ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกและภาคี ร้องขอมิให้ประเทศสมาชิกร่วมมือ-รับเงินทุนสนับสนุนจาก "อุตสาหกรรมยาสูบ" หรือองค์กรอื่นในเครือ หลังมีความพยายามบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของเครือข่ายควบคุมยาสูบ


เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2566 องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยแพร่บทความที่ระบุถึงความกังวล ในความพยายามอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมยาสูบและตัวแทน ในการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของตน ไม่ว่าจะเป็นการชี้นำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การชี้นำมุมมองของภาคประชาชน การชี้นำการกำหนดนโยบาย และการชักนำสื่อ พร้อมระบุว่า การกระทำทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ และเพิ่มจำนวนยอดขายของผลิตภัณฑ์นิโคตินและผลิตภัณฑ์ยาสูบทั้งสิ้น

WHO ระบุว่า อุตสาหกรรมยาสูบยังไม่ลดละความพยายามที่จะขยายการให้ข้อมูลเท็จผ่านทางสื่อต่างๆ ซึ่งรวมถึงการโจมตีองค์กรที่ทำงานด้านการควบคุมยาสูบอย่างรุนแรงเมื่อไม่นานมานี้ด้วย อุตสาหกรรมยาสูบเป็นเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่จะได้รับผลประโยชน์โดยการบ่อนทำลายองค์กรที่ทำงานด้านการควบคุมยาสูบ

ขณะเดียวกัน มีความขัดแย้งที่หยั่งรากลึกและไม่สามารถประนีประนอมได้ระหว่างผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบ และนโยบายสาธารณะด้านสาธารณสุข องค์การอนามัยโลกจึงร้องขอให้ประเทศสมาชิกให้การรับรองว่าจะไม่มีการร่วมมือกับ หรือมีการรับเงินทุนสนับสนุน จากอุตสาหกรรมยาสูบหรือองค์กรอื่นในเครือ

"ประชาคมโลกต้องไม่ลืมว่า อุตสาหกรรมยาสูบได้ปฏิเสธอย่างเปิดเผย ว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่มีความเชื่อมโยงกับโรคมะเร็ง และกล่าวอ้างอย่างเป็นเท็จว่า ควันบุหรี่มือสองนั้นไม่อันตราย" WHO ระบุ

WHO ยังระบุด้วยว่า บริษัทบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์นิโคตินอื่นๆ ยังคงมีพฤติกรรมชี้นำและให้ข้อมูลเท็จอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยไม่เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นสารเสพติด ในขณะที่โฆษณาผลิตภัณฑ์อันตรายเหล่านี้โดยพุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน อุตสาหกรรมยาสูบจึงไม่ควรมีบทบาทในนโยบายการควบคุมยาสูบ หรือนโยบายลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (harm reduction)

ดังนั้น อุตสาหกรรมยาสูบไม่ควรเป็นภาคีกับโครงการใดที่เชื่อมโยงกับการจัดตั้งหรือดำเนินการนโยบายด้านสาธารณสุข เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบนั้นขัดแย้งกับเป้าหมายทางสาธารณสุข ซึ่งหลายทศววรษแห่งพฤติกรรมหลอกลวงเป็นข้อพิสูจน์ว่า อุตสาหกรรมยาสูบเห็นผลกำไรสำคัญกว่าสุขภาพของประชาชน

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยาสูบใช้กลยุทธหลากหลายที่จะแทรกแซงการกำหนดมาตรการและการดำเนินงานมาตรการควบคุมยาสูบ หนึ่งในกลยุทธนั้น คือการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือขององค์การอนามัยโลกและภาคีเครือข่าย เพื่อใช้ประชาชนตั้งข้อสงสัยว่ามีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ใดที่พิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบและนิโคตินมีอันตราย

ในทางกลับกัน องค์การอนามัยโลกและกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ใช้วิธีการทางหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อช่วยเหลือชีวิตมาแล้วนับล้านทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ประชาคมโลกต้องร่วมกันคุ้มครองการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นข้อตกลงทางกฎหมายระดับนานาชาติที่กำลังจะครบรอบ 20 ปี นับตั้งแต่ผ่านการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก

สำหรับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมยาสูบไม่เข้ามาแทรกแซงในนโยบายด้านสาธารณสุข ข้อ 5.3 ของกรอบอนุสัญญากำหนดไว้ว่า การดำเนินนโยบายสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบนั้น ภาคีจะต้องกระทำการคุ้มครองนโยบายดังกล่าวจากผลประโยชน์ทางการค้าและผลประโยชน์อื่นๆ ที่มีของอุตสาหกรรมยาสูบ แนวทางการดำเนินนโยบายตามข้อ 5.3 ของกรอบอนุสัญญาช่วยให้ประเทศสมาชิกจำกัดการมีปฏิสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมยาสูบและปฏิเสธการเป็นภาคีกับอุตสาหกรรมยาสูบ

องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานภาคีด้านการควบคุมยาสูบ ยังคงยืนหยัดในนโยบายที่อิงหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อลดการใช้ยาสูบ อาทิเช่น มาตรการควบคุมยาสูบ MPOWER ซึ่งสนับสนุนการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกอย่างเต็มรูปแบบ การทำงานขององค์การอนามัยโลกและเครือข่ายควบคุมยาสูบได้เสริมสร้างสาธารณสุขให้แข็งแกร่ง ตลอดจนได้คุ้มครองกว่าห้าพันล้านชีวิต โดยผ่านทางมาตรการควบคุมยาสูบ

"ย่างก้าวที่ยิ่งใหญ่ในการควบคุมยาสูบนี้ ยังคงถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง โดยการรณรงค์โฆษณามูลค่านับพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ของอุตสาหกรรมยาสูบ องค์การอนามัยโลกและภาคีควบคุมยาสูบไม่ทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมยาสูบและไม่รับเงินทุนสนับสนุนจากอุตสาหกรรมยาสูบ หรือจากองค์กร หรือจากบุคคลที่ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบ" WHO ระบุ