ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายประชาชนรัฐสวัสดิการ เห็นด้วยหากเกิดบำนาญประชาชน หลังเห็นพรรคการเมืองแข่งกันหาเสียงจริงจัง แต่หวั่นแค่หาเสียงทำไม่ได้จริง พร้อมแนะรัฐบาลชุดต่อไปทำนโยบายสวัสดิการให้คนไทยตลอดช่วงอายุ เชื่อเป็นการลงทุนคนเพื่อพัฒนาประเทศ


นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV เอดส์ ประเทศไทย และในฐานะเครือข่ายประชาชนรัฐสวัสดิการ เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงประเด็นที่แต่ละพรรคการเมืองกำลังหาเสียงเลือกตั้ง โดยมีการชูประเด็นบำนาญประชาชน หรือบำนาญผู้สูงอายุ ว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายภาคประชาชน เคยขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องให้เกิดรัฐสวัสดิการโดยการมีบำนาญให้กับประชาชนผู้สูงอายุ แต่ตลอดระยะเวลา 14 ปี ทุกครั้งที่เคยเสนอไปยังรัฐสภาจากการร่วมลงชื่อของประชาชนเพื่อเสนอเป็นกฎหมาย แต่ก็ถูกปัดตกทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การที่ได้เห็นแต่ละพรรคการเมืองหาเสียงประเด็นบำนาญประชาชน สะท้อนได้ว่าแต่ละพรรคการเมืองเริ่มมีความใส่ใจมากขึ้น ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ได้รับรู้มากขึ้นถึงระบบรัฐสวัสดิการในรูปแบบบำนาญประชาชน และเป็นความคาดหวังว่าจะต้องเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมให้ได้

ทั้งนี้ รัฐบาลชุดต่อไปที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ ควรทำให้เกิดเป็นกฎหมาย เพื่อจะได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้จริงๆ ว่าจะมีบำนาญสำหรับคนไทยทุกคน ซึ่่งจะต้องมีความชัดเจน และไม่อยากให้เป็นแค่นำเรื่องบำนาญประชาชนเพื่อใช้แค่หาเสียง แต่ไม่สามารถทำได้จริง

นอกจากนี้ หากมีการจัดทำบำนาญประชาชนจริงๆ ก็ต้องเป็นการให้อย่างถ้วนหน้า โดยไม่แบ่งแยกชนชั้น หรือฐานะใดๆ ทางสังคม และเห็นด้วยหากจะให้สำหรับประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นเท่านั้น และตัวเลขที่เหมาะสมคือไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,000 บาท

"แต่ละพรรคการเมืองก็ดูท่าทางว่าจะเอาจริงเรื่องของบำนาญประชาชน เพียงแต่อาจแตกต่างกันในวิธีคิด เช่นบางพรรคใช้หลักคิดว่าเป็นการสงเคราะห์ แต่บางพรรคมีหลักคิดว่าเป็นสวัสดิการอย่างถ้วนหน้า ซึ่งจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยบำนาญประชาชนก็ทำให้สังคมได้เกิดการเรียนรู้แล้ว และเชื่อว่าพรรคการเมืองที่มีโอกาสทำเรื่องบำนาญประชาชนก็คงจะขับเคลื่อนอย่างจริงจัง" ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV เอดส์ ประเทศไทย กล่าว

นายอภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า การทำรัฐสวัสดิการสำหรับเป็นบำนาญประชาชนก็นับเป็นเรื่องดีที่เห็นการขับเคลื่อนจากภาคพรรคการเมืองในขณะนี้ แต่ขณะเดียวกัน อยากให้สนใจถึงนโยบายที่เป็นหลักประกันทางคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในทุกช่วงวัย หรือตั้งแต่เกิดจนตาย เพื่อให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพตามแต่ละช่วงอายุอย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นการพัฒนาทรัพยากรของประเทศที่เป็นบุคคล ให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพจากคุณภาพชีวิตที่ดีได้