับล่าง เช่น เรื่องหุ่นยนต์ จะเข้ามาทดแทนแรงงานที่ทำอะไรซ้ำๆ ซึ่งคนที่ทำงานตรงนี้ก็มักจะได้ค่าแรงไม่สูง

“แรงงานเหล่านี้ก็จะต้องตกงานไป ขณะที่คนที่รวยมากขึ้นก็คือคนที่เป็นเจ้าของหุ่นยนต์ เจ้าของโรงงาน นั่นก็คือนายทุน ซึ่งเขาจะไม่ต้องจ่ายเงินให้แรงงานระดับล่างแล้ว แต่เขาจะไปใช้เทคโนโลยีและทำให้เขารวยมากขึ้น หมายความว่าความรวยก็จะยิ่งไปกระจุกกับคนระดับบน เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำมากขึ้น”

มากไปกว่านั้น จากประสบการณ์ทั่วโลกพบว่า เมื่อจำนวนประชากรรายหัวน้อยลง เศรษฐกิจจะโตช้าลง ถึงแม้จะมีการปรับเพิ่มทักษะของประชากรกลุ่มกลางกับกลุ่มบนแล้วก็ตาม 

อย่างไรก็ดี เมื่อประชากรหายไปจำนวนมาก แล้วประเทศต้องการที่จะโต ย่อมหนีไม่พ้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม และต้องเสริมในแง่ที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ได้ด้วย แต่โดยทิศทางแล้ว ตรงนี้น่าจะยังเป็นเรื่องยาก

“แม้ว่าเทคโนโลยีอาจจะช่วยค้ำยันตัวเลข GDP เอาไว้ได้ แต่โดยภาพรวมจะเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำขึ้นอย่างแน่นอน ทว่าคงยังประเมินยากว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะโตช้าเพียงใดและส่งผลต่อประชาชน-ประเทศมากน้อยขนาดไหน แต่หากเทคโนโลยีกระจุกอยู่กับคนกลุ่มเดียว เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำ และมองมาที่เครื่องมือทางเศรษฐกิจ ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าการบริโภคโดยภาพรวมก็จะลดน้อยลง เพราะคนจำนวนมากรายได้น้อยลง เขาก็ไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอย”

ยิ่งรวย ยิ่งมีลูกน้อยลง

ดร.สมชัย ให้ภาพต่อไปว่า จากประสบการณ์ทั่วโลกพบว่า ‘คนมีรายได้สูงจะมีลูกน้อยลง’ ซึ่งจะมีสาเหตุหลายเรื่อง อาทิ ไม่มีความจำเป็นต้องมีลูก เพราะคนในสมัยก่อนมีลูกเพราะต้องการให้ลูกมาดูแลตนเอง แต่ถ้ารวยมาก มีทรัพย์สินเยอะมาก ก็ไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งพิงลูก

หรือแม้แต่ ต้องการใช้เงินเพื่อสร้างประสบการณ์ชีวิตตัวเอง ต้องการอิสระ เลือกที่จะไปเที่ยว ไม่อยากเสียเวลามาเลี้ยงลูก 

ฉะนั้น ถ้ามีภาพของความเหลื่อมล้ำ ยิ่งรวยกระจุกมากขึ้น คนก็อยากจะมีลูกน้อยลง ในขณะเดียวกันพบว่า คนที่ไม่ได้รวยมากกลับมีลูกมากขึ้น แต่ตรงนี้ก็ไม่เสมอไป เพราะเป็นเรื่องของสภาพสังคมในอนาคตด้วย หากในอนาคตหางานยากขึ้น มีลูกแล้วลูกหางานได้ยาก คนกลุ่มนี้ก็อาจไม่อยากมีลูกด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นภาพนี้ ‘เด็กก็จะยิ่งเกิดน้อยลงมาก’ เพราะไม่ว่าคนจนหรือคนรวยก็ไม่อยากมีลูก

4

เพิ่มวันลาคลอด ได้เงินเดือน-ได้ตำแหน่งเดิม

ที่ผ่านมามีข้อเสนอเรื่องการเพิ่มสวัสดิการให้สามี-ภรรยา เพื่อกระตุ้นให้มีลูก

ดร.สมชัย มองว่า การเพิ่มสวัสดิการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีลูก เช่น ถ้ามีลูกแล้วจะได้รับเงินเท่านั้นเท่านี้ พบว่ามีหลายประเทศที่ทำ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ เพราะไม่ว่าจะให้เงินมากเพียงใดก็ตาม ต้นทุนในการเลี้ยงลูกให้โตมาก็มากกว่านั้น โดยเฉพาะการเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพพอสมควร ย่อมมีต้นทุนที่สูงมากและสูงกว่าสิ่งที่รัฐบาลให้

ฉะนั้น การให้สวัสดิการในลักษณะนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์

ทว่า ยังมีสวัสดิการในรูปแบบอื่นที่ช่วยได้มากกว่า เช่น ‘สวัสดิการการลาคลอด’ หากลาคลอดได้ยาวๆ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศที่ให้ลาได้เป็นปี สามารถหยุดงานไปเลี้ยงลูกได้โดยที่ยังได้รับเงินเดือน และยังมีตำแหน่งการทำงานรออยู่เช่นเดิม ผู้หญิงบางคนที่ยังลังเลก็อาจจะเลือกที่จะมีลูก

“ส่วนหนึ่งที่ผู้หญิงไม่ยอมมีลูก เพราะถ้าลาคลอดได้สั้น เช่น 90 วันต้องรีบกลับมาทำงาน ถ้าไม่กลับมาทันก็ไม่มีเงิน ตรงนี้จะกระทบต่อการตัดสินใจ หรือในหลายประเทศ แม้ว่าจะให้ลาคลอดแต่ไม่มีการล็อคตำแหน่งงานเอาไว้ให้ เมื่อกลับมาแล้วพบว่าลูกน้องขึ้นมาแทนที่ ตัวเองต้องไปเริ่มต้นใหม่ ความก้าวหน้าที่การงานต้องสะดุด ผู้หญิงหลายคนจึงเลือกไม่มีลูกดีกว่า”

นอกจากนี้ ในหลายประเทศได้เปิดโอกาสให้ ‘สามี’ ลามาเลี้ยงลูกได้ เพราะมีกรณีที่ภรรยามีฐานะการงานดีกว่าสามี ภรรยาอาจคลอดมาแล้วเลี้ยงลูกสัก 90 วัน แล้วกลับไปทำงาน ที่เหลือให้สามีลางานมาเลี้ยงแทน ฉะนั้นหัวใจสำคัญของสวัสดิการการลาคลอดคือ ‘ความยืดหยุ่น’

ดร.สมชัย บอกว่า มาตรการนี้ ในหลายประเทศพบว่า ‘ได้ผล’ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับ Reverse Trend ได้ เพราะในประเทศที่เด็กเกิดน้อย ก็ยังคงเกิดน้อยเช่นเดิม เพียงแค่ช่วยชะลอการลดลงของการมีลูกน้อยลงได้

5

Social Protection: นโยบายคุ้มครองทางสังคม

ในเชิงวิชาการมีคำที่ถูกต้องมากกว่าคำว่า ‘สวัสดิการ’ นั่นคือการสร้างให้เกิด ‘นโยบายคุ้มครองทางสังคม’ หรือ social protection policy

เดร.สมชัย อธิบายว่า คำว่าสวัสดิการนั้น อาจมีความหมายในลักษณะการสงเคราะห์ ซึ่งเป็นเพียงซับเซ็ต หรือเป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบของ Social Protection ที่มีอยู่ด้วยกัน 4 Pillar หรือ 4 เสาหลัก

เสาหลักแรกคือ การเพิ่มศักยภาพให้คน อาทิ การ Up Skill-Re Skill เพื่อทำให้ทุกคนมั่นใจว่าแรงงานก้าวทันเทคโนโลยี เขาก็จะไม่ตกงานแม้ว่าจะถูกเทคโนโลยีแย่งงาน ภาพที่เรากังวลว่าคนจนจะตกงานจะไม่เกิดขึ้น หรือการศึกษาที่ต้องมีความเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานให้คนมีสุขภาพ

“ถ้าถามว่าระบบความคุ้มครองทางสังคมจะช่วยแก้ปัญหาการตกงานได้หรือไม่ ผมตอบว่าได้แน่นอน ถ้าภาครัฐมีระบบตรงนี้ ต่อให้เป็นลูกคนจนก็จริง แต่เราจะมั่นใจได้ว่าเมื่อเขาโตขึ้นมาแล้วเขาจะมีคุณภาพและศักยภาพ ไม่ตกงาน

“ดังนั้นที่เราพูดกันมาตอนต้นว่า เด็กเกิดน้อย เศรษฐกิจจะโตช้า เกิดความเหลื่อมล้ำ ลูกคนจนจะตกงานนั้น ปัญหาทั้งหมดจะเบาบางลง ดังนั้นระบบความคุ้มครองทางสังคมจะช่วยได้แน่นอน แต่จะต้องออกแบบให้ดี”

เสาหลักที่สอง คือ ‘การประกันสังคม’ หรือ Social Insurance ซึ่งจะไม่เน้นเรื่องการเพิ่มศักยภาพเหมือนในเสาหลักแรก โดยใน Pillar นี้มองว่า ต่อให้คุณมีศักยภาพแค่ไหน ชีวิตก็ไม่มีความแน่นอน คุณอาจจะเจ็บป่วย ตกงาน หรือมีปัจจัยที่เข้ามา shock จนทำให้ชีวิตเป๋ หรือถูก disruption ไปเลย

“การมี Social Insurance จะเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยว่า สิ่งที่คุณต้องเผชิญหรือสิ่งที่เข้ามาทำให้คุณเป๋นั้น จริงๆ มันก็ไม่ได้แย่นักนะ เพราะมันมีระบบที่จะเข้ามาช่วยค้ำหรือหนุนชีวิตคุณอยู่ เช่น ในอดีตหากคุณเจ็บป่วยร้ายแรง อาจถึงขั้นครอบครัวล้มละลาย แต่ทุกวันนี้มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง เข้ามาช่วย นี่ก็ถือเป็น Social Insurance อย่างหนึ่ง”

เสาหลักที่สาม คือ ‘การสงเคราะห์’ ซึ่งมักถูกออกแบบมาให้สำหรับคนที่อาจจำกัดความว่าเป็น ‘คนที่ซวยถาวร’ ที่จำเป็นต้องได้รับมาตรการพิเศษเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นการเฉพาะ แตกต่างกับ Pillar ที่สอง คือคนที่ ‘ซวยเป็นครั้งคราว’

เสาหลักสุดท้าย คือ ‘การหางานให้เขาทำ’ ที่ถือเป็นความยั่งยืนในระยะยาว 

“เราต้องทำพร้อมกันทั้ง 4 Pillar ซึ่งหากทำได้เหมาะสม ปัญหาที่เราพูดมาตั้งแต่ต้นคือ คนสูงวัย เด็กเกิดน้อย คนจน ฯลฯ ปัญหาเหล่านั้นก็จะเบาบางลง”

5

SkillsFuture Singapore โมเดล

ว่ากันด้วยการ UpSkill-ReSkill คงไม่ได้จำเพาะเฉพาะต้องเป็นภาครัฐที่ดำเนินการ หากแต่ภาคเอกชนก็ต้องร่วมกันทำ หรือแบ่งหน้าที่กันทำควบคู่กันไป เพื่อให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม

“อย่างในประเทศสิงคโปร์จะมีโครงการที่ชื่อว่า SkillsFuture Singapore โดยภาครัฐจัดสรรงบประมาณก้อนหนึ่ง จากนั้นก็แจกเป็นคูปอง เป็นเทรนนิ่งคูปองให้กับประชาชน กล่าวคือภาครัฐไม่ได้เป็นคนลงมาเทรนด์นิ่งให้ แต่ภาครัฐเป็นคนลงมาสนับสนุน แล้วประชาชนจะเลือก training center ภาคเอกชนที่ดีมีคุณภาพเอง ทาง training center ก็จะมีกลไกการแข่งขันกันด้วยว่า ใครเทรนด์ได้ดีกว่า Upskill-Reskill ได้ตรงตามความต้องการของตลาดกว่า ซึ่งแตกต่างกับคอร์สที่จัดหรือบริหารจัดการโดยรัฐบาลเอง”

สำหรับประเทศไทย ทุกวันนี้มีคอร์สที่ดำเนินการโดยรัฐบาลเป็นจำนวนมาก เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่เขาอาจจะไม่คุ้นเคยกับตลาดเท่าใด เพราะเป็นราชการ แตกต่างกับที่ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ คือเมื่อร่วมกับภาคเอกชนโดยใช้กลไกการตลาด เขาย่อมเข้าใจความต้องการของตลาดมากกว่า 

“สำหรับประเทศไทยนั้น ถ้าแบ่งเป็นในส่วนของภาคราชการ เขาก็มีโครงการทุกปีนะ แต่ถามว่าตรงตามความต้องการตลาดไหม ส่วนภาคการเมือง-เรายังไม่ค่อยเห็น เขาไม่ค่อยให้น้ำหนักกับเรื่องเหล่านี้ อย่างปัจจุบันจะทำนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ถือเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ผมเสียดายเงิน 5.6 แสนล้านบาทมาก ถ้าเอาเงินนี้มาทำ SkillsFuture แบบสิงคโปร์ เราจะใช้เงินเพียงปีละ 7 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น โดยให้สิทธิกับคนไทยได้เกือบทั้งประเทศ

“ถ้าเราเอาเงิน 5.6 แสนล้าน มาทำโครงการ Upskill-Reskill เราสามารถทำให้คนไทยทั่วประเทศได้ถึง 8 ปี อย่างพรรคเพื่อไทยก็มีนโยบาย Upskill-Reskill คือ learn to earn แต่ที่น่าเจ็บใจคือพรรคเพื่อไทยตั้งงบประมาณเรื่องนี้ไว้ 150 ล้านบาท

“แต่พรรคเพื่อไทยจะทำสิ่งที่เรียกว่า 1 ครอบครัว 1 soft power มาตอนหลังเขาไม่ได้ใช้คำนี้แล้ว แต่ไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อน ตรงนี้ถ้าทำจริงจังก็เป็นเรื่องดี และจะเข้าข่ายคอนเซ็ปต์การ Upskill-Reskill ซึ่งจริงๆ แล้ว หากใช้ไอเดียแบบ SkillsFuture มันจะครอบคลุมทั้งหมด คือทักษะหรือสกิลใดที่เป็นความต้องการของตลาด training center เขาจะไปคิดมาเอง ซึ่งอาจจะไม่ได้จำกัดอยู่ที่ soft power แต่กลไกการตลาดจะเป็นคนดูแลเองว่า skill mix แบบไหนที่ตลาดต้องการ”

รวมทั้งสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘ครอบครัวแหวกกลาง’ คือปู่-ย่า-ตา-ยาย เป็นผู้เลี้ยงเด็กเล็กๆ แทนพ่อแม่ ซึ่งแน่นอนว่า คนสูงวัยทุกวันนี้ไม่มีทางเข้าใจเด็ก การ Upskill-Reskill คนสูงวัยให้เลี้ยงดูเด็กในปัจจุบันให้ถูกต้องเหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากด้วยเช่นกัน

4

โอนสัญชาติไทยให้เด็กต่างชาติ

ดร.สมชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ Social Insurance ของประเทศไทยนั้น ถือว่าระบบบัตรทองหรือบัตร 30 ทำได้ดีมาก และช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ดีมาก แต่มิติ Social Insurance ยังมีอีกหลายมิติ เช่น แรงงานนอกระบบที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าทำคลอดเอง ซึ่งเป็นเงินหลายหมื่นบาท

ปัญหาคือแรงงานไทยไม่ถึงครึ่งที่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ยังมีแรงงานนอกระบบอีกจำนวนมากที่ไม่อยู่ในระบบ แน่นอนเขาอาจใช้ระบบัตรทองได้ แต่คำถามคือเราจะทำอย่างไรให้ระบบประกันสังคมครอบคลุมขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งคือ ‘บำนาญผู้สูงอายุ’ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยที่สูงวัยอย่างไม่มั่นคง คือแก่แล้วไม่มีเงินเก็บ ฉะนั้นเมื่อเขาอายุยืนขึ้นแต่ไม่มีเงิน ถ้าเขาอยู่ในระบบประกันสังคมจะได้รับเงินดูแลส่วนนี้ แต่สำหรับผู้ที่อยู่นอกระบบประกันสังคมจะมีปัญหา 

 โดยสรุปคือ Social Insurance ยังไม่สมบูรณ์

อีกประเด็นที่สำคัญที่ควรพิจารณา คือกลุ่มสามีภรรยาที่มีฐานะทางสังคมดี แต่เลือกที่จะไม่มีลูก เพราะ ‘สังคมไทยไม่น่าอยู่’ ไม่มีสิทธิไม่มีเสียง ไม่มีประชาธิปไตยเต็มใบ คนไม่เท่ากัน มีมลภาวะ มีอาชญากรรม ฯลฯ ซึ่งวิธีแก้ไขเรื่องนี้ไม่ง่าย แต่ก็ต้องทำ ไม่เช่นนั้นคนก็ไม่อยากอยู่ในสังคมนี้ 

นอกจากนี้ เทรนด์ของคนยุคนี้ส่วนใหญ่ต้องการอิสระ ต้องการมีทางเลือกให้กับชีวิต แต่การมีลูก ‘ทำให้ choice หายไป’ 

ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีซึ่งเด็กเกิดน้อยมาก เหตุผลหนึ่งคือราคาที่พัก-ราคาบ้านแพงมาก เขาต้องเช่าอยู่ในห้องเล็กๆ เขาไม่อยากให้เด็กหรือลูกเกิดมาในสภาพแบบนั้น รัฐบาลเกาหลีจึงพูดในเรื่องการทำให้บ้านราคาถูกลงกันหนักมาก 

ตรงนี้สะท้อนว่าแต่ละประเทศมีโจทย์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเรื่องที่นโยบายรัฐสามารถทำได้ ก็ควรทำไป

“การมีลูกเป็นทางเลือกของเขา เราไปบังคับหรือบอกว่าเขาผิดไม่ได้ เราต้องไม่ไปก้าวล่วงเขา สิ่งที่เราทำได้คือการสร้างความมั่นใจให้เขา เพื่อให้เขาตัดสินใจและสมัครใจที่จะมีลูก ซึ่งสำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีเด็กเพิ่มมากขึ้นจริงๆ”

ถ้าทุกอย่างมันไม่สำเร็จ ส่วนตัวเสนอว่า เราโอนสัญชาติให้เด็กต่างชาติมาเป็นคนไทยได้ไหม เพราะประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติเข้ามามีลูกในประเทศไทยจำนวนมาก ผมถามเด็กเหล่านั้นว่าเขาเป็นคนที่ไหน เขาตอบว่า เขาเป็นคนไทย เขาเติบโตในประเทศไทย และพูดภาษาไทย

“แต่ไม่ใช่โอนสัญชาติมาอย่างเดียว เราต้องดูแลเขา ประคบประหงมเขาให้เติบโตขึ้นมามีคุณภาพ เพราะในอนาคตเขาก็จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและสร้างเศรษฐกิจไทย ผมเริ่มเสนอไอเดียแบบนี้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่เอา” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุ