ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาสูงฟิลิปปินส์ลงมติเป็นเอกฉันท์รับร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหลังประธานาธิบดีโรดรีโก ดูเตอร์เตชี้ว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน

The Manila Times รายงานเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 ว่า วุฒิสมาชิกฟิลิปปินส์ลงมติเป็นเอกฉันทน์ 14-0-0 เสียงรับรองร่างรัฐบัญญัติของวุฒิสภาที่ 1896 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ชาวฟิลิปปินส์สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพในราคาที่เอื้อมถึงโดยเท่าเทียมกัน โดยมีขึ้นหลังได้รับจดหมายจากประธานาธิบดีดูเตอร์เตซึ่งระบุว่าการผ่านร่างรัฐบัญญัติ 1896 มีความจำเป็นเร่งด่วน

วุฒิสมาชิกโจเซฟ วิคเตอร์ อีเฮอร์ซีโตซึ่งสนับสนุนร่างรัฐบัญญัติ 1896 เผยว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายบริการของระบบสาธารณสุขฟิลิปปินส์ (PhilHealth) ให้ครอบคลุมการให้คำปรึกษา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และบริการด้านการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างถึงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของฟิลิปปินส์ซึ่งชี้ว่าประชาชนต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยราวคนละ 6,345 เปโซ (ราว 10,375 บาท) ในปี 2559 หรือสูงขึ้นราวร้อยละ 8.7 จากรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 5,840 เปโซ (ราว 9,550 บาท) เมื่อปี 2558

สว.อีเฮอร์ซีโตกล่าวว่าชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่มาพบแพทย์เอาก็ต่อเมื่ออาการรุนแรงจนถึงที่สุดแล้วเนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านการรักษาพยาบาลจากรัฐ

“ร่างกฎหมายนี้จะรับประกันว่าข้อจำกัดด้านการเงินจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาพยาบาลสำหรับเพื่อนร่วมชาติของเรา” สว.อีเฮอร์ซีโตซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการวุฒิสภาด้านสาธารณสุขและประชากรเผย

ร่างรัฐบัญญัติ 1896 ระบุว่าชาวฟิลิปปินส์ทั้งหมดอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ว่าจะเป็นผู้จ่ายตรง (ผู้ที่สามารถจ่ายเบี้ยประกัน) หรือผู้จ่ายทางอ้อม (ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น ผู้ยากไร้ หรือผู้สูงอายุ) 

โดยประชาชนสามารถใช้บริการสุขภาพปฐมภูมิได้แม้ไม่มีบัตรประจำตัว (PhilHealth identification card) ขณะที่ประชาชนซึ่งไม่มีรายชื่อใน PhilHealth ก็สามารถใช้บริการรักษาพยาบาล (ภายหลังออกเป็นกฎหมาย) จากการปรับสัดส่วนการอุดหนุนเบี้ยประกันอันเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายงบประมาณ  

ร่างบัญญัติยังกำหนดให้ปรับปรุงอัตราส่วนแพทย์ต่อผู้ป่วย เสริมเตียงและอุปกรณ์ในโรงพยาบาล  รวมถึงก่อตั้งโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์กำหนดอัตราส่วนแพทย์ต่อผู้ป่วยไว้ที่ 1 ต่อ 33,000 รายและอัตราส่วนเตียงต่อประชากรที่ 1 ต่อ 1,121 ราย ซึ่งในย่านกรุงมะนิลานั้นอัตราส่วนเตียงต่อประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 1 ต่อ 591 รายขณะที่ในเขตปกครองตนเองเกาะมินดาเนาลดฮวบมาที่ 1 ต่อ 4,200 ราย นอกจากนี้ยังกำหนดให้บัณฑิตในสาขาด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากสถานศึกษาของรัฐหรือได้รับทุนจากรัฐจะต้องทำงานใช้ทุนในโรงพยาบาลรัฐอย่างน้อย 3 ปี

ด้านวุฒิสมาชิกริซา ฮอนตีเวโรส หนึ่งในผู้ร่างบัญญัติ 1896 เปิดเผยว่ามาตรการดังกล่าวยังมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการให้บริการสุขภาพที่กระจัดกระจาย  โดยวางกรอบการทำงานเพื่อบูรณาการระบบสุขภาพในระดับจังหวัดและเมืองใหญ่

 “กฎหมายนี้พยายามแก้ไขอุปสรรคในระบบอภิบาลสุขภาพ ทรัพยากรบุคคลด้านสุขภาพ ระเบียบปฏิบัติ การให้บริการ  ตลอดจนข้อมูลด้านสุขภาพซึ่งขัดขวางการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลสำหรับชาวฟิลิปปินส์”  สว.ฮอนตีเวโรสทิ้งท้าย

 

แปลจาก Senate OKs universal health bill: www.manilatimes.net