ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2566 องค์การอนามัยโลก (WHO) และคณะกรรมาธิการยุโรป ประกาศร่วมกันที่จะพัฒนาสุขภาพดิจิทัล โดยจะนำเครือข่าย “ใบรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์” หรือ Digital certification network ของสหภาพยุโรป มายกระดับการควบคุมและป้องกันโรคให้ประเทศในภูมิภาคอื่นๆ 

ใบรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์ คือระบบยืนยันหรือพิสูจน์ตัวตนบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งสหภาพยุโรปนำมาปรับใช้ในการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 เรียกกันว่า EU Digital COVID-19 Certificate หรือ EU DCC

ระบบดังกล่าวรวบรวมและระบุสถานะการรับวัคซีนของประชากร ผลการตรวจเชื้อและการรักษา ซึ่งเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการเดินทางข้ามประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป และมีการเชื่อมต่อฐานข้อมูลระหว่างประเทศ ซึ่งเปิดสู่สาธารณะและมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง

นี่เป็นตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อป้องกันโรคที่ได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ 

องค์การอนามัยโลกจะนำองค์ความรู้ หลักการ และเทคโนโลยีใบรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์ใช้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ส่งออกสู่ประเทศสมาชิกที่ต้องการพัฒนาระบบยืนยันตัวตนด้านสุขภาพ ผ่านการทำงานร่วมกับรัฐบาลของแต่ละประเทศ 

นอกจากนี้ ยังจะนำระบบนี้มาต่อยอดในการจัดทำเครือข่ายใบรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ใช้ในการติดตามและดูแลประชากรที่มีการเคลื่อนย้ายข้ามประเทศ และป้องกันการระบาดของโรคในอนาคต 

เธียรรี เบรทอน (Thierry Breton) คณะกรรมการตลาดภายใน แห่งคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยว่า มีประมาณ 80 ประเทศที่เชื่อมต่อระบบใบรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์กับสหภาพยุโรป ซึ่งส่งเสริมการเดินทางและการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ทั้งนี้ สหภาพยุโรปมีความยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์กับนานาประเทศ

ภายใต้ความร่วมมือ องค์การอนามัยโลกได้ตั้งโครงการเครือข่ายใบรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์โลก หรือ Global Digital Health Certification Network (GDHCN) ซึ่งจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านดิจิทัลสุขภาพออกมาหลังจากเดือน มิ.ย. เป็นต้นไป

“เราจะทำให้ประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลสุขภาพอย่างเท่าเทียม มีความโปร่งใส และปกป้องสิทธิส่วนบุคคล” นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่แห่งองค์การอนามัยโลกกล่าว

“ผลิตภัณฑ์ด้านดิจิทัลสุขภาพที่เรากำลังพัฒนาอยู่นี้ มีเป้าประสงค์ที่จะทำให้ผู้คนในทุกที่เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ทันแวลา และมีประสิทธิภาพดียิ่งกว่าเดิม” 

ความร่วมมือด้านดิจิทัลสุขภาพเป็นผลต่อเนื่องมาจากเซ็นต์ข้อตกลงระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรปและองค์การอนามัยโลก ในวันที่ 30 พ.ย. 2565 เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในด้านต่างๆ 

ข้อตกลงนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ EU Global Health Strategy ซึ่งนำประเด็นด้านสุขภาพเข้ามาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เน้นที่การสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้คนทั้งโลก 

“ความร่วมมือนี้เป็นก้าวสำคัญสำหรับยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของเรา เราจะแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติของเราให้กับโลก และให้ประโยชน์กับคนที่ต้องการสุขภาพดิจิทัล” สเตลลา ไคเรียไคดส์ (Stella Kyriakides) คณะกรรมการสุขภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร แห่งคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าว

“นี่เป็นตัวอย่างที่มีพลัง เมื่อสหภาพยุโรปและองค์การอนามัยโลกมีแนวทางที่สอดคล้องกัน ก็จะสามามารถสร้างผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีสำหรับทุกคนได้ ทั้งในสหภาพยุโรปเอง และทั่วโลก” 

อ่านข่าวต้นฉบับที่
https://www.who.int/news/item/05-06-2023-the-european-commission-and-who-launch-landmark-digital-health-initiative-to-strengthen-global-health-security