ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองเลขาฯ สปสช. เผย ทาง สปสช. มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดูแลผู้สูงอายุพร้อมรองรับแล้ว แต่จะยั่งยืนได้ต้องสร้างการมีส่วนร่วมในท้องถิ่น ผ่าน ‘ศูนย์สร้างสุขชุมชน’ หนุน ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ช่วยลดทรัพยากรในการรักษา


นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในช่วงหนึ่งของการเสวนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 1 หัวข้อ “ไทยพร้อมยัง.… ที่จะมีหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถานีวิทยุโทรทัศน์ ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ว่า นับตั้งแต่ปี 2545 คนไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ช่วยคุ้มครองภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งนับเป็นการออมในส่วนการดูแลความเจ็บป่วยของผู้คนไปได้มาก ภายใต้กองทุนบัตรทองที่มีขนาดกว่า 1.4 แสนล้านบาท แต่ในจำนวนนี้กลับใช้ในการซ่อมแซมสุขภาพไปถึง 1 แสนล้านบาท และถูกใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพเพียง 4 หมื่นล้านบาท เป้าหมายสำคัญจึงเป็นการที่เราจะขยับสัดส่วนนี้ได้อย่างไร

2

นพ.อภิชาต กล่าวว่า ทาง สปสช. มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อรองรับการให้บริการตั้งแต่การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ไปจนถึงการดูแลรักษาฟื้นฟูที่ร่วมกับท้องถิ่น แต่ในระยะยาวจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชนมีส่วนในการดูแลกันเองด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การประหยัดทรัพยากรในการรักษามากขึ้น

นพ.อภิชาต กล่าวอีกว่า อยากให้ท้องถิ่นมีการทำศูนย์สร้างสุขในชุมชน (Community Care Center) ที่จะเชื่อมกันเป็นเครือข่าย เช่น มีบ้าน วัด โรงเรียน มาร่วมกัน โดยควรมีอย่างน้อยตำบลละหนึ่งแห่ง เพื่อทำหน้าที่ในการช่วยดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนกันเองไม่ว่าจะผู้สูงอายุที่มีภาวะติดบ้านติดเตียง หรือภาวะติดสังคม ในส่วนงบประมาณก็สามารถใช้ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ที่ สปสช. จัดสรรร่วมกับท้องถิ่นเพื่อหนุนกิจกรรมในการดูแลได้ด้วย

นอกจากนี้ ต้องมีการสร้างบุคลากรที่จะเข้าไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เพราะเชื่อว่าในอนาคตจำเป็นต้องมีนักบริบาลชุมชนหมู่บ้านละ 1 คน ในการช่วยเสริมการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงสามารถเชื่อมโยงการทำงานกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้นโยบายด้านสุขภาพจากทุกองค์กรลงไปถึงประชาชนผ่านการบริหารจัดการจากท้องถิ่น