ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เด็กเกิดน้อย” เป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญที่ปรากฏอยู่ในนโยบายเร่งด่วน 12 ประเด็นของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในข้อที่ 10 ว่าด้วยเรื่อง “ส่งเสริมการมีบุตร” 

หากมองตัวเลขเด็กเกิดใหม่จาก สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พบว่าในปี 2564 ที่ผ่านมามีอัตราเกิดจำนวน 544,570 คน เมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตจำนวน 563,650 คน นับเป็นปีแรกที่ประเทศไทยที่มีอัตราการตายมากกว่าเกิด 

เมื่อมองลงไปยังช่วงวัยที่มีแนวโน้มที่เหมาะสมต่อการมีบุตร จากข้อมูลของ กรมอนามัย สธ. ระบุว่า ควรมีอายุระหว่าง 20-34 ปี เพราะร่างกายยังมีความสมบูรณ์และยังมีแรงในการเลี้ยงบุตร ซึ่งห้วงวัยเหล่านี้อยู่ในวัยแรงงาน 

“The Coverage” ขออนุญาตต่อสายตรงถึง รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นักวิชาการที่ทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อขับเคลื่อนสวัสดิการและความเป็นธรรมให้พี่น้องแรงงานของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

อาจารย์ณรงค์ให้เกียรติพูดคุยถึงสถานการณ์ “แรงงาน” ที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ “เด็กเกิดน้อย” ตั้งแต่ปัญหาการ “ติดหล่ม” ทำงานล่วงเวลา ไปจนถึงสวัสดิการรองรับเด็กเมื่อเกิดมาแล้ว อย่าง “ศูนย์เลี้ยงเด็ก” ที่แทบจะไม่เห็นตามเขตอุตสาหกรรม รวมถึงปัจจัยสนับสนุนด้านอื่นที่เอื้อให้คนอยากมีบุตรมากขึ้น 

ระบบทุนนิยมบังคับให้ต้องทำงานล่วงเวลา

“สมมติว่าเมื่อก่อนเรามีเงิน 100 บาท ซื้อเสื้อได้ 1 ตัว ในวันนี้มีเงิน 150 บาท ก็ซื้อเสื้อได้ 1 ตัวเหมือนเดิม Money Income เพิ่มขึ้น แต่สิ่งของไม่เคยเพิ่ม เพราะเวลาปรับค่าจ้างจะปรับไล่ค่าครองชีพ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้ทุกคนต้องการรายได้เพื่อเลี้ยงชีพด้วยการทำงานล่วงเวลา” 

รศ.ดร.ณรงค์ ชี้ปัญหาและอธิบายเพิ่มเติมว่า ระบบขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รวมถึงปฏิญญาสากลจากสหประชาชาติ (UN) ต้องการให้ระบบทำงานเป็นแบบ 8-8-8 หมายความว่า 8 ชั่วโมงสำหรับทำงาน 8 ชั่วโมงสำหรับพักผ่อน และ 8 ชั่วโมง สำหรับพักหรือศึกษาหาความรู้ 

สำหรับประเทศไทยไม่ใช่แบบนั้น เพราะระบบทุนนิยมล้าหลังที่ไม่เคยยึดหลักสากล “กดดัน” ให้แรงงานต้องเลี้ยงชีพด้วย “การทำงานล่วงเวลา” บางคนอาจจะพอใจกับการทำงานวันละ 12-14 ชั่วโมง แต่ผลที่ตามมาคือการไม่รู้โลก และมีแต่ความเครียด บางครั้งอาจจบลงด้วยการดื่ม หรือระบายใส่กันระหว่าง พ่อ แม่ ลูก 

“ผมอยู่กับคนงานแบบนี้ก็จะพบว่า เด็กอายุ 4-5 ขวบ เขาก็จะด่าพ่อของตัวเองด้วยภาษาที่แม่ด่า เขาจะด่าแม่ของตัวเองด้วยภาษาที่พ่อด่า นี่คือชีวิตบัดซบของคนงานที่เราไม่เคยเข้าใจ” 

จากองค์ประกอบที่ต้องเผชิญ ทั้งค่าจ้างที่พอไม่เลี้ยงชีพ ความเครียด เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่อยากมีลูก เมื่อมีลูกก็มีความเครียด หรือมีแล้วก็อาจจะจำเป็นต้องส่งลูกกลับไปให้พ่อแม่ (ปู่ย่าตายาย) เลี้ยงดู ท้ายที่สุดก็ต้องกลับไปทำงานล่วงเวลาเพื่อส่งเงินกลับไป 

“เราจึงไม่อาจที่จะหวังให้คนงานมีการผลิตประชากรเพิ่ม เพราะว่าปัญหาค่าใช้จ่ายไม่พอเลี้ยงลูก หรือมีลูกก็มีแต่ความเครียด มันไม่มีใครอยากมีหรอก” 

มากไปกว่านั้น หากเด็กที่เกิดมาต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พ่อและแม่ต้องตื่นไปทำงานตั้งแต่เช้าจนมืดค่ำ คำถามต่อมาคือ เด็กที่เกิดมาแล้วใครจะเป็นคนเลี้ยงดู ท่ามกลางสังคมการค้าอุตสาหกรรมที่หวังประสิทธิภาพของแรงงาน เมื่อเด็กต้องโตมาแบบไร้การอบรม เช่นนี้ประสิทธิภาพของแรงงานมาจากที่ใด? 

ยิ่งกว่าการขาดแคลนบุคลากร คือบุคลากรที่มีอยู่ขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ 

รศ.ดร.ณรงค์ ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสังคมการค้าอุตสาหกรรม ทว่าคนส่วนมากยังไม่รู้จักคำว่าแรงงานและความเป็นการค้าอุตสาหกรรม ทำให้ยังคิดว่าแรงงงานคือลูกจ้าง หรือกรรมกร ขณะที่ภาษาสากลมีคำว่า “Workers” ที่ควบรวมคนทุกประเภทที่ทำงานได้ รวมทั้งข้าราชการ เช่น ข้าราชการ (Government Workers) ลูกจ้างเอกชน (Private Workers) เป็นต้น 

การที่ไม่พยายามเข้าใจวิชาการบ้าง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและคิดเสมอว่าคนงานคือกรรมกร 

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ทุกคนมีสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม” ฉะนั้นการที่จะมีสิทธิมีชีวิตรอด ต้องสามารถเข้าถึง มาตรฐานการครองชีพ (Standard of Living)” ของสังคมนั้น เพื่อเป็นหลักประกันให้แรงงานอยู่รอด หรือสืบเผ่าพันธุ์ได้ 

ถ้าอยากให้ประชากรเพิ่มก็ต้องคิดว่ามาตรฐานการดำรงชีวิตที่สามารถเพิ่มประชากรได้คืออะไร เมื่ออยากจะใช้ประโยชน์จากมนุษย์แต่ไม่ยอมลงทุนกับมนุษย์แบบนี้หมายความว่าอย่างไร อยากมีกำไร เพียงแค่ลงทุนก็ได้กำไร แต่กำไรนั้นก็มาจากมนุษย์ แล้วจะไม่ลงทุนกับมนุษย์อย่างนั้นหรือ” 

ความคุ้มครองแรงงานนอกระบบอยู่ที่ไหน ?

รศ.ดร.ณรงค์ อธิบายว่า ภาพรวมของแรงงานจะถูกเรียกว่า “กำลังแรงงาน” หรือ Labour Force ที่มีอยู่ราว 38-39 ล้านคนรวมเกษตรกร (อายุ 15-60 ปี) เมื่อจำแนกออกเป็นกลุ่มจะพบว่า เป็นลูกจ้างเอกชน 14 ล้านคน ลูกจ้างภาครัฐรวมข้าราชการประมาณ 5 ล้านคน เกษตรกรประมาณ 12 ล้านคน อาชีพอิสระ เช่น หาบเร่แผงลอย ฯลฯ ประมาณ 8 ล้านคน 

เพื่อให้เห็นภาพชัดมากขึ้น ขณะนี้ระบบประกันสังคมเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าสู่กองทุนประกันสังคมได้ทั้ง 3 มาตรา ได้แก่ ม.33 (สำหรับลูกจ้าง) ม.39 (ผู้ที่เคยทำงานและออกจากงานแต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคม) และ ม.40 (ผู้ประกันตนโดยความสมัครใจ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ) ซึ่งในตอนนี้มีผู้ที่อยู่ระบบประกันสังคมประมาณ 24 ล้านคน จากกำลังแรงงานทั้งหมด 38-39 ล้านคน ไม่รวมข้าราชการที่มีสวัสดิการจากกรมบัญชีกลาง ฉะนั้นเมื่อมองตัวเลขผู้ที่ไม่เข้าระบบจึงมีน้อยกว่ามาก 

ฉะนั้นจึงเกิดเป็นคำถามว่า “แรงงานนอกระบบ” 20 ล้านคนอยู่ที่ไหน ? 

“แรงงานนอกระบบในสังคมไทย เรามักจะตีความว่าเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน การที่ได้เข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจาก ธกส. กองทุนหมู่บ้าน จากสหกรณ์ที่มีประมาณ 6 ล้านคน แล้วถามว่านอกระบบหรือไม่ กองทุนของเกษตรกรมากกว่ากองทุนแรงงานเสียอีก นอกระบบไหม?”  

สิ่งที่จำเป็นต่อมนุษย์อาจะไม่ใช่แค่ เงิน

รศ.ดร.ณรงค์ ระบุว่า เมื่อมีปัญหาจำเป็นต้องสืบค้นไปจนถึงต้นตอ เช่นเดียวกับต้นไม้ที่ต้องหารากแก้ว ทว่าไม่เคยมีใครศึกษาจริงจังว่าปัญหาประชากรของประเทศไทย หรือสาเหตุที่ทำให้ประชากรลดคืออะไร 

ระบบทุนนิยมในปัจจุบันกดดันแรงงานมากเกินไป จนมีผลให้คนไม่อยากมีลูก และโชคร้ายที่ส่วนมากเป็นแรงงานไม่ใช่เกษตรกร ฉะนั้นเมื่อทุนนิยมพัฒนาไปอีกขั้นจะนำไปเปรียบกับขั้นเริ่มต้นไม่ได้ ขณะนี้สังคมเปลี่ยนไป มีเกษตรกรอยู่ประมาณ 12 ล้านคน หากมองชีวิตคนงานอย่างง่ายจะพบว่าอยู่ได้ด้วยการซื้อเพียงอย่างเดียว 

“เกษตรกรยังสามารถผลิตได้ แต่คนงานอยู่ได้ด้วยการซื้ออย่างเดียว ทุกอย่างที่ดำรงชีวิต ซื้ออย่างเดียว ชีวิตของเขาจึงอยู่ที่ค่าจ้างอย่างเดียว ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงของราคา เงินเฟ้อ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การดูแลการลงทุน มันมีผลกระทบทั้งหมด” 

เมื่อติดหล่มทุนนิยมที่มุ่งกำไรมากเกินไป ทำให้หลงลืมปัจจัยที่สร้างกำไร ฉะนั้นต้องคิดอยู่เสมอว่ารายได้ที่สัมพันธ์กับชีวิตคนอาจไม่ได้เป็นตัวเงิน หรือให้สิ่งของที่สามารถช่วยให้คนสามารถดำเนินชีวิตได้ หรือมีอะไรที่สามารถทำงานได้ โดยไม่ผ่านเงิน ?

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า การแจกเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการพัฒนา ขณะนี้งบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทำไมจึงไม่ส่งเสริม หรือดึงดูดให้คนอยากมีลูก 

“ถ้าเป็นผมทุกโรงงานที่มีตั้งแต่ 300 คนขึ้นไป จะสนับสนุนโดยการทำศูนย์เลี้ยงเด็กทุกโรงงาน ร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกับนายจ้าง” 

รวมไปถึงศูนย์เลี้ยงเด็กพื้นฐานในตำบล เพื่อฝึกความรู้ใหม่ๆ มากกว่าการนำกลับไปอยู่กับผู้สูงอายุ เพื่อปูพื้นฐานให้เด็กกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของสังคม ในทางกลับกันหากนายจ้างมีอาคารเหลือพอ เปลี่ยนเป็นศูนย์เลี้ยงเด็กได้หรือไม่ แล้วให้รัฐเข้ามาร่วมสนับสนุน 

“การที่คนมีสุขภาพดีขึ้น ความเครียดน้อยลง ดูแลลูกได้ดีขึ้น เป็นตัวบ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์ไม่ใช่หรือ เราไม่ใช่รัฐสวัสดิการเหมือนสวีเดน ฉะนั้นเรายังต้องพึ่งครอบครัวเป็นคนดูแลทรัพยากรมนุษย์ เราก็ต้องเอื้อให้เขาดูแลได้ แต่ทำไมถึงไม่ทำ” 

สำหรับการสร้างศูนย์เด็กเล็กสามารถนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูง หากโรงงานมีที่เหลือประมาณ 20-30 ตรว. สามารถทำร่วมกับส่วนราชการได้ 

การสร้างประชากร หรือสร้างเด็กจำเป็นต้องมีปัจจัยสนับสนุน (Supportive Factor) จะเป็นเงิน บุคลากร หรือสิ่งของที่บริจาค

ชีวิตของคนงานเชื่อมโยงกัน ทว่ากลับไม่เคยมีใครมองคนงานเป็นชีวิต เป็นสัตว์สังคมชนิดหนึ่งที่ต้องดูแล คิดแต่เพียงเป็นลูกจ้างจ่ายค่าจ้างเท่านั้น 

ผมมีลูกศิษย์เป็นนายทุน โรงงานเขา เรียกได้ว่าคนไม่ต้องสั่ง เขารักบริษัท เป็นครอบครัว ลูกเกิดที่นี่เลี้ยงดูอย่างดี มีศูนย์เลี้ยงเด็ก มีห้องให้นมลูก ไม่บังคับทำงานล่วงเวลา แล้วทำไมไม่ทำแบบนั้น ทำไมรัฐบาลไม่ทำ กระทรวงแรงงานทำอะไร กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ทำอะไร กระทรวงสาธารณสุขทำอะไรกับชีวิตคน ?” 

เราทำงานแยกชิ้นแยกส่วน ทุกคนมองไม่เห็นตัวคน เห็นแต่อวัยวะคน แล้วจะแก้อะไร?

ศูนย์เลี้ยงเด็กทั่วถึง-ปัจจัยสนับสนุน-ปลดล็อกหนี้ให้ได้หายใจ

รศ.ดร.ณรงค์ สะท้อนว่าการจะเพิ่มประชากรเด็กเกิดใหม่ต้องมีศูนย์เด็กเล็กเพื่อรองรับเด็กที่จะเกิดมา รวมไปถึงปัจจัยสนับสนุนที่ไม่ใช่แค่เงินอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการนำทรัพยากร คน สิ่งของ เงินเข้ามารองรับ และสร้างโครงการใช้หนี้พัฒนาคน ปลดล็อกหนี้นอกระบบให้แรงงานได้หายใจ เมื่อมีการลดดอกเบี้ยก็ทำให้แรงงานไม่ต้องจมอยู่กับการทำงานล่วงเวลา ไม่เป็นทาสหนี้ ลดภาระค่าใช้จ่าย ลดภาระในการเลี้ยงบุตร 

วัยที่เหมาะสมสำหรับการมีบุตรคือช่วงวัยประมาณ 25-35 ปี เพราะจะได้เด็กที่แข็งแรง และพ่อแม่มีกำลังที่จะดูแลได้ ทว่าแม้จะเป็นช่วงวัยที่เหมาะสมแต่คนก็ยังต้องทำงาน ฉะนั้นต้องทำให้เขาอยู่บ้านกับลูก มีเวลาดูแลลูก และมีความเครียดน้อยลง 

“เวลาแก้ปัญหาพวกนี้ต้องภาพรวมทั้งหมด อย่าไปติดเรื่องเด็กอย่างเดียว เพราะสัมพันธ์หมด ครอบครัว เกษตรกร ฯลฯ ฉะนั้นพูดง่ายๆ เราจะทำเรื่องเด็ก ถ้ากระทบตรงไหนก็ต้องแก้ตรงนั้นไปด้วย เป็นการแก้เชิงระบบ”

ไม่ใช่เพียง สธ. อย่างเดียว หากแต่นี่คือโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลและผู้บริหารทุกกระทรวง