ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักเศรษฐศาสตร์ชี้การรับรองกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นชัยชนะของชาวฟิลิปปินส์ นับจากนี้ต้องหาแหล่งทุนเพื่อความยั่งยืน ด้าน สส.ฟิลิปปินส์เผย กฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังคงขาดงบประมาณอีก 170,000 ล้านเปโซ กำลังพิจารณาเพิ่มรายได้โดยดึงงบประมาณจากภาษีบาป

philstar.com รายงานสถานการณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศฟิลิปปินส์ที่เพิ่งเริ่มว่ายังมีปัญหาขาดงบประมาณ โดยประธานกรรมาธิการสาธารณสุขฟิลิปปินส์เผยว่ากฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังคงขาดงบประมาณอีก 170,000 ล้านเปโซ

แองเจลินา ตัน สมาชิกสภาจากรัฐเกซอน เผยว่า การขยายบริการสุขภาพจำเป็นต้องใช้งบประมาณถึง 270 ล้านเปโซใน 1 ปีหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยแจงว่า ในปีนี้โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีรายรับราว 100,000 ล้านเปโซจากรายได้และเงินอุดหนุนจากรัฐวิสาหกิจประกันสุขภาพของทางการ 

ผู้แทนจากรัฐเกซอนเสริมว่าผู้สนับสนุนโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้ากำลังพิจารณาเพิ่มรายได้โดยดึงงบประมาณจากภาษีบาป

อีกด้านหนึ่งนายฟรานซิสโก ดุคที่ 3 รมว.สาธารณสุขฟิลิปปินส์มีความเห็นแย้งเกี่ยวกับตัวเลขงบประมาณดังกล่าว โดยชี้ว่าโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำเป็นต้องใช้งบประมาณ 257,000 เปโซในปีนี้  ซึงสภาคองเกรสได้จัดสรรงบประมาณไปแล้ว 217,000 ล้านเปโซ ทำให้ยังคงเหลือตัวเลขขาดดุลราว 40,000 ล้านเปโซ

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า รมว.สาธารณสุขอ้างตัวเลข 217,000 ล้านเปโซดังกล่าวจากข้อมูลใด เนื่องจากที่ผ่านมาสภาคองเกรสได้อนุมัติงบประมาณเพียง 67,400 ล้านเปโซสำหรับระบบประกันสุขภาพ (PhilHealth) และ 98,600 ล้านเปโซสำหรับกระทรวงสาธารณสุขสำหรับแผนงบประมาณในปี 2562 นี้ ซึ่งในงบประมาณสำหรับกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวมีงบประมาณสำหรับคลินิกประจำหมู่บ้านและโรงพยาบาลประจำจังหวัดในสัดส่วนราว 21,500 ล้านเปโซ

ทั้งนี้ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีเป้าหมายเพื่อให้ชาวฟิลิปปินส์สามารถเข้าถึงบริการ PhilHealth โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สส.ตันกล่าวว่าผู้ใช้บริการจะต้องขึ้นทะเบียนการรักษาฟรีกับคลินิกประจำหมู่บ้าน ซึ่งบริการที่จะได้รับนั้นประกอบด้วยการรักษาเชิงป้องกัน การรักษาโรค การบำบัดฟื้นฟู และการรักษาสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยครอบคลุมบริการทางการแพทย์ ทันตกรรม สุขภาพจิต และบริการฉุกเฉิน

“จากความจำเป็นที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลสำหรับผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้โครงการนี้ต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐเป็นหลัก การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลกลางจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของโครงการ” นางตันกล่าว

สส.ตันเผยด้วยว่าวุฒิสมาชิกโจเซฟ วิคเตอร์ อีเฮอร์ซิโต และวุฒิสมาชิกแมนนี ปาเกียวได้เสนอร่างกฎหมายขึ้นภาษีบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบ

“เราจำเป็นต้องอุดช่องโหว่งบประมาณด้วยการขึ้นภาษีบาปค่ะ”

สส.ตันและวุฒิสมาชิกปาเกียวได้เสนอขึ้นภาษีบุหรี่จากซองละ 32.50 เปโซเป็น 60 เปโซ ขณะที่วุฒิสมาชิกอีเฮอร์ซิโตต้องการให้ปรับขึ้นไปถึง 90 เปโซ ซึ่งแม้กระทรวงการคลังฟิลิปปินส์มีท่าทีสนับสนุนแนวคิดของสส.ตันและวุฒิสมาชิกปาเกียว แต่คณะกรรมาธิการสภาภายใต้การนำของ สส.เอสเตรลลิตา ซูแอนซิง จากรัฐนูเอวาเอซิฮาได้เสนอให้ปรับขึ้นภาษีด้วยตัวเลขกระจิดริดเพียง 2.50 เปโซ

สส.ตันและผู้สนับสนุนต่างแสดงความผิดหวังต่อข้อเสนอดังกล่าว โดยได้แต่ฝากความหวังกับวุฒิสมาชิกอีเฮอร์ซิโตและวุฒิสมาชิกปาเกียวเพื่อผลักดันการเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นเมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา

อีกด้านหนึ่งนายอาร์เจย์ เมอร์คาโด นักเศรษฐศาสตร์กลุ่ม Action for Economic Reforms (AER) ชี้ว่ากฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำเป็นต้องอาศัยแหล่งทุนที่ยั่งยืน

“การรับรองกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นชัยชนะของชาวฟิลิปปินส์ทั้งมวล ซึ่งถือเป็นผลงานสำคัญของฝ่ายปฏิรูปในกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง และสภาคองเกรส”

“เราขอเรียกร้องให้วุฒิสภาผ่านกฎหมายขึ้นภาษียาสูบและเหล้าในอัตราที่สูงเพื่อที่จะรับประกันแหล่งทุนสำหรับโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งด้วยวิธีนี้จะทำให้ไม่ต้องเบียดเบียนงบประมาณจากหน่วยงานอื่นซึ่งต่างก็มีภาระด้านงบประมาณสำหรับแผนงานและโครงการของตนเอง”

เมอร์คาโดยังทิ้งท้ายว่าการขึ้นภาษีบาปในอัตราก้าวกระโดดในอีกทางหนึ่งยังเป็นการกันผู้บริโภคออกจากบุหรี่และเหล้าซึ่งอันเป็นบ่อเกิดของโรคร้ายด้วย

แปลจาก www.philstar.com เรื่อง ‘Expanded health care lacks P170 billion’