ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการ พอช. หวั่น คนทำงาน 1 คน ต้องแบกผู้สูงอายุ 3 คน เสนอรัฐส่งเสริม ‘ข้าราชการ-เอกชน’ สมทบเงินเข้า ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ โดยใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเป็นแรงจูงใจ


นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เปิดเผยในเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 1 หัวข้อ ‘ไทยพร้อมยัง ... ที่จะมีหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ’ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2565 ตอนหนึ่งว่า พอช. เป็นอีกหนึ่งกลไกของสวัสดิการที่รัฐจัดให้กับประชาชน ผ่านการสนับสนุนความเข้มแข็งในระดับชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานราก โดยหนึ่งในนั้นคือการเริ่มต้นจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่ปัจจุบันขยายจนมีสมาชิกรวมกันทั่วประเทศกว่า 6.2 ล้านคน มีเงินกองทุนรวมทั้งหมด 1.9 หมื่นล้านบาท จากเงินของประชาชนที่เก็บสมทบร่วมกันวันละ 1 บาท และถูกนำไปใช้จัดสวัสดิการของคนในชุมชน ดูแลร่วมกันตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

3

นายกฤษดา กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการนี้ได้ช่วยรองรับประชาชน ไม่ว่าจะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ หรือโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยช่วยดูแลพี่น้องที่กลับไปอยู่ในชุมชน ซึ่งหากกลไกนี้ได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้น ขยายให้มีในหลายท้องถิ่นมากขึ้น ก็เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก เพราะเราต่างเห็นถึงศักยภาพการดูแลร่วมกันของชุมชนท้องถิ่นฐานราก ไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษา อาชีพ สุขภาพ ไปจนถึงกองทุนสวัสดิการต่างๆ หากรัฐให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้และใส่ทรัพยากรเสริมเข้าไป ก็จะทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งได้

นายกฤษดา กล่าวอีกว่า มีการคาดการณ์ในปี 2570 ประชากรวัยทำงาน 1 คน ต้องเสียภาษีเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุ 3 คน และยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ประชากรวัยทำงานจะมีโอกาสเจ็บป่วยก่อนวัยอันควร ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะส่งผลถึงรายได้ของประเทศ และการจัดเก็บภาษีที่จะลดน้อยลง ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุก็จะเพิ่มมากขึ้นไปถึงระดับสุดยอดในปี 2583

3

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจจะต้องสนับสนุนให้เกิดสวัสดิการชุมชน หรือสวัสดิการท้องถิ่นอย่างจริงจังมากขึ้น และกระจายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะสวัสดิการของรัฐที่จัดให้กับผู้สูงอายุในปัจจุบัน ไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงขอสนับสนุนให้ชุมชนได้ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เพื่อบริหารสวัสดิการที่เหมาะสมในพื้นที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้รัฐสนับสนุน

“ปัจจุบันมีกองทุนสวัสดิการชุมชนกระจายอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุม อีกทั้งรัฐบาลยังสมทบกองทุนน้อยกว่าประชาชนในชุมชนด้วย หากภาครัฐกระตุ้นให้คนในชุมชน ที่เป็นทั้งข้าราชการ หรือภาคเอกชน ได้ร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนฯ ด้วย แลกกับการได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษี ก็อาจเป็นการจูงใจให้มีการสมทบเงินเข้าสู่กองทุนฯ มากขึ้น และรัฐก็ไม่จำเป็นต้องสมทบอีกต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะพิจารณาดำเนินการได้ในอนาคต” นายกฤษดา กล่าว