ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองเลขาฯ กบข. เผย ต้องปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ลดภาระการเงินการคลังประเทศ ระบุ แก้กฎหมายขยายเพดานเงินออมภาคสมัครใจสูงสุดที่ 30% ช่วยสร้างหลักประกันรายได้เมื่อสูงวัย


นายบุญเลิศ อันประเสริฐพร รองเลขาธิการกลุ่มงานปฏิบัติการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยในเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 1 หัวข้อ ‘ไทยพร้อมยัง ... ที่จะมีหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ’ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2565 ตอนหนึ่งว่า กบข. เป็นกองทุนการออมที่ให้ข้าราชการมีส่วนร่วมในการออมได้ 2 ส่วนคือ การออมภาคบังคับ 3% และการออมภาคสมัครใจที่ขยายได้สูงสุดถึง 30% โดยมีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมการออมของข้าราชการเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ที่มั่นคงหลังเกษียณ พร้อมกับจัดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับสมาชิก ซึ่งภาพรวมในปัจจุบันมีข้าราชการเป็นสมาชิกทั่วประเทศรวม 1.2 ล้านคน และมีเงินในกองทุนกว่า 1.2 ล้านล้านบาท

นายบุญเลิศ กล่าวว่า ทักษะความรอบรู้ทางด้านการเงิน และวินัยการออมถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยทาง กบข. พยายามผลักดันให้สมาชิกเริ่มต้น “ออมเร็ว” และ “ออมให้มาก” สูงสุดตามเพดานที่ออมได้ กับอีกส่วนคือ “ออมให้เป็น” เพราะพบว่าแต่ละบุคคลย่อมรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ผลตอบแทนจึงย่อมต่างกัน ดังนั้น กบข. จึงออกแบบแผนการลงทุนที่สมาชิกสามารถเลือกให้สอดคล้องกับตนเองได้ ดังนั้นจึงมองว่าในแง่ของความท้าทายในการสร้างหลักประกันรายได้ที่ครอบคลุม เพียงพอ และมั่นคงในอนาคต ภาครัฐจึงอาจจำเป็นจะต้องลดสัดส่วนของบำเหน็จบำนาญ แล้วไปเพิ่มระบบการออมแบบมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระทางการคลังลงได้

3

นายบุญเลิศ กล่าวต่อไปว่า ยอมรับว่าระบบบำเหน็จบำนาญของข้าราชการอาจต้องมีการปฏิรูป เพราะระบบนี้ยังเป็นภาระทางการเงินการคลังของประเทศที่ต้องจ่ายให้กับข้าราชการเมื่อเกษียณอายุ ซึ่ง กบข. วางเป้าหมายว่าภาระงบประมาณส่วนนี้ต้องลดลง และจะเพิ่มการออมภาคสมัครใจให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะช่วยลดภาระการคลังให้กับประเทศได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ข้าราชการสามารถออมเงินที่ใช้เป็นการลงทุนสำหรับการเกษียณอายุราชการ โดยมีการขยายเพดานการออมได้สูงสุด 30% เพื่อให้เป็นทางเลือกกับข้าราชการที่จะวางแผนการใช้เงินยามเกษียณ สำหรับคนที่ต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้น โดยยังมีการออมขั้นต่ำแบบเดิมที่ 3% อยู่ ซึ่งหากออมขั้นต่ำก็จะทำให้ข้าราชการที่เกษียณมีเงินประมาณ 60-70% ของรายได้เดือนสุดท้ายที่ใช้สำหรับยังชีพไปจนเสียชีวิต

นายบุญเลิศ กล่าวอีกว่า ยังมีการพูดถึงการขยายอายุการทำงานของข้าราชการ ที่เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะต้องเผชิญกับปัญหาสังคมสูงอายุ แต่การขยายอายุราชการมีความสำคัญและจำเป็นกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“การขยายอายุราชการ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมาพิจารณาร่วมกัน เพราะจะมีคนอยู่ในภาคราชการมากขึ้น ซึ่งเป็นข้อดีที่จะทำให้คนมีรายได้ แต่ข้อเสียก็เป็นภาระประเทศที่ต้องจ่ายเงินเดือนมากขึ้น และเกิดปัญหากระทบเป็นลูกโซ่ต่อการเจริญเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ของข้าราชการรุ่นใหม่ๆ ด้วย” รองเลขาธิการกลุ่มงานปฏิบัติการ กบข. กล่าว