ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ (Aged Society) และกำลังจะกลายเป็น ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ (Super Aged Society) คือมีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ ภายในปี 2030

แน่นอน สิ่งที่ตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงคือภาระงบประมาณค่ารักษาพยาบาลที่ภาครัฐต้องแบกรับ

เมื่อไม่นานมานี้มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นถึงทางรอด โดยระบุว่า การลงทุนในเรื่องของนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์และแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมมากขึ้น เป็นสิ่งที่ “คุ้มค่า” เมื่อเทียบเคียงกับค่าตอบแทนทางสังคม (SROI) ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ “ควรทำ” 

สอดรับกับข้อมูลจากงานเสวนาหัวข้อ “การลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ ด้วยการเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์และแพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่จัดขึ้นโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น บริษัทซีเมด เมดิคอล จำกัด และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 10 ก.ค 2566 

1

กำหราบมะเร็งท่อน้ำดี

รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มต้นบอกเล่าถึงสถานการณ์มะเร็งท่อน้ำดีว่า เรื่องของปัญหาพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดีเป็นปัญหาสาธารณสุขที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่ถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งท่อน้ำดี 1.6-2 หมื่นรายต่อปี ซึ่งหากไม่รีบเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยทั้งหมดจะสามารถเสียชีวิตได้ภายใน 1 ปี

ประเทศไทยมีการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุดในโลก คิดเป็นจำนวน 85 รายต่อประชากร 1 แสนประชากร ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากเมื่อเทียบกับประชากรในประเทศตะวันตกที่มีอัตราการป่วยอยู่ที่ 2 รายต่อประชากร 1 แสนประชากร 

สำหรับพื้นที่ในประเทศไทยที่มีผู้ป่วยที่ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีมากที่สุดคือภาคอีสาน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารที่เป็นปลาน้ำจืดชนิดเกล็ดขาวแบบดิบหรือสุกๆ ดิบๆ มีการประมาณการว่าผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะมีอยู่ประมาณ 8-10 ล้านราย

ในส่วนของวิธีการแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การป้องกันขั้นที่ 1 (Primary prevention) ที่เป็นการป้องกันระยะที่ยังไม่มีโรคเกิดขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะเน้นเรื่องของการปรับวงจรชีวิตของพยาธิ เช่น โครงการปลาปลอดพยาธิ ส่งเสริมการศึกษาเพื่อให้เยาวชนตระหนักรู้ถึงปัญหา และจัดการระบบสุขาภิบาลต่างๆ เพื่อกำจัดวงจรชีวิตของพยาธิ 

ถัดมาเป็นการป้องกันขั้นที่ 2 (Secondary prevention) ที่เป็นการป้องกันเมื่อโรคเกิดขึ้นแล้ว ได้แก่ การวินิจฉัย แรกเริ่มและให้การรักษาทันที มีการคัดกรองพยาธิและคัดกรองมะเร็ง และเข้าสู่กระบวนการรักษา ทำในเรื่องของการคัดกรองมะเร็งด้วยการอัลตราซาวนด์

สุดท้ายก็คือ การป้องกันขันที่ 3 (Tertiary prevention) เป็นการป้องกันระยะที่มีความพิการหรือป่วยมาก เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของโรค

รศ.ดร.วัชรินทร์ กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายหลักในตอนนี้คืออยากจะทำเรื่องมะเร็งท่อน้ำดีกลายเป็นนโยบายระดับชาติ และอยากจะให้ประชาชนได้รับการดูแลและได้รับการตรวจคัดกรอง เพราะถ้าหากสามารถดำเนินการคัดกรองและตรวจรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ระยะแรกได้จะสามารถประหยัดงบประมาณได้หลายพันล้านบาทต่อปี 

รศ.ดร.วัชรินทร์ เสนอว่า สปสช. ควรปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1. เปลี่ยนวิธีการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ ปัจจุบันสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองใช้วิธีการตรวจอุจจาระ แต่หากเทียบกับประชากร 8-10 ล้านคน การตรวจคัดกรองจากอุจจาระคงไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด ควรเปลี่ยนเป็นวิธีตรวจด้วยชุดตรวจปัสสาวะ (OV-RDT) ซึ่งใช้เวลาเพียง 5-10 นาที โดยในอนาคตอาจจะใช้วิธีกระจายไปตามร้านขายยาทั่วไปเหมือนกับชุดตรวจโควิด-19 (ATK) 

2. การคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วย ‘เครื่องอัลตราซาวนด์’ ซึ่งพบว่า หากมีการคัดกรองด้วยวิธีนี้เกิดขึ้น จะช่วยคัดกรองมะเร็งในระยะ 0-2 ได้ นำไปสู่การรักษาโดยใช้เวลาผ่าตัดเพียง 4 ชั่วโมงและไม่ต้องให้ยาบำบัดหลังการผ่าตัด อีกทั้งยังมีอัตราการรอดตายค่อนข้างสูง

แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับผู้ป่วยที่ไม่ได้คัดกรอง ซึ่งจะเข้าสู่ระยะที่ตัวเหลือง ตาเหลือง มีอาการท้องมาน (Ascites) การผ่าตัดจะไม่มีผลดีมากนัก หลังผ่าตัดต้องทำการเคมีบำบัดและอัตราการรอดน้อย 

3

เอกชน ยังต้องการแรงสนับสนุน

ฟากฝั่งภาคเอกชน คือน้ำเสียงที่ควรค่าแก่การรับฟัง เพราะนี่คือฟันเฟืองขนาดใหญ่ที่หมุนเศรษฐกิจและขับเคลื่อนประเทศ

ธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์ กรรมการบริษัทซีเมด เมดิคอล จำกัด เล่าว่า บริษัทได้ผลิตนวัตกรรมเป็นจำนวนมาก เช่น รถเข็นแบบยืนได้ ซึ่งปัจจุบันได้รับการบรรจุให้เป็นสิทธิพื้นฐานของคนพิการ คือคนพิการสามารถนำบัตรประชาชนไปขอรับรถเข็นฟรีจากทางภาครัฐได้ รวมถึงการประดิษฐ์พัฒนาเครื่องยกย้ายผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ 

ธีรพงศ์ บอกว่า ปัจจัยความสำเร็จของบริษัทคือโอกาสได้เข้าถึงการสนับสนุนของภาครัฐ ส่วนความท้าทายคือ 1. การขาดเงินทุน 2. โอกาสที่จะเข้าถึงตลาดที่มีการผูกขาดไว้แล้วยากมาก 3. มาตรฐานเครื่องมือแพทย์ที่มีราคาแพงมาก ดังนั้นหากทางภาครัฐมีกลไกอื่นเข้ามาสนับสนุน ณ จุดนี้ก็จะทำให้บริษัทนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์จากคนไทยสามารถเข้าถึงสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น

สำหรับสิ่งที่ภาครัฐควรสนับสนุนภาคเอกชน ‘ธีรพงศ์’ บอกว่า ภาครัฐควรสนับสนุนลเรื่องกับการวิเคราะห์ตลาด ในส่วนของเทคโนโลยี และผู้ใช้ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การสนับสนุนเงินทุนสำหรับผู้ที่เริ่มสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในระดับนักศึกษา รวมทั้งควรส่งเสริมการร่วมมือของหน่วยงานเอกชนและศูนย์การวิจัย 

สิ่งสุดท้ายคือ การเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ให้มีช่องทางที่สามารถเข้ามาขอการสนับสนุนจากภาครัฐได้ รวมถึงต้องทำให้มีการเข้าถึงทุนวิจัยของภาครัฐ

“รัฐต้องมีการจัดทำฐานข้อมูลและเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วยระบบดิจิทัล เพราะทุกวันนี้เมื่อเข้าไปค้นทางอินเทอร์เน็ตจะพบว่า ไม่มีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องรถเข็นเลย ทั้งที่มีสิทธิจะได้รับสิ่งเหล่านี้ตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่เขากลับต้องเปิดรับบริจาคเพื่อหาเงินไปซื้อหาเอาเอง” ธีรพงศ์ ระบุ

3

บัญชีนวัตกรรม กับบัตรทอง

ทางด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. หนึ่งในผู้บริหารหน่วยงานรัฐรูปแบบใหม่ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือ 30 บาท) บอกเล่าผ่านเวทีเสวนาว่า โจทย์สำคัญของ สปสช. คือการทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่แล้วโดยไม่มีภาระ เพราะถึงแม้ในปัจจุบันประชาชนจะเข้าถึงการรักษาโดยไม่เสียค่ารักษาได้ แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ เช่น 

ค่ารถ ค่าเสียโอกาสในการทำงาน ฯลฯ

ทพ.อรรถพร ให้ภาพว่า ปัจจุบัน สปสช. มีความพยายามทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิประโยชน์มากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือรายการที่เรียกว่า ‘รายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียม’ ซึ่งเดิมที สปสช. เปิดให้โรงพยาบาลเป็นผู้จัดหาอย่างอิสระ และ สปสช. เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ แต่ต่อมาพบว่า บางรายการเป็นรายการซึ่งเกิดขึ้นจากชิ้นงานวิจัย แต่ไม่มีโอกาสที่จะได้เข้ามาเพราะหน่วยบริการเองอาจจะมีความคุ้นชินกับบริษัทเดิมมากกว่า จนกระทั่งมีสิ่งที่เรียกว่า ‘บัญชีนวัตกรรม’ ขึ้นมา สปสช. จึงใช้โอกาสนี้ดำเนินการใช้ของที่ผลิตในประเทศไทย เช่น รากฟันเทียม ที่เป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรม 

“นอกจากนี้ สปสช.ยังได้ขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) เป็นนโยบายสำคัญ ดังนั้นอะไรก็ตามที่เป็น P&P สามารถพิสูจน์ได้ว่า การเข้าสู่ระบบการรักษาตั้งแต่ต้น โรคนั้นก็จะหาย ไม่ควรปล่อยให้เป็นเยอะจนถึงระยะสุดท้ายแล้วค่อยรักษา เพราะค่าใช้จ่ายจะเยอะและผู้ป่วยก็จะได้รับความทรมาน ” ทพ.อรรถพร กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวด้วยว่า ปัญหาของการของการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคคือ แม้ว่าจะมีการกำหนดเป็นสิทธิประโยชน์แล้ว แต่หากหน่วยบริการยังไม่ทัศนคติ ยังคงยึดติดกับระบบงานเดิมก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ปัจจุบันมีการผลิตยาเพิ่มเม็ดเลือดจะใช้ในผู้ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ในไทยผลิตได้แต่ว่าในกลุ่มแพทย์มีข้อสงสัยว่าประสิทธิภาพจะเป็นอย่างไร ใช้แล้วผู้ป่วยจะเกิดอาการผิดปกติหรือเปล่า จึงทำให้เกิดการกระตุ้นได้ยาก ดังนั้นจึงต้องได้รับการร่วมมือจากทุกฝ่ายจึงจะภารกิจจึงจะสำเร็จได้