ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.สำนักจัดระบบบริการฯ สปส. เผยได้ขยายเวลาให้ผู้ประกันตนที่ต้องผ่าตัด “5 โรค” สามารถเข้ารับหัตถการที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ ที่มีความร่วมมือกับ สปส. ออกไปถึงเดือน มิ.ย. 2567 พร้อมเล็งพิจารณาเป็นบริการถาวรหลังมีเสียงตอบรับดี แต่ยังต้องรอประเมินผล


น.ส.ปาริฉัตร จันทร์อำไพ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ และรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า แม้ประกันสังคมยังไม่มีนโยบายให้ผู้กันตนไปรักษาที่ไหนก็ได้ แต่มีการให้ผู้ประกันตนที่ป่วยใน 5 โรค สามารถทำหัตถการที่ไหนก็ได้ในโรงพยาบาลที่ได้มีการทำความตกลงร่วมมือกับ สปส.

สำหรับ 5 โรค ได้แก่ ผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ, ผ่าตัดลอดเลือดสมอง, ผ่าตัดก้อนในเต้านม กรณีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม, ผ่าตัดก้อนเนื้อในมดลูก ไม่จำเป็นต้องป่วยมะเร็ง และผ่าตัดนิ่วในไต หรือถุงน้ำดี ซึ่งเป็นโรคที่มีสถิติการผ่าตัดสูงสุดของผู้ประกันตน 

อย่างไรก็ดี การให้สิทธิผู้ประกันตนสามารถเข้ารับหัตถการ หรือผ่าตัดได้ใน 5 โรคนี้ ถือเป็นของขวัญปีใหม่ที่ สปส. มอบให้แก่ผู้ประกันตนตั้งแต่ในปี 2566 ซึ่งในตอนแรกมีระยะเวลาโครงการเพียง 6 เดือน แต่ด้วยเสียงตอบรับเป็นไปในทิศทางที่ดีของผู้ประกันตน ทำให้มีการพิจารณาขยายโครงการจนถึงเดือน ธ.ค. 2566 และได้ขยายต่อไปจนถึงเดือน มิ.ย. 2567 เพื่อให้ผู้ประกันได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ซึ่งตลอดการดำเนินโครงการมีผู้ประกันตนได้รับการผ่าตัดแล้วกว่า 1 หมื่นราย บนงบประมาณราว 700 ล้านบาท

“หลังผ่านสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่ายังมีเคสที่รอผ่าตัดค้าง และมีระยะเวลารอคอยในการผ่าตัดเกินเดือนเป็นส่วนมาก เลยมีการออกโครงการมาเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการผ่าตัด เหมือนเป็นการกระจายทรัพยากรให้เข้าไปใช้โรงพยาบาลที่สามารถดูแลได้ แต่หลังจากได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ประกันตน คณะกรรมการการแพทย์ก็เริ่มมองว่า หากให้ดีก็ควรเป็นโครงการถาวร ด้วยการให้เป็นบริการตามสิทธิปกติ เพื่อทำให้สะดวกมากขึ้น แต่ก็ยังตอบอะไรไม่ได้ ต้องประเมินผลก่อน ซึ่งเราก็มีการติดตามเรื่อยๆ” น.ส.ปาริฉัตร กล่าว

น.ส.ปาริฉัตร กล่าวว่า การเข้ารับบริการ ประชาชนสามารถใช้ผลวินิจฉัยจากโรงพยาบาลตามสิทธิ โดย สปส. ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับโรงพยาบาลเอาไว้แล้ว ซึ่งส่วนนี้โรงพยาบาลตามสิทธิสามารถให้คำแนะนำได้ หากไม่สามารถให้การผ่าตัดได้ภายใน 15 วัน หรือผู้ประกันตนเองก็สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของ สปส. ได้เช่นกัน เพราะเป้าหมายคือเมื่อผู้ประกันตนได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าจำเป็นต้องผ่าตัด ก็ควรได้รับการผ่าตัดภายใน 15 วัน 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากโรงพยาบาลประกันสังคมส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลขนาดทุติยภูมิ ระดับ 100 เตียงขึ้นไป อาจจะทำให้ผู้ประกันตนยังไม่สามารถเข้ารับการรักษาทุกที่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน หากผู้ประกันตนไม่สะดวกเข้ารับบริการในโรงพยาบาลตามสิทธิ โรงพยาบาลนั้นๆ ก็จะมีสถานพยาบาลเครือข่าย เช่น คลินิก รองรับเช่นกัน

 

ขณะเดียวกัน คณะกรรมมการการแพทย์ สปส. มีความกังวลเรื่องความแม่นยำในการวินิจฉัย จึงอยากให้ผู้ประกันตนเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลตามสิทธิก่อน เพราะการวินิจฉัยยังอยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลนั้นๆ และ สปส. ยังสามารถควบคุม กำกับ ดูแลโรงพยาบาลคู่สัญญาได้