ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากกล่าวถึงความสามารถในการพึ่งพาตนเองของประเทศชาติแล้ว อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุขเป็นหนึ่งในลำดับแรกๆ ที่ควรส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้และพึ่งพาตัวเองได้

นั่นเพราะ ศักยภาพทางด้านการแพทย์ของไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก มีบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความสามารถไม่แพ้ใคร

หากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังและเป็นระบบ เชื่อว่าจะช่วยให้เกิด “นวัตกรรม” หรือผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ “ฝีมือคนไทย” ขึ้นอีกจำนวนมาก ที่สำคัญก็คือจะลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้อย่างมหาศาล

กลไกที่ช่วยส่งเสริมการใช้งานนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ของคนไทยคือ บัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งรวบรวมสิ่งประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมของคนไทยในด้านต่างๆ เอาไว้

เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมไทย กฎกระทรวงการคลังจึงกำหนดเอาไว้ว่า หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจต้องซื้อผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมไทย 30% ของการซื้อทั้งหมด

แน่นอน ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการแพทย์ก็อยู่ในบัญชีนวัตกรรมฯ นี้ด้วย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานผลิตภัณฑ์ของคนไทยผ่านกลไกบัญชีนวัตกรรมฯยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น “The Coverage” จึงได้พูดคุยกับ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ปัจจุบัน ศ.ดร.ไพรัช ดำรงตำแหน่งประธานคณะทำงานชุดเครื่องมือแพทย์ ในโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)

อะไรคือโอกาสและอุปสรรค สถานการณ์ของผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์ที่ผลิตโดยคนไทยจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามได้จากบรรทัดถัดไป

ใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศ ดันอุตสาหกรรมทะยาน

ศ.ดร.ไพรัช เริ่มต้นที่แนวคิดของบัญชีนวัตกรรมไทยก่อนว่า ที่ผ่านมามีความสงสัยว่าเหตุใดต่างประเทศถึงเติบโตในด้านอุตสาหกรรมได้ เมื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักวิจัยนโยบายก็ได้คำตอบว่าประเทศทั่วๆ ไปมักจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นหรือเป็นนวัตกรรมในประเทศก่อน

จากการศึกษาตัวอย่างจากประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ใช้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองเป็นสำคัญ พยายามทำเองโดยไม่ต้องนำเข้า ตอนนั้นคนก็บอกว่าลอกเลียนประเทศอื่นมา ล้อเลียนว่าเป็นของไม่ดี หรือในไต้หวันช่วงปี 1970 คนไทยก็มักดูแคลนว่าทำ PC ปลอม แต่ในที่สุดไต้หวันก็เก่งเรื่องไมโครชิพมาก และโมเดลแบบนี้ก็เกิดกับเกาหลีเช่นกัน

ล่าสุดคือจีน เมื่อปี 1989 ประชาชนที่นั่นยังขี่จักรยานเต็มกรุงปักกิ่ง แต่ปัจจุบันจีนสามารถทำรถไฟความเร็วสูงได้ ส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดาวอังคารได้

“คำถามคือทำไมเขาทำได้ ยกตัวอย่างเช่นจีน เราชมว่าจีนเก่งแต่ก็ไม่ได้ศึกษาว่าเขาทำได้อย่างไร ถ้าเราไปตลาดรัสเซียในกรุงปักกิ่งก็จะเห็นของปลอมเยอะแยะไปหมด แต่จริงๆ เขาศึกษาและหัดทำ แนวทางแบบนี้เราไม่ควรเรียกว่าเลียนแบบที่ถูกต้องเรียกว่าวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse engineering)

“อย่างรถไฟความเร็วสูง เขาก็ซื้อของเยอรมันมาก่อน จนกระทั่งปี 2014 เขาก็ตัดสินใจทำเอง แสดงว่าได้ศึกษาของที่นำเข้ามาหมดแล้วก็สร้างอุตสาหกรรมจนทำรถไฟความเร็วสูงได้ แล้วยังทำได้ในระดับ World Class ไม่แพ้ใคร เขาไม่ได้เลียนแบบแต่ทำวิศวกรรมย้อนกลับ” ศ.ดร.ไพรัช ระบุ

ศ.ดร.ไพรัช สรุปบทเรียนว่า ตัวอย่างเหล่านี้มีข้อสอนใจ 2 ข้อ คือ 1. ประเทศเหล่านี้ก็ทำสิ่งที่คนอื่นเคยทำมาก่อน แต่เขาทำ เขาศึกษา และรู้ว่าเป็นความจำเป็นของประเทศก็เลยทำ ฝรั่งเรียก Reverse engineering หมายความว่าทำเหมือนคนอื่นแต่ไม่ได้ลอกแบบ สมมุติไทยอยากทำรถยนต์ เราก็ทำได้โดยอาจไปอ่านสิทธิบัตรใคร แต่ทำอย่าให้ไปผิดสิทธิบัตรเขา 2. ทำแล้วทำให้ประเทศดีขึ้นตามความต้องการของประเทศ

เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย “ศ.ดร.ไพรัช” ถ่ายทอดจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า ก่อนหน้านี้ สวทช.มีโครงการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในการสร้างเครื่อง CT Scanner ในราคาที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ แต่ทำไมคนของภาครัฐไม่ซื้อ พอได้คุยกับนักวิจัยนโยบายก็ถึงบางอ้อว่า ไม่มีประเทศไหนที่จะไม่ซื้อของในประเทศ มีแต่ไทยที่นิยมใช้ของต่างประเทศมากกว่าของคนไทยเอง

ประจวบกับในตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งรัฐบาล คสช.และได้คณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศขึ้นมาโดยตนเองก็เป็นหนึ่งในกรรมการด้วย ได้มีเสนอแนวคิดเรื่อง “บัญชีนวัตกรรมไทย” ให้คณะกรรมการพิจารณา

โดยมีหลักการว่า ถ้าคนไทยสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบหรือนวัตกรรมได้เองและมีประสิทธิภาพไม่แพ้ของจากต่างประเทศ ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และแข่งขันด้านราคาได้ ถ้าผ่าน 3 ข้อนี้แล้ว สามารถขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยได้เพื่อให้ภาครัฐซื้อผลิตภัณฑ์ของคนไทย

“ตอนที่เสนอเข้าคณะกรรมการฯ ก็บอกว่าเอาสัก 10% ของสินค้านั้นก็พอ แต่กรรมการก็ปรับเป็น 30% เราไม่อยากเสนอ 100% เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นและอยากทิ้งส่วนที่เหลือไว้สำหรับสินค้าต่างประเทศเพื่อเปรียบเทียบกัน ก็เลยเป็นที่มาของบัญชีนวัตกรรมไทยและประกาศเป็นกฎกระทรวงการคลังไปแล้ว มีกรรมการบัญชีนวัตกรรมไทย มีการทำบัญชีขึ้นมา” ศ.ดร.ไพรัช เล่า

อย่างไรก็ดี แม้แนวคิดเรื่องบัญชีนวัตกรรมจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยังเป็นเรื่องใหม่และคนอาจยังไม่ค่อยเข้าใจ การขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยคนไทยจึงยังมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง 

พัฒนาเครื่องมือแพทย์ฝีมือไทย สธ.-สปสช.ต้องให้ข้อมูล

“เมื่อปีก่อนผมได้รับการเชิญให้ไปร่วมโครงการ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งมีคณะทำงานหลายชุด ผมได้ไปช่วยในคณะทำงานชุดเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ ปรากฎว่าเครื่องมือแพทย์ที่มีในรายการบัญชีนวัตกรรมไทยมีการซื้อกันไม่ถึง 2% ผลิตภัณฑ์ที่พอขายได้ก็มีพวกเก้าอี้ทำฟัน รวมทั้งวัสดุด้านกระดูกต่างๆ ก็เลยถามว่าเกิดอะไรขึ้น คนไม่รู้จักหรือไม่เชื่อมั่นผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ไทยก็เลยไม่ซื้อ” ศ.ดร.ไพรัช กล่าว 

เพื่อสนับสนุนให้คนรู้จักและเชื่อมั่นผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ฝีมือคนไทยจนเกิดการใช้งานได้จริง “ศ.ดร.ไพรัช” ได้เสนอให้มีกลไกคณะทำงานขึ้นมา

คณะที่ 1 คือคณะทำงานชุดนโยบายและฐานข้อมูล ทำนโยบาย กลยุทธ์ ฐานข้อมูล เพื่อป้อนให้กับคณะทำงานชุดอื่นๆ

คณะที่ 2 ทำงานที่รวบรวมนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย รายชื่อหน่วยงานที่สนับสนุนงบวิจัย ทำฐานข้อมูลว่ามีการผลิตงานวิจัยกี่เรื่องต่อปี และพิจารณาความเป็นไปได้ว่าจะนำไปสู่การจดสิทธิบัตรได้หรือไม่

คณะที่ 3 ว่าด้วยมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ รวบรวมรายชื่อหน่วยงานด้านมาตรฐานการแพทย์ในประเทศไทยว่ามีที่ไหนบ้าง แล้วเอานวัตกรรมที่มีไปรับการทดสอบมาตรฐานต่างๆ ให้หมด

คณะที่ 4 จะเป็นชุดที่สร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ไทย โดยสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อนำผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานให้โรงพยาบาลทดลองลองใช้ และให้มีข้อมูลกลับมาว่าต้องปรับตรงไหนบ้าง

คณะที่ 5 ดูแลบัญชีนวัตกรรมไทย

“พอเข้าไปอยู่ในบัญชีนวัตกรรมแล้วก็ไปถึงคณะชุุดที่ 6 คือชุดการตลาด คือดูว่าเมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆ มาหมดแล้วทำไมโรงพยาบาลถึงไม่ซื้อเพราะอะไร ซึ่งต้องซื้อให้ได้ 30% ตามที่กฎกระทรวงการคลังกำหนด นี่คือขั้นตอนที่ออกแบบไว้และจะเสนอเข้าให้คณะกรรมการชุดที่มีท่านรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน ถ้าได้รับการเห็นชอบก็จะขอแต่งตั้งคณะทำงานชุดต่างๆขึ้นมาปฏิบัติ" ศ.ดร.ไพรัช กล่าว

ศ.ดร.ไพรัช กล่าวอีกว่า ถ้าสามารถดำเนินการตามการทำงานของชุดที่ 2 ถึง 6 นี้และได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง เชื่อว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ฝีมือคนไทยสามารถตั้งหลักได้ หากสามารถทำได้ตามเป้าก็จะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เวลาเกิดวิกฤตขึ้นมาก็สามารถยืนบนขาตัวเองได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้จริง เพราะเป็นผู้ใช้ผลิตภัณฑ์โดยตรง

ขณะเดียวกัน ในอนาคตทางฝ่ายนักวิจัยก็อยากได้ข้อมูลจาก สธ.และ สปสช. ด้วยว่าปัจจุบันมีการใช้ผลิตภัณฑ์อะไรมากที่สุดต่อปี เช่น น้ำยาล้างไต สเต็นท์ ข้อเข่าเทียมเป็นต้น

“ตัวเลขเหล่านี้จะถูกนำมาจัดลำดับความสำคัญ ประมาณ 5-10 รายการ เพื่อเป็นตัวตั้งให้หน่วยงานที่สนับสนุนทุนมาวิจัยได้สนับสนุนในเรื่องเหล่านี้ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัย สปสช. และ สธ. ร่วมมือให้ข้อมูล” ศ.ดร.ไพรัช ระบุ