ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'เด็กเกิดน้อย' กำลังเป็นวาระสำคัญที่หลายภาคส่วนในประเทศไทยให้ความสนใจ ผู้คนเริ่มตั้งคำถามถึงปัจจัยในสังคมที่จะเป็นต้นเหตุไม่เอื้อหนุนให้คนอยากมีลูก และประเด็นของ ‘รัฐสวัสดิการ’ ก็ได้รับการเพ่งเล็งในฐานะเป็นอีกหนึ่งจำเลย ว่าสาเหตุอย่างเช่น วันลาคลอดที่ไม่ยืดหยุ่น เงินอุดหนุนเด็กเล็กที่ไม่ถ้วนหน้า เหล่านี้อาจมีส่วนทำให้คนไม่อยากมีลูก

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง มุมมองของนักวิชาการด้านรัฐสวัสดิการโดยตรงอย่าง รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กลับมีมุมมองต่อเรื่องนี้ที่แตกต่างออกไป โดยเขาบอกกับ “The Coverage” ว่าปัญหาเรื่องอัตราการเกิดน้อยของคนไทย การแก้ไขด้วยด้วยการจัด ‘ระบบสวัสดิการเฉพาะ’ เพื่อกระตุ้นให้คนมีลูกนั้น ‘อาจไม่ได้ผล’

หากแต่จะต้องเป็นการยกระดับให้เกิดระบบสวัสดิการที่ดีไปพร้อมกันทั้งสังคมต่างหาก จึงน่าสนใจ

3

เด็กเกิดน้อย-สังคมอยู่ได้ ภายใต้สวัสดิการที่ครอบคลุม

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ พาเปิดประเด็นว่า แม้จะมีหลายคำอธิบายที่เชื่อมโยงอัตราการเกิดน้อยของประชากรไทย ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการสวัสดิการในประเทศ บนความคิดของคนส่วนใหญ่ที่มองว่า การมีระบบสวัสดิการในด้านการดูแลเด็กเล็กที่ดี รวมไปถึงมีระบบการเลี้ยงดูที่รัฐช่วยเหลือ น่าจะทำให้บรรยากาศความอยากมีลูกเพิ่มมากขึ้น แต่นั้นไม่ใช่การส่งเสริมที่ถูกต้องทั้งหมด

นั่นเพราะจากผลการศึกษาวิจัยที่เขาได้ร่วมกับนักศึกษาในหลายครั้ง เกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการและผลกระทบด้านแรงงานของประเทศ ได้ค้นพบว่าประเด็นของโครงสร้างประชากรที่ลดลง อัตราการเกิดต่ำ แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็มีการพัฒนาไปมากขึ้น อาจทำให้เราได้สังคมรูปแบบใหม่ ที่ลักษณะการใช้ชีวิตของประชาชนเปลี่ยนไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดประโยชน์ได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง บนฐานประชากรที่อาจลดน้อยลง

พร้อมกันนั้น เรื่องความพร้อมของช่วงอายุสำหรับหญิงไทยที่ต้องการมีลูก ซึ่งปัจจุบันถูกถ่างขยายออกไปจากเดิม จากที่คนจะตั้งท้องกันในช่วงอายุ 25-27 ปี ปัจจุบันมาตั้งท้องกันในช่วง 35 ปีขึ้นไป อีกมุมหนึ่งของเรื่องนี้คือ เด็กที่เกิดมาก็จะได้อยู่ในครอบครัวที่มีความพร้อมด้านอารมณ์มากขึ้น บนวุฒิภาวะที่สูงขึ้นตามอายุไปด้วย

“พ่อแม่ที่ตั้งท้องตอนอายุ 30 กว่าปี ก็จะเลี้ยงลูกบนฐานของเหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ มีความเข้าใจและอดทนได้มากกว่า เด็กที่เกิดมาก็อาจมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากครอบครัวที่เลี้ยงดูอย่างเข้าใจมากขึ้น” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ขยายมุมมอง

จากประเด็นความคิดเหล่านี้ทำให้เขาพาเรามองต่อไปถึงในอีกด้าน ที่แม้ว่าในอนาคตประชากรจะลดลง จำนวนแรงงานถดถอยลง ประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดดูเหมือนเป็นความน่ากลัว หากอันที่จริงแล้วกลับเป็นโอกาสที่รัฐบาลอาจใช้ความเสี่ยงนี้ เปลี่ยนมุมมอง วิธีคิด กระบวนการในการจัดสรรทรัพยากร รวมถึงการจัดทำ ‘สวัสดิการที่เหมาะสมอย่างเท่าเทียม’ ให้กับประชากรในประเทศที่จะมีจำนวนลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะประชากรที่ลดลง หมายถึงการแย่งชิงทรัพยากรที่ลดลงไปด้วยเช่นกัน

ดังนั้นในมุมของ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ จึงมองว่าการแก้สวัสดิการที่เป็นเหตุให้อัตราการเกิดน้อย จะไม่ใช่ทางแก้ไขทั้งหมด อีกทั้งในหลายประเทศก็เผชิญกับปัญหาแบบเดียวกัน ต่อให้ประเทศนั้นๆ มีรัฐสวัสดิการที่ดีก็ตาม นั่นจึงอยู่ที่การบริหารจัดการเพื่อให้ชีวิตของประชาชนในประเทศมีคุณภาพที่ดีที่สุด และเท่าเทียมกันที่สุด

เขายังมองด้วยว่า ความกังวลหรือความกลัวเรื่องโครงสร้างประชากรทั้งหมดนี้ มาจากฝ่ายนโยบาย รวมถึงนักวิชาการบางส่วน ที่มองว่าหากไม่แก้ไขด้วยการเพิ่มอัตราการเกิด ความสมดุลของสัดส่วนประชากรในอนาคตจะมีปัญหา

อย่างไรก็ตาม ในมุมของเขาเชื่อว่า หากอัตราการเกิดน้อยของประชากรไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมทั้งหมด อีกทั้งสังคมไทยก็ไม่ได้มีเงื่อนไขว่าระบบทุกอย่างจะต้องล้มลง หากไม่เพิ่มการเกิด

ฉะนั้น รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ จึงเสริมว่าในยุคปัจจุบันนั้น สังคมไม่ได้มองมายังเรื่องของสวัสดิการที่จะต้องเพิ่มขึ้นหรือจัดการให้เหมาะสมกับปัญหาใดปัญหาหนึ่งโดยเฉพาะ แต่สังคมกำลังมองถึงระบบสวัสดิการพื้นฐาน ที่ประชาชนจะต้องได้รับเท่าเทียมกันทุกคน

“เพราะเมื่อมีระบบสวัสดิการดีที่รัฐได้สร้างให้อย่างครอบคลุม สังคมก็จะดีตามไปด้วย ซึ่งทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น มีทางเลือกมากขึ้นในการวางแผนชีวิตที่ดีสำหรับตัวเอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การวางระบบสวัสดิการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาพรวมของประเทศ จะช่วยแก้ทุกจุดที่เป็นปัญหาของสังคมได้ รวมถึงเรื่องอัตราการเกิดน้อยที่เรากำลังกังวลด้วยเช่นกัน” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ตอกย้ำ

2

ประชากรน้อย จัดสรรทรัพยากรลงตัว ช่วยแก้ปัญหาได้

ภาพอนาคตของแรงงานในประเทศ บนฐานจำนวนประชากรที่เกิดน้อย สำหรับมุมมองของ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ แล้ว จึงอาจไม่ใช่ภาพที่น่ากลัว หากมีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากพอ

เขาขยายความให้เห็นว่า ในสังคมของประเทศใดก็ตามล้วนมีการเปลี่ยนแปลงในด้านพัฒนาการอยู่แล้ว ทั้งผลิตภาพจากทุกภาคส่วน ด้วยระยะเวลาทำงานเท่าเดิมแต่ได้ผลผลิตที่มากขึ้นจากเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยผู้คน ดังนั้นแล้วมนุษย์ก็ควรจะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น

“อัตราการเกิดน้อยลง แต่เทคโนโลยีพัฒนาไปมากขึ้น ซึ่งเราเลือกเอาเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมกับจำนวนประชากรของเราได้ อีกทั้งการแข่งขันต่างๆ ก็จะลดลง และมีการจัดสรรที่ดีมากกว่าเดิม ผมมองว่ามันไม่ได้น่ากลัว เพียงแต่ปัจจุบันเรากำลังเอาเงื่อนไขนี้มาสร้างความกลัว สร้างความคิดว่ากำลังจะเดินไปสู่วันสิ้นโลก” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ระบุ

ในอีกด้านหนึ่ง เขามองว่ารัฐบาลสามารถดูแลประชากรในจำนวนนี้ได้ทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบที่ดูแลคนสูงวัยได้อย่างดี ไม่เป็นภาระให้กับคนทำงาน ส่วนคนในวัยทำงานก็มีสวัสดิการที่อุดหนุนทุกด้าน ซึ่งจะส่งผลทำให้วางแผนชีวิตได้ รวมทั้งการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ อย่างเท่าเทียม

“เหมือนกับในช่วงระยะหลัง เรามีเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ทั้งระบบการสื่อสารทางไกล เทคโนโลยีการแพทย์ ทุกอย่างคือดอกผลที่ประชาชนควรจะได้รับ เพื่อสร้างสังคมที่ดีในภาพรวม” อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มธ. เน้นย้ำ

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ตอกย้ำอีกว่า เมื่อเราได้สังคมที่ดีแล้ว ทางเลือกในการวางแผนชีวิตของประชาชนก็จะมีเพิ่มขึ้นในทุกด้าน ไม่จำกัดอยู่เพียงว่าต้องไปผลิตลูกอย่างเดียว เพราะเมื่อมีสวัสดิการที่ดี ช่วงชีวิตในวัยทำงานก็ยังมีโอกาสได้ลองทำในสิ่งที่หลากหลายอย่างสบายใจ และประชาชนก็อาจมีลูกเมื่อมีอายุที่มากขึ้นได้ โดยสิ่งที่ได้คือความพร้อมทางวุฒิภาวะ ลูกที่เกิดมาก็จะได้รับการเลี้ยงดูที่ดี ดังนั้นความพร้อมทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับความพร้อมของจิตใจ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

“ไม่ใช่เพราะว่าอัตราการเกิดน้อย แล้วรัฐบาลไปกระตุ้นการเกิดอย่างเดียว แต่หากบริหารจัดการระบบสวัสดิการทางสังคมที่ดี ทั้งหมดจะส่งผลดีต่อภาพรวมของประเทศ อย่างที่บอกเอาไว้ว่าระบบที่ดี จะแก้ไขทุกข้อต่อของปัญหา ซึ่งรัฐบาลจะต้องจัดสรรและจัดการบริหารสวัสดิการให้ดีเพื่อยกระดับสังคมและประเทศในภาพรวมทั้งหมด” เขาอธิบาย

นักวิชาการด้านรัฐสวัสดิการรายนี้ ยังกล่าวด้วยว่า ทรัพยากรของประเทศไทยนั้นมีเพียงพอกับคนทุกคน หากรัฐบาลมีการจัดสรรอย่างเหมาะสม แต่ทว่าฐานความคิดจากฝ่ายนโยบายและฝ่ายการเมืองในปัจจุบัน อาจเป็นอุปสรรคในการจัดทำรัฐสวัสดิการที่ดีสำหรับประชาชน

เนื่องด้วยบริบทการเมืองของไทยในปัจจุบันที่ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ มองว่าเป็นรัฐบาลผสมที่อาจมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์จากการทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องทุ่มไปกับอุดมคติทางการเมือง ฉะนั้นเพดานประสิทธิภาพของการเมืองจึงอาจลดลง หรือนโยบายที่เชื่อมต่อมายังสังคมในระยะยาวก็อาจไม่ได้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือโครงการเมกะโปรเจกต์จำนวนมาก เพราะเป็นผลประโยชน์ที่จับต้องได้มากกว่าเรื่องสวัสดิการ ที่ดอกผลจะงอกเงยในอีก 5-10 ปี ซึ่งภาคการเมืองอาจมองว่าไกลเกินไป

“เทียบการสร้างถนน สร้างสนามบิน กับการเพิ่มสวัสดิการ เช่น ลาคลอด อุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ความแตกต่างของประโยชน์ที่จับต้องได้เลย สำหรับการเมืองมันชัดเจน สวัสดิการตอบแทนได้ช้า ไม่เหมือนกับการสร้างถนน ทำโครงการขนาดใหญ่ แต่ในมุมการสร้างประชากรให้มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ด้วยการจัดสวัสดิการที่ดีที่จะทำให้สังคมดี ก็จะไม่ได้เกิดขึ้นด้วย” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ให้ภาพ

2

มุมมองยุคใหม่ ต้องให้สวัสดิการที่ดีทั้งสังคม

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ยังสะท้อนไปถึงมุมมองที่น่าสนใจจากคนรุ่นใหม่ ซึ่งในปัจจุบันเกือบทั้งหมดมองไปที่การได้มีชีวิตที่ดีอยู่ในสังคมที่ดี และสภาพสังคมที่แย่อยู่ทุกวันนี้ก็ไม่ใช่ความผิดของเขา มากไปกว่าเรื่องของระบบสวัสดิการ

ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ที่เป็นแรงงานในอาชีพต่างๆ ได้มีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น หลากหลายขึ้น ซึ่งนับเป็นอีกมุมที่ดีในการสร้างพลังการต่อรองทางการเมือง เพื่อสังคมที่ดีกว่าเดิม หรือทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ไปยังฝ่ายนโยบายได้อย่างดี

ในขณะที่ภาคการเมือง รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ระบุว่า รัฐบาลเองมุ่งหวังว่าจะมีประชาชนที่เป็นคนเก่ง มีบุคลากรอัจฉริยะที่จะมาช่วยยกระดับประเทศได้ ทว่าอันที่จริงแล้วหากทำให้สังคมมีระบบที่ดีและเท่าเทียมกัน ก็จะพร้อมยกระดับประชากรทั้งสังคมให้ดีกว่าได้ในภาพรวม

ทั้งนี้ ในมุมต่างประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดี ตัวอย่างเช่นกลุ่มประเทศนอร์ดิก รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ระบุว่าจากการได้พูดคุยกับนักวิชาการจากประเทศนอร์เวย์ ซึ่งมีระบบการศึกษาที่เท่าเทียมกัน โดยถามว่าเมื่อเด็กได้เท่ากันทั้งหมด หากมีอัจฉริยะเกิดขึ้นจะทำอย่างไร ดูแลเด็กคนนั้นแบบใด

สำหรับคำตอบคือ พ่อแม่ทุกคนล้วนเชื่อว่าลูกของพวกเขาคืออัจฉริยะอยู่แล้ว ซึ่งในความจริงเด็กต้องการเพียงเรื่องพื้นฐาน ความอิ่มท้อง ความปลอดภัย แต่สิ่งที่เรียกว่าอัจฉริยะ จะมาจากครอบครัว กลุ่มเพื่อน และแน่นอนว่าทั้งหมดโยงกลับไปหาเรื่องการได้อยู่ในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดี ที่รัฐบาลจัดการให้

“ทุกวันนี้เรามุ่งสร้างเด็กอัจฉริยะอย่างเดียว คัดและกรองเด็กเก่งด้วยการมีโรงเรียนพิเศษต่างๆ ระบบอย่างนี้ผิดไปหมด ที่ต้องการเด็กอัจฉริยะเหล่านี้มาเปลี่ยนประเทศ แต่ในความจริงเด็กต้องการสังคมที่ปลอดภัย การเปลี่ยนสังคมไปสู่สิ่งที่ดีจะเกิดได้จากคนธรรมดา ไม่ใช่เด็กอัจฉริยะ ซึ่งก็จะกลับมาที่เรื่องของการเมืองที่ดี รัฐจัดสรรสวัสดิการที่ดี มีนโยบายที่เชื่อมสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต คนรุ่นใหม่ก็จะอยู่ในสังคมที่ดีอย่างเท่ากันหมด สังคมก็จะพัฒนาได้ เพราะคุณภาพชีวิตของผู้คนดี” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ย้ำทิ้งท้าย