ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทุกวันนี้ เราอุ่นใจเรื่อง ‘ค่ารักษาพยาบาล’ ได้ นั่นเพราะมีระบบบัตรทอง (หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ที่รักษาฟรี

สิทธิบัตรทองช่วยการันตีว่า ‘แม้จะไม่มีเงิน แต่หากเจ็บป่วยขึ้นมา ก็จะเข้าถึงการรักษาได้’

ในอนาคต หากเรามี ‘ระบบบำนาญสูงอายุ’ ด้วย ก็จะยิ่งมีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มมากขึ้น

เพราะเราจะมีหลักประกันว่า แม้แก่ชราโดยไม่มีอาชีพ-ไม่มีบุตรหลานเลี้ยงดู ก็ยังจะมี ‘รายได้’ สำหรับประทังชีวิต

ในช่วงการเลือกตั้งนี้ หลากหลายพรรคการเมืองพยายามประโคมนโยบายหาเสียง หนึ่งในนั้นคือการสร้าง ‘ระบบบำนาญสูงอายุ’

ตัวเลขในขณะนี้ดูเหมือนจะมี ‘จุดร่วม’ กันที่ เดือนละ 3,000 บาท แต่รูปแบบการจ่าย ยังมีความแตกต่างกันออกๆ ไป

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการว่า อีก 20 ปีถัดมา หลังจากที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (complete aged society) ในปี 2565 แล้ว หรือราวๆ ปี 2585 ประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของประชากรไทยทั้งหมด

“ในอนาคตประเทศไทยต้องเผชิญความเสี่ยงวิกฤตความยากจนในผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม การออกแบบระบบบำนาญแห่งชาต จึงเป็นความคุ้มครองทางสังคมประเภทหนึ่ง” ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ระบุ

การพิจารณาเรื่องระบบบำนาญแห่งชาติต้องคำนึงถึงปัญหาเชิงโครงสร้างด้านความเหลื่อมล้ำ ซึ่งประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่ในอันดับต้นของโลก

อาจารย์ภูษิต บอกอีกว่า ภายใน 2 ทศวรรษข้างหน้า งบประมาณรายจ่ายด้านบำนาญผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยส่วนมากเป็นบำนาญข้าราชการ

2

ฉะนั้น ‘ระบบบำนาญแห่งชาติ’ ควรจะกำหนดเป้าหมายทำให้ผู้สูงอายุทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุยากจน และผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งไร้ที่พึง ควรมีรายได้ยามชราภาพเพียงพอต่อการยังชีพ

มีการศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นผลการวิจัยหัวข้อ ‘การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ’ ที่ดำเนินการโดย ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย และ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

ที่น่าสนใจก็เพราะ งานวิจัยชิ้นนี้ได้ฉายภาพอนาคตที่ชวนให้ทุกฝ่ายหันกลับมาคิดเรื่อง ‘บำนาญผู้สูงอายุ’ กันอย่างจริงจัง

ตอนหนึ่งของงานวิจัย ระบุว่า ประชากรผู้สูงอายุและกลุ่มวัย 40-59 ปี มีความเปราะบางต่อความยากจนสูง เพราะส่วนมากไม่มีความสามารถในการออม และเมื่อพิจารณาจากรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563 พบว่า มีผู้สูงอายุยากจนพุ่งขึ้นในหลายจังหวัด และส่วนใหญ่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ระดับเบี้ยยังชีพขั้นต่ำที่จะช่วยผู้สูงอายุกลุ่มยากจนที่สุดให้พ้นจากความยากจนได้ จะต้องไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อเดือนงานวิจัย ระบุ

มากไปกว่านั้น ถึงจะมีการปรับเพิ่มเพดานเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าเป็น 3,000 บาทต่อเดือน ก็ยังคิดเป็นงบประมาณที่น้อยกว่าระบบบำนาญของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระยะยาวอยู่ดี

ดร.ทีปกร ในฐานะหนึ่งในผู้วิจัย กล่าวอีกว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับระบบบำนาญแห่งชาติ ได้แก่ การขยายฐานภาษี ภาษีฐานทรัพย์สินและการลดนโยบายที่เอื้อให้กับคนรวย (Pro-rich) ซึ่งจะกลายเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมลงได้

คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอดังนี้ 1. ควรกำหนดให้ระบบบำนาญแห่งชาติ เป็นวาระแห่งชาติ (national agenda) ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน 2. แก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัด เพื่อให้มีการกำหนดสวัสดิการถ้วนหน้าด้านบำนาญ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนมีสิทธิได้รับ และสามารถคุ้มครองความยากจนจากเส้นความยากจนในแต่ละปี

ตัวอย่างเช่น แก้ไข พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เป็น "พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2546” พร้อมทั้งแก้ไขให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ และสามารถมีแหล่งรายได้เพิ่มมากขึ้นสำหรับกองทุนผู้สูงอายุ ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร (2564) เป็นต้น

2

3. สร้างระบบฐานข้อมูล โดยกำหนดให้ผู้ที่ต้องการเบี้ยผู้สูงอายุส่วนเพิ่มเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ในวัยทำงาน 4. ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุให้เป็นรูปธรรม ทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทำงานนานขึ้น ขอรับบำนาญช้าลง และส่งเสริมการออม 5. เสนอให้มีการทบทวนนิยามการเริ่มนับอายุของผู้สูงอายุให้เพิ่มมากกว่า 60 ปี และขยายเวลาในการ “เกษียณอายุ” จากการทำงาน (ทั้งภาครัฐและเอกชน) โดยอาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายบางฉบับ

สำหรับการขับเคลื่อนระบบบำนาญให้สำเร็จได้นั้น คณะผู้วิจัย บอกว่า จะต้องสร้างการขับเคลื่อนในลักษณะของ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” คือ ภาควิชาการ ภาคประชาชน และ ภาคนโยบาย ร่วมมือร่วมใจกันอย่างเข้มแข็ง เหมือนที่ประเทศไทยเคยใช้ยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” จนสามารถสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้สำเร็จ

“ควรสื่อสารให้ชัดว่า “สิ่งที่จะได้มา (บำนาญผู้สูงอายุ) มีมากกว่าสิ่งที่จะเสียไป (ภาษี)” และ ควรเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีวิวาทะ (dialogue) รวมถึงใช้กลุ่มคนที่มีอิทธิพลทางความคิด (influencer) และการสื่อสารออนไลน์ต่างๆ เพื่อชักชวนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์” ดร.ทีปกร ระบุ

บำนาญ เดอะซีรีย์ ep.1 ขอเริ่มทำความเข้าใจแนวคิด และคอนเซ็ปต์ ‘ระบบบำนาญผู้สูงอายุ’ ไว้เพียงเท่านี้ก่อน

คำถามคือ ท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับการสร้างบำนาญผู้สูงอายุ หรือไม่ ... อย่างไร !!?