ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จนถึงขณะนี้ “ฟิลิปปินส์” ถือเป็นประเทศที่ถูกโควิด–19 โจมตีหนักที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อเหยียบ 2 แสนคน และยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ

ทั้งที่ห้วงเวลาก่อนหน้า ประธานาธิบดี “โรดริโก้ ดูเตอร์เต” ประกาศมาตรการ “ล็อคดาวน์” ที่ว่ากันว่าเข้มข้นมากที่สุด ยาวนานตั้งแต่เดือน มี.ค. - มิ.ย.

แต่การล็อคดาวน์ ก็ไม่ใช่คำตอบ เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่ตามมารุนแรงเกินไป จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สามารถจัดการการเคลื่อนย้ายของประชากรได้อย่างจริงจัง

นั่นทำให้การระดม “เทสต์” การปิดกั้นพื้นที่ ไม่ได้ผลอย่างในหลายประเทศ

ขณะเดียวกัน ปัญหาอีกอย่างที่รุมเร้าก็คือ “ความเหลื่อมล้ำ” ด้านระบบสาธารณสุข ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าระบบสุขภาพของฟิลิปปินส์นั้น “เปราะบาง” มาก ผู้มีรายได้น้อย-คนยากจนมีสิทธิเข้าถึงการรักษาน้อย เนื่องจากยังต้องเสียค่ารักษาพยาบาลราคาแพง

ประกอบกับจำนวนหน่วยบริการของรัฐไม่เพียงพอกับจำนวนคนไข้ หมอ-พยาบาล-บุคลากรทางการแพทย์ มากกว่า 70% ทำงานในภาคเอกชน ซึ่งได้รับเงินเดือนสูงกว่า มีเพียง 30% เท่านั้น ที่ทำงานในระบบโรงพยาบาลรัฐ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเดินหน้าระบบสาธารณสุขได้เต็มที่

นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ ยังประสบปัญหา “สมองไหล” บุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 1.3 หมื่นคน ออกไปทำงานต่างประเทศ ตัวเลขล่าสุดก็คือฟิลิปปินส์นั้นขาดแคลนบุคลากรกลุ่มนี้ มากกว่า 2.9 แสนคน

รัฐบาลดูเตอร์เต ดูเหมือนจะรู้ปัญหาเหล่านี้ดี ปี 2561 ที่ผ่านมา เขาใช้ “ช่องทางพิเศษ” เร่งผ่านกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในรัฐสภา ซึ่งจะทำให้คนฟิลิปปินส์ เข้าถึงการ “รักษาฟรี” เป็นครั้งแรก และช่วงต้นปี 2562 นโยบายก็เริ่มมีผลในทางปฏิบัติ

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า “เฟสแรก” ให้สิทธิตั้งแต่การรับวัคซีน การตรวจสุขภาพ ไปจนถึงการรักษาโรคเรื้อรัง โรคที่มีความซับซ้อน

รวมถึงยังขยายสิทธิประกันสังคม หรือระบบ PhilHealth ซึ่งนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ร่วมกันจ่ายสมทบ ให้ครอบคลุมการตรวจสุขภาพ ตรวจแล็ป อีกด้วย

ในปีแรก รัฐบาลฟิลิปปินส์สมทบงบประมาณทั้งหมด 2.57 แสนล้านเปโซ (1.53 แสนล้านบาท) ลงไปในระบบ และกำลังขยับขยาย เพิ่มเป็น 2.8 แสนล้านเปโซ ด้วยงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวระยะเริ่มต้นที่ 2,448 เปโซ (ประมาณ 1,442 บาท) และในปีที่ 2 อยู่ที่ 2,667 เปโซ (ประมาณ 1,593 บาท)

แต่ปัญหาเดิม สำหรับประเทศที่ “ตั้งไข่” ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังคงอยู่ นั่นคือ “ระบบบริการ” ยังคงไม่เพียงพอ จำนวนคนไข้มากกว่าจำนวนบุคลากร และแน่นอน เงินค่ารักษา ก็ยังไม่ครอบคลุมบรรดาโรคค่าใช้จ่ายสูง หรือการบริการที่ซับซ้อนขนาดนั้น

ยิ่งเจอวิกฤตที่ไม่ได้รับมือไว้ล่วงหน้าอย่างโควิด–19 ระบบบริการสาธารณสุข ยิ่งประสบปัญหาหนัก โรงพยาบาลล้นแน่นมากขึ้น หลายเมืองจำนวนเตียงไม่เพียงพอ จำนวนเครื่องช่วยหายใจก็ขาดแคลน ระบบโครงสร้างพื้นฐานล้มเหลวไปหมด

เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฟิลิปปินส์ มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 3,000 คน

อย่างไรก็ตาม "ฟรานซิสโก ดูเก้" รมว.สาธารณสุขของฟิลิปปินส์ บอกว่า ในสถานการณ์ “วิกฤต” ด้านสาธารณสุขที่กำลังถาโถมเข้าสู่ฟิลิปปินส์อย่างสาหัสอยู่ในขณะนี้ มี “โอกาส” ซ่อนอยู่

ในการประชุม Webinar ที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา “ดูเก้” บอกว่า ยิ่งโควิด – 19 สร้างความเสียหายมากเท่าไหร่ ยิ่งเร่งเร้าให้ฟิลิปปินส์ พัฒนาระบบ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ได้ดียิ่งขึ้น

“แม้ว่าโควิด – 19 จะทำให้เห็นจุดอ่อนของระบบสุขภาพของเรา แต่ก็ทำให้เราเห็นความจริงว่า เราควรปรับปรุงแก้ไขจุดไหน และทำให้เราเห็นความสำคัญของกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เร่งขยายนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานนัก” รมว.สาธารณสุขฟิลิปปินส์ ระบุ

ทั้งนี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มุ่งหวังจะให้คนฟิลิปปินส์ทุกคน เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ และจะเปลี่ยน “แนวคิด” เกี่ยวกับระบบสุขภาพทั้งหมด จากการ “รักษา” ที่โรงพยาบาล ไปสู่การเริ่มต้นที่ระบบสุขภาพปฐมภูมิ

ทั้งยังมุ่งหวังในการเปลี่ยนรูปแบบจากการรักษาแบบอเมริกัน ที่คนไข้ “บายพาส” การรักษาจากหน่วยบริการตามขั้นตอน ผ่านระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไปสู่การรักษาตาม “ลำดับขั้น” มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่

ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ ตั้งข้อสังเกตว่า พร้อมทำข้อมูลสรุปมาแล้วว่า เหตุที่คนฟิลิปปินส์ ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตัวเอง ในอัตราที่สูงมากนั้น ก็มาจากการ “บายพาส” ข้ามขั้นไปรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ และโรงพยาบาลเอกชนนั่นเอง

“ดูเก้” บอกอีกว่า ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น คนฟิลิปปินส์ทุกคน จะมี “บุคลากรสาธารณสุข” ประจำตัว เปรียบเสมือน “หมอครอบครัว” เป็นคนที่สามารถติดต่อได้ และเข้าถึงได้เป็นอันดับแรก โดยระบบสุขภาพปฐมภูมิ จะช่วยพาผู้ป่วย จัดสรรให้ “ลงล็อก” ว่าควรจะใช้ช่องทางหน่วยบริการแบบไหน แทนที่จะเดินไปรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ด้วยตัวเอง

ระหว่างการระบาดของโควิด – 19 นั้น ยิ่งทำให้เห็นว่า ระบบสุขภาพ “ปฐมภูมิ” นั้น มีความหมายเพียงใด โดยบรรดาบุคลากรสาธารณสุข และรัฐบาลท้องถิ่น ต่างก็ทำหน้าที่อย่างเข้มข้น ในการตามหาผู้ติดเชื้อ และผู้สงสัยว่าจะสัมผัสโรค

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้จัดตั้ง One Hospital Command Center เพื่อจัดการระบบ “ส่งต่อ” สถานพยาบาลสำหรับผู้ที่ติดเชื้อในมะนิลา เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลหลัก ขณะเดียวกัน ยังช่วยอำนวยความสะดวก ในการรับผู้ป่วยจากบ้าน เพื่อส่งต่ออีกด้วย

ทั้งหมดนี้ “ดูเก้” บอกว่า จะเป็นโอกาสสำคัญ ให้รัฐบาลพัฒนาระบบ “Single Command” ด้านสาธารณสุข เพื่อรองรับในช่วงเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินแบบนี้ และพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อลดระยะห่างระหว่าง “ชุมชน” และบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพมากยิ่งขึ้น

เป็นความท้าทายสำคัญ ในช่วงเวลา “หลังโควิด-19” ที่ต้องอาศัยทั้งการลงทุน และการลงแรงครั้งสำคัญ จากรัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย