ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จ.ลำพูน หนุนพรรคการเมืองทำนโยบายเงินบำนาญผู้สูงอายุ ชี้ตัวเลข 3,000 บาทต่อคน หรือวันละ 100 บาท มีความเหมาะสม เชื่อ หากการเมืองเอาจริง สามารถจัดการงบประมาณได้แน่นอน


นางยุพา สุขเรือง คณะกรรมการเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จ.ลำพูน ในฐานะคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาชนผู้ติดเชื้อภาคเหนือตอนบน เปิดเผยกับ The Coverage ตอนหนึ่งว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่พรรคการเมืองจะดำเนินนโยบายบำนาญผู้สูงอายุ หรือบำนาญประชาชน ตามที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ สามารถเปรียบเทียบบำนาญผู้สูงอายุเหมือนกับ ‘ปิ่นโตข้าว’ ที่มี 3 ชั้น ชั้นแรกเป็นข้าวเปล่า ชั้นที่ 2 เป็นกับข้าว ส่วนชั้นที่ 3 จะเป็นข้าวเปล่า กับข้าว หรือของหวานก็ได้ ซึ่งในระบบบำนาญประชาชน จะหมายถึงว่า ประชาชนมีข้าวเปล่า เป็นของตัวเองทุกคนเพื่อความอยู่รอด ส่วนชั้นที่ 2 -3 จะมีสิทธิประโยชน์อื่นเพิ่มขึ้นมามากน้อยเพียงใดก็ให้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการหารายได้ของแต่ละบุคคล

นางยุพา กล่าวอีกว่า สำหรับบำนาญประชาชน หากได้รัฐบาลบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งแล้วก็อยากให้ทำทันที ซึ่งตัวเลขที่เหมาะสมก็ควรอยู่ที่ไม่เกิน 3,000 บาท/คน/เดือน หรือเฉลี่ยตกวันละ 100 บาท โดยเงินจำนวนนี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุได้มากขึ้น และดีกว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้รับเพียงเดือนละ 600 บาท หรือตกวันละ 20 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม การทำบำนาญประชาชนให้สำเร็จและเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ รัฐบาลยังต้องคำนึงและพิจารณาที่มาของงบประมาณที่นำมาใช้จัดสรรเป็นสวัสดิการ ซึ่งภาคประชาชนมองว่า ยังมีภาษี รวมถึงงบประมาณอีกหลายส่วนที่สามารถเข้าไปบริหารจัดการได้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น งบประมาณด้านความมั่นคง การจัดเก็บภาษีต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก และปรับปรุงพิจารณาภาษีมูลค่าเพิ่ม

“หากรัฐบาลจะทำสวัสดิการในรูปแบบบำนาญประชาชน หรือบำนาญผู้สุงอายุให้กับคนไทยอย่างจริงจัง เชื่อว่าก็ต้องมีแผนบริหารจัดการรายได้ งบประมาณ และภาษีด้านต่างๆ เพื่อทำนโยบายให้เกิดขึ้นจริงอยู่แล้ว” นางยุพา กล่าว