ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เผย ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแก้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ให้สอดคล้องปัจจุบัน สร้างหลักประกันรายได้ควบคู่กับการดูแลสุขภาพ


นางบุษบา ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยในเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 1 หัวข้อ ‘ไทยพร้อมยัง ... ที่จะมีหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ’ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2565 ตอนหนึ่งว่า ภายใต้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 นอกจากการกำหนดในเรื่องของกองทุนผู้สูงอายุ หรือเบี้ยยังชีพ เป็นสวัสดิการสำหรับผู้สูงวัยแล้ว กองทุนนี้ยังสนับสนุนการสร้างรายได้และการประกอบอาชีพ เนื่องจากมีผู้สูงวัยเป็นสัดส่วนถึง 30% ที่มีศักยภาพและยังสามารถทำงานได้ โดยผู้สูงวัยเหล่านี้จะสามารถนำเงินจากกองทุนไปใช้ส่งเสริมการประกอบอาชีพได้ เป็นเงินทุนกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยระยะเวลา 3 ปี

3

อย่างไรก็ตาม ภายใต้เนื้อหาของ พ.ร.บ. ตั้งแต่ปี 2546 มาถึงปัจจุบันอาจไม่ตอบโจทย์ ขณะนี้ทางกรมจึงอยู่ระหว่างการเสนอปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อสนับสนุนสิทธิ สวัสดิการ รายได้ต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้สูงวัยมากขึ้น

“ขณะนี้เราอยู่ระหว่างปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจุบัน และให้ไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุได้อย่างมีคุณภาพ อย่างเรื่องของเบี้ยยังชีพ ที่มีหลายพรรคการเมืองแสดงความห่วงใย ส่วนตัวเห็นด้วยว่าผู้สูงอายุมีความจำเป็นที่ต้องสนับสนุนด้านรายได้ แต่ในอีกด้านที่ประชาชนจะสามารถมีส่วนร่วมจ่ายในการดูแลตัวเองได้ ก็มีความสำคัญ และอีกประเด็นสำคัญที่อยากฝากไว้คือความเข้มแข็งของครอบครัว ที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสังคมสูงอายุที่มีคุณภาพ” น.ส.บุษยา กล่าว

น.ส.บุษยา กล่าวว่า กรมกิจการผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างเป็นองค์รวม ครอบคลุมทุกมิติ ฉะนั้นกระบวนการการมีส่วนร่วมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

“ปัจจุบันกรมกิจการผู้สูงอายุมีหุ้นส่วนที่ทำงานร่วมกัน ทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แต่กระนั้นก็ต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนร่วมกันให้มากกว่านี้ โดยเฉพาเรื่องหลักประกันรายได้ที่ต้องมีการวางระบบร่วมกันด้วย” รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าว

3

นางบุษบา กล่าวว่า ขอบเขตของการสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุของกรมกิจการผู้สูงอายุ จะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสม รวมไปถึงการส่งเสริมอาชีพที่ไม่ใช่ในสถานประกอบการ

อย่างไรก็ตาม แม้อาจจะไม่ครอบคลุมรายได้อย่างเพียงพอที่จะเป็นหลักประกันได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นการสร้างรายได้ และเป็นช่องทางให้กับผู้สูงอายุที่ยังต้องการทำงานได้เข้ามาขอรับการสนับสนุนด้านเงินทุนได้

นางบุษบา กล่าวอีกว่า ขณะนี้หลายภาคส่วน โดยเฉพาะพรรคการเมืองได้ให้ความสนใจกับการสร้างนโยบายเพื่อเป็นหลักประกันรายได้กับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเรื่องบำนาญผู้สูงอายุ ตรงนี้สะท้อนว่าภาคการเมืองก็ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมสูงวัยในอนาคต