ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายคนพิการทางสติปัญญา เชื่อรัฐบาลชุดหน้าทำบำนาญประชาชนไม่สำเร็จ แต่คงเพิ่มเติมเบี้ยยังชีพให้คนชราแทน แต่รับเห็นด้วยคนไทยทุกคนควรมีหลักประกันรายได้เมื่อเกษียณ พร้อมหนุนเพิ่มการจ้างงานคนพิการมากขึ้น


นางพรสวรรค์ เมตตาประเสริฐ ตัวแทนเครือข่ายคนพิการทางสติปัญญา เปิดเผยกับ The Coverage ถึงประเด็นที่แต่ละพรรคการเมืองกำลังหาเสียงเลือกตั้ง โดยมีการชูแคมเปญบำนาญประชาชน หรือบำนาญผู้สูงอายุในการหาเสียงอย่างจริงจัง โดยระบุว่า รัฐสวัสดิการในรูปแบบบำนาญประชาชน ภาคประชาชนเห็นด้วยว่าต้องควรเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ ไม่เชื่อว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะสามารถทำบำนาญประชาชนที่ประกาศว่าจะได้รับ 3,000 บาท/คน/เดือน แต่คิดว่าจะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบัน

ทั้งนี้ แม้ว่าหลายพรรคการเมืองจะพยายามชี้แจงถึงที่มาของงบประมาณ รวมถึงการจัดเก็บภาษีที่จะนำมาจัดสรรเป็นบำนาญประชาชน แต่ในทางการเมืองอาจไม่สามารถทำได้ทันที เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าภาคประชาชนจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็มักถูกฝั่งรัฐบาลตีตกทุกครั้งเช่นกัน ดังนั้น ภาคประชาชนจึงไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับบำนาญประชาชน อย่างที่พรรคการเมืองหาเสียงเอาไว้ในช่วงการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดต่อไป

"เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะเพิ่มเติมในส่วนของเบี้ยยังชีพมากกว่าการขับเคลื่อนเรื่องบำนาญประชาชนให้เกิดขึ้นจริงๆ แม้ว่าบำนาญประชาชนจะเป็นเรื่องสำคัญ และต้องเกิดขึ้นในอนาคต แต่ไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดถัดไป เพราะต้องมีการบริหารจัดการภาษีในระยะยาว รวมถึงทำให้เป็นข้อกฎหมายออกมาเพื่อให้เป็นหลักประกันรายได้ของประชาชน ทุกอย่างอาจต้องใช้เวลา" ตัวแทนเครือข่ายคนพิการทางสติปัญญา กล่าว

นางพรสวรรค์ กล่าวด้วยว่า อีกประเด็นที่สำคัญคือการเพิ่มเติมเบี้ยคนพิการให้กับคนพิการทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลควรจะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมากลุ่มคนพิการกลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมอยู่ในสังคม อย่างเช่นเบี้ยคนพิการที่รัฐบาลทำเป็นสวัสดิการให้ ก็ยังไม่ครอบคลุมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน รวมถึงยังมีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่มองว่ามีควมเหลื่อมล้ำระหว่างคนพิการด้วยกันเอง อีกทั้ง ยังขาดการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับคนพิการที่ควรกระจายให้ครอบคลุมมากขึ้นด้วย ซึ่งมีคนพิการหลายคนที่มีศักยภาพในการทำงาน และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรี

ทั้งนี้ หากจะมีรัฐสวัสดิการอย่างถ้วนหน้าเป็นบำนาญประชาชน รัฐบาลอาจขับเคลื่อนได้เลย โดยเริ่มจากการบริหารจัดการรายได้ ทั้งจากงบประมาณ การเก็บภาษี เพื่อเตรียมวางแผนระยะยาวสำหรับการทำบำนาญให้กับคนไทย และต้องมีการทบทวนตามอัตราค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงด้วย ขณะเดียวกัน ก็ยังเห็นควรที่ต้องทยอยเพิ่มเติมเบี้ยยังชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการการช่วยเหลือในสังคมควบคู่ไปกับการสร้างบำนาญประชาชนด้วย