ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอมานพ’ เผย เทคโนโลยีการแพทย์เจริญพันธุ์มีไว้ช่วยคนมีบุตรยาก แต่แก้ปัญหาการเกิดน้อยทั้งประเทศไม่ได้ ย้ำหมอช่วยได้แค่ปลายทาง แต่ต้นทางปัญหารัฐบาลต้องแก้เชิงนโยบาย ชี้ปัจจัยสังคม-เศรษฐกิจเป็นตัวแปรใหญ่ทำคนไม่อยากมีลูก ชี้ยิ่งกระตุ้นประเทศด้านเศรษฐกิจ-ด้านบริการ ยิ่งทำให้คนมีลูกน้อยลง 


ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์แต่ละประเทศทัดเทียมกัน ทั้งในด้านความสามารถ คุณภาพ หรือนวัตกรรมต่างๆ ที่นักวิจัยได้คิดค้นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ รวมไปถึงเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้มีอัตราการเกิดของประชากรด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีที่ช่วยในการเจริญพันธุ์ ต้องใช้กับกลุ่มที่มีปัญหาในด้านการเจริญพันธุ์ เช่น คู่สมรสที่อยากมีลูก แต่มีลูกยาก หรือแท้งบ่อย ซึ่งไม่ใช่ความเจ็บป่วยหรือเป็นปัญหาสุขภาพ โดยมีทั้งกระตุ้นการตกไข่ หรือการทำเด็กหลอดแก้ว แต่เทคโนโลยีเจริญพันธุ์ไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาทั้งหมด และในทางการแพทย์มองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ปัจจัยหลักคือปัญหาทางสังคม และเศรษฐกิจ ที่ทำให้ประชากรไม่อยากจะมีลูก 

ศ.นพ.มานพ กล่าวอีกว่า ฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหาการเกิดของประชากร รัฐบาลจะต้องแก้ในเชิงนโยบาย เพราะปัญหานี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการแพทย์ หรือการสาธารณสุขอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวกับเรื่องของสวัสดิการทางด้านสังคม สิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐเอื้ออำนวยให้ประชากรมีบุตรมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยจำต้องแก้ปัญหาในส่วนนั้น ควบคู่ไปกับการยกระดับเศรษฐกิจ รวมถึงต้องระวังการพัฒนาประเทศที่จะเกิดขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งจะมีผลต่อการเกิดของประชากรด้วยเช่นกัน 

"เทคโนโลยีการแพทย์ จะเข้ามามีบทบาทในปลายทางของปัญหา เช่น ในเมื่อสถานการณ์การเกิดน้อยอยู่แล้ว ก็ต้องใช้เทคโนโลยีการแพทย์ องค์ความรู้ความสามารถของแพทย์มาช่วยให้เด็กที่เกิดใหม่มีคุณภาพ มีสุขภาพแข็งแรง ลดความพิการทางกายและสมอง เพื่อให้เป็นเด็กที่มีคุณภาพออกมาสู่สังคม แต่ภาพรวมการแก้ปัญหาการเกิดทั้งหมด จะต้องแก้ในเชิงนโยบาย

"ปัญหาการเกิดน้อยของประชากร ไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้นที่เจอปัญหา แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่เผชิญปัญหาเดียวกัน โดยเฉพาะกับประเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเร่งด่วน จะเจอปัญหาประชากรที่ไม่สัมพันธ์กันในแต่ละช่วงอายุ ทั้งคนสูงวัยที่จะมีจำนวนมากขึ้น ประชากรวัยทำงานลดลง ประชากรเกิดใหม่มีการเติบโตช้า หรือชะลอตัว และเข้าสู่สถานการณ์ประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นปัญหาใหม่ที่แต่ละประเทศกำลังเผชิญ และต้องเตรียมการรับมือ" ศ.นพ.มานพ ระบุ

ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ ที่ปัจจุบันมีอัตราการเกิดใหม่น้อยที่สุดในโลก และปัญหาประชากรเกิดใหม่ของเกาหลีใต้ยังหนักหน่วงกว่าญี่ปุ่น ซึ่งการลดลงของประชากร รวมถึงสัดส่วนการเกิดใหม่ของประชากรจะช้ากว่า 

ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่มีการวิเคราะห์กัน เป็นเพราะเกาหลีใต้มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ซึ่งในด้านเศรษฐกิจถือว่าเป็นเรื่องดี ที่มีทั้งเทคโนโลยี และด้านซอฟท์พาวเวอร์ แต่ยังมีด้านมืดในประเด็นด้านสังคม ที่ทำให้คนอยากมีลูกน้อยลง ทำให้เกาหลีใต้มีอัตราการเกิดของประชากในครอบครัวหนึ่งเหลือแค่ 0.6 คน สวนทางกับการกระตุ้นของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ต้องการให้คู่สมรสมีบุตรอย่างน้อยครอบครัวละ 2 คน 

"สังคมเมือง สังคมเศรษฐกิจที่อิงเรื่องอุตสาหกรรม การค้า งานบริการที่มากขึ้น ก็จะไม่ใช่สังคมเศรษฐกิจที่อิงกับแรงงาน ดังนั้น แต่ละครอบครัวก็อาจมองว่าไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกครอบครัวให้มากเพื่อมาช่วยทำงาน อีกทั้งเมื่อเป็นสังคมที่คู่สมรสเรียนสูงขึ้น มีการทำงานทั้งคู่ ก็ทำให้การอยากมีลูกลดลง เพราะเมื่อตั้งครรภ์ต้องหยุดงาน เสียรายได้ และยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งก็เป็นตัวแปรและปัจจัยที่ทำให้คนเลือกจะไม่มีลูก ซึ่งเป็นเหมือนกันทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว" ศ.นพ.มานพ  กล่าว

ศ.นพ.มานพ กล่าวเสริมอีกว่า แต่ละประเทศที่เจอปัญหาการเกิดน้อยของประชากรทั้งในเอเชีย และยุโรป พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีที่คล้ายกัน ทั้งมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วยการลดหย่อนให้กับครอบครัวที่มีบุตรมากขึ้น เพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับผู้หญิงตั้งครรภ์ เช่น ลางานได้นานขึ้นแต่ยังได้ค่าจ้าง รวมถึงยังเชื่อมสิทธิประโยชน์มายังสามี กรณีที่ภรรยาตั้งครรภ์เพื่อให้ดูแลเช่นกัน ซึ่งไม่ต่างกันรวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ทั้งนี้ มาตรการต่างๆ จะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็อยู่ที่ปัจจัยทางสังคมของแต่ละประเทศที่จะเอื้อต่อมาตรการต่างๆ ได้หรือไม่