ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘บำนาญผู้สูงอายุ’ เป็นสิ่งที่เครือข่ายภาคประชาสังคม-องค์กรผู้บริโภค ขับเคลื่อนมาโดยตลอด และในบรรยากาศการเลือกตั้งใหญ่ 2566 ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างจริงจังอีกครั้ง

หากย้อนกลับไปในอดีต พบว่ามีความพยายามอย่างน้อย 4 วาระ ที่เครือข่ายภาคประชาสังคม-ภาคการเมือง มีความพยายามผลักดัน ‘ระบบบำนาญผู้สูงอายุ’ เข้าสู่การตรากฎหมาย ในรัฐสภา เพื่อสร้างระบบที่ยั่งยืน

ตัวอย่างเช่น 1. ร่าง พ.ร.บ. บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า พ.ศ. ... ที่เสนอโดย น.ส.วรรณวิภา ไม้สน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ 2. ร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ... ที่เสนอโดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

3. พ.ร.บ. เงินบำนาญประชาชน พ.ศ. ... ที่เสนอโดย นายประสงค์ บูรณ์พงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ 4. ร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมการการออมเพื่อการเกษียณแห่งชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่เสนอโดย นายพิสิฐ ลี้อาธรรม และคณะ

อย่างไรก็ดี ความพยายามในการผลักดันกฎหมายจนถึงขณะนี้ ‘ยังเป็นหมัน’ โดยสาเหตุที่ไม่สามารถผ่านเข้าสภาได้ เพราะถูกมองว่าเป็น ‘ภาระงบประมาณ’ ในระยะยาว

ทว่า ในการเลือกตั้ง 2566 นี้ คนสูงวัยกลับเนื้อหอมขึ้นมาอย่างผิดหูผิดตา เห็นได้จากพรรคการเมืองประกาศนโยบาย ‘บำนาญผู้สูงอายุ’ กันแทบทุกพรรค

โดยตัวเลขที่อยู่ในระดับเดียวกัน คือเดือนละ 3,000 บาท

2

สำหรับมุมมองภาคประชาชน-ประชาสังคม ต่อการสร้าง ‘ระบบบำนาญผู้สูงอายุ’ ในมิติการคุ้มครองผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค บอกว่า สภาผู้บริโภคเห็นว่าการผลักดันให้เกิดบำนาญถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่รัฐต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะหากทำให้ถ้วนหน้า ทุกคนจะได้รับเงินทั้งหมดและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สภาผู้บริโภคได้จัดทำงานวิจัยเกี่ยวกับแหล่งเงินเพื่อนำมาทำบำนาญถ้วนหน้า และเพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้กับภาครัฐและพรรคการเมือง อีกทั้งจะมีการหารือกับเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคทั่วประเทศในช่วงนี้เกี่ยวกับการรณรงค์กับพรรคการเมืองแต่ละจังหวัดอย่างไรเพื่อทำให้เกิดบำนาญถ้วนหน้า

ด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า อุปสรรคที่ทำให้ขับเคลื่อนบำนาญถ้วนหน้าไม่สำเร็จ เป็นเพราะประเทศยังถูกครอบงำโดยรัฐราชการหรือรัฐเผด็จการ ซึ่งคนที่กุมอำนาจอยู่ยังไม่พร้อมกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้จึงมีความเคลื่อนไหวภาคประชาชนโดยเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการได้สร้างเครือข่ายทั่วประเทศและสร้างความเข้าใจว่าทำไมต้องทำให้ทุกคนได้บำนาญถ้วนหน้า

4

นิมิตร์ กล่าวอีกว่า ฝากถึงประชาชนให้ช่วยส่งเสียงถึงพรรคการเมืองว่าต้องทำบำนาญถ้วนหน้า โดยที่จะทำได้ขณะนี้ คือ การเข้าคูหาเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายทำบำนาญถ้วนหน้าและมีแนวโน้มว่าจะทำจริง ไม่ใช่การขายฝันนโยบายให้ประชาชน

“อยากให้รัฐคิดว่าการทำบำนาญถ้วนหน้าเป็นการลงทุนที่สำคัญในการพัฒนามนุษย์ ซึ่งการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้า คือ เครื่องมือที่สามารถเปลี่ยนประเทศได้ เพราะคนทุกวัยรอนโยบายนี้อยู่” นิมิตร์ ระบุ

อีกหนึ่งมุมมองภาคประชาชน หนูเกณ อินทจันทร์ ตัวแทนผู้สูงอายุ เครือข่ายสลัมสี่ภาค ระบุว่า ปัจจุบันรัฐให้เบี้ยยังชีพกับผู้สูงอายุเพียง 600 บาท ซึ่งไม่เพียงพอ ผู้สูงอายุบางรายอยู่ตัวคนเดียวและยังต้องทำงานอยู่ เพราะเงินที่ได้จากรัฐไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงอยากฝากนักการเมืองทุกคนเห็นความสำคัญและทำบำนาญถ้วนหน้าให้เป็นจริง ไม่ใช่ทำเพียงขายฝันนโยบายแต่เมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วแต่กลับทำไม่ได้จริง

4

“ขณะนี้การให้เบี้ยยังชีพทำให้คนจนตกหล่น เพราะรัฐมานั่งคัดกรองว่าใครจนหรือไม่จนจริง แต่การทำบำนาญถ้วนหน้า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้และยังเป็นการลงทุนที่สำคัญเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นได้ด้วย” หนูเกณ กล่าว

นี่คือมุมมองของภาคประชาชน-ประชาสังคม ที่ร่วมกันเรียกร้องให้ภาคีลงคะแนนเสียงให้กับ ‘พรรคการเมือง’ ที่แสดงออกถึงเจตนารมณ์ในการสร้างระบบบำนาญผู้สูงอายุอย่างแรงกล้า

คำถามคือ ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับข้อเสนอนี้ !!?