ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ผู้ประกันตน” ในระบบประกันสังคม นอกจากจะเป็น “คนกลุ่มเดียว” ที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินรายเดือน (จ่ายสมทบ) เพื่อให้ตัวเองมีสิทธิรักษาพยาบาล (สิทธิบัตรทอง,ข้าราชการ รักษาฟรี) แล้ว 

ที่น่าเจ็บช้ำไปอีกก็คือ กลับได้รับสิทธิประโยชน์ที่ด้อยกว่าระบบบัตรทองและสวัสดิการข้าราชการ อยู่หลายรายการ

และในอนาคตอันใกล้ (1 ม.ค. 2567) มีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมกว่า 10 ล้านชีวิต อาจจะต้อง “อ่วม” มากขึ้นอีกระลอก

นั่นเพราะขณะนี้ กระทรวงแรงงาน ได้เปิดรับฟังความเห็น “ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. … “ ผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย law.go.th โดยจะปิดรับฟังความเห็นในวันที่ 28 ก.พ. 2566 

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่กระทรวงแรงงานกำลังผลักดัน คือการปรับเพดานฐานค่าจ้างในการคำนวณการจ่ายเงินสมทบใหม่ โดยเสนอให้ปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงจากเดิม 1.5 หมื่นบาท เป็นเพดานใหม่สูงสุดไม่เกิน 2.3 หมื่นบาท ซึ่งจะปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อธิบายเพิ่มเติมก็คือ จากเดิมผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 1.5 หมื่นบาทขึ้นไป จะต้องจ่ายสมทบเดือนละ 750 บาท หากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ก็จะต้องจ่ายสมทบในอัตราใหม่ โดยผู้ที่มีรายได้ 2.3 หมื่นบาทขึ้นไป ถึงจะจ่ายสมทบในอัตราคงที่

สำหรับคำว่า “ค่อยเป็นค่อยไป” หมายความว่า จะมีการแบ่งการประกาศบังคับใช้ออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2569 บังคับใช้กับผู้ได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 1.75 หมื่นบาท

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2570 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2572 บังคับใช้กับผู้ได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 2 หมื่นบาท

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป บังคับใช้กับผู้ได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 2.3 หมื่นบาท
โดยสรุปก็คือ

ปี 2567-2569 ค่าจ้างไม่เกิน 1.75 หมื่นบาท
ปี 2570-2572 ค่าจ้างไม่เกิน 2 หมื่นบาท
ปี 2573 +        ค่าจ้างไม่เดิน 2.3 หมื่นบาท

กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกันตนที่มีนายจ้าง เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยกำหนดให้ต้องจ่ายสมทบ 5% ของค่าจ้าง (เดิมไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ใหม่ไม่เกิน 1.75 หมื่นบาท, 2 หมื่นบาท, 2.3 หมื่นบาท ตามลำดับ)

โดยร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 นั่นมีผลทำให้

-ปี 2567-2569 
รับค่าจ้าง 1.5 หมื่นบาท จ่ายสมทบ 750 บาท
รับค่าจ้างตั้งแต่ 1.75 หมื่นบาทขึ้นไป จ่ายเงินสมทบ 875 บาท 

-ปี 2570-2572 
รับค่าจ้างตั้งแต่ 2 หมื่นบาทขึ้นไป จ่ายสมทบ 1,000 บาท

-ปี 2573 เป็นต้นไป
รับค่าจ้างตั้งแต่ 2.3 หมื่นบาทขึ้นไป จ่ายสมทบ 1,150 บาท

อย่างไรก็ดี การจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นนั้น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็จะปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนด้วย อาทิ

-เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 50 % ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

-เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ 70 % หรือ 30 % ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

-เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50 % ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

-เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 50 % ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

-เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน 50 % หรือ 30 % ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

-เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20 % ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20 % ของค่าจ้าง ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5 % ทุกการส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน

ทั้งนี้ สปส. จะนำความคิดเห็นไปพิจารณาปรับปรุงร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

2