ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความร่วมมือ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” และ “สปสช.” แก้ปัญหาประชาชนสิทธิบัตรทองถูกเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่ม ย้ำหากสถานพยายาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ให้หารือและเรียกเก็บจาก สปสช. แทน ไม่ต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วย พร้อมจัดตั้งกลไกกลางดูแลการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับหน่วยบริการ


น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยในงานแถลงข่าว ความร่วมมือในการแก้ปัญหาประชาชนสิทธิบัตรทองถูกเรียกเก็บค่ารักษา ดูแลรักษาผู้ป่วยบัตรทอง “หาก รพ. มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ย้ำให้เรียกเก็บจาก สปสช. แทน ไม่ต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วย” เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2565 ตอนหนึ่งว่า จากข้อมูลการร้องเรียนด้านบริการสุขภาพที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับปี 2564 พบว่า เป็นการร้องเรียนกรณีของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” มากที่สุด จำนวน 686 กรณี หรือร้อยละ 38.58 จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 1,778 กรณี โดยมีกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่กำหนด (Extra Billing) 

ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งของปัญหาคือเกิดจากความไม่เข้าใจของหน่วยบริการ หรือเข้าใจไม่ตรงกัน หรือมีข้อมูลไม่เพียงพอ รวมถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้มีการเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่มเติมจากผู้ป่วย เรื่องนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องทำความเข้าใจกับหน่วยบริการว่า สิทธิประโยชน์ในระบบได้ครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยเกือบทั้งหมดแล้ว ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2565 พร้อมให้ความมั่นใจด้วยว่า หน่วยบริการจะสามารถส่งเรื่องเบิกจ่ายมายัง สปสช. ได้และจะได้รับการจ่ายชดเชย

1

สำหรับกรณีการเรียกเก็บเพิ่มเติม ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ซึ่งต้องบอกว่า หาก รพ.แจ้งว่าผู้ป่วยต้องรักษาโดยวิธีนี้ ใช้ยา และใช้อุปกรณ์ต่างๆ จะเก็บเงินกับผู้ป่วยไม่ได้ ดังนั้นอยากฝากไปยังผู้ป่วยให้รับรู้สิทธิเหล่านี้ และ รพ. เองก็ไม่ควรเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย เนื่องจากสามารถเบิกจ่ายจาก สปสช. ได้ และการเรียกเก็บเงินในลักษณะนี้ยังทำให้เกิดหลายมาตรฐานในการรักษาพยาบาล ทั้งที่บริการรักษาพยาบาลควรเป็นมาตรฐานเดียวกัน 

น.ส.สารี กล่าวว่า ขอยก 2 กรณีตัวอย่าง คือ กรณีที่ 1 เป็นผู้ป่วยหญิงอายุ 53 ปี รับการักษาด้วยอาการปวดท้อง อาเจียน และมีไข้สูง ที่ รพ.แห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี แพทย์ตรวจและวินิจฉัยว่าเป็นภาวะท่อน้ำดีอักเสบ ต้องรับการผ่าตัด โดยผู้ป่วยขอรับการผ่าตัดแบบธรรมดา แต่แพทย์ระบุว่าต้องเป็นการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อไม่ให้เป็นอันตราย ทำให้ถูกเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่มจำนวน 32,442 บาท เมื่อเข้าสู่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ของ สปสช. เห็นว่าเป็นภาวะที่ผู้ป่วยต้องรับการรักษาด้วยวิธีส่องกล้อง จึงมีมติให้คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 และอีกกรณีหนึ่งเป็นผู้ป่วยหญิงอายุ 81 ปี พลัดตกเก้าอี้ ผ่านมา 1 สัปดาห์ผู้ป่วยลุกเกินไม่ได้ จึงเข้ารักษาที่ รพ.แห่งหนึ่งใน กทม. ทั้งนี้ผู้ร้องขณะนั้นไม่ทราบว่าผู้ป่วยมีสิทธิส่งต่อรักษาที่ รพ. ดังกล่าว โดย รพ.ได้เรียกเก็บเงินค่ารักษาเป็นจำนวน 6,070 บาท ดังนั้นคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ จึงมีมติให้ รพ.ดังกล่าวคืนเงินค่ารักษาพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ให้กับผู้ร้องเช่นกัน    

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บฯ เบื้องต้นต้องชี้แจงว่าตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หน่วยบริการสามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนด ด้วยสิทธิประโยชน์ในระบบที่ถูกกำหนดอย่างครอบคลุม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการได้ 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัญหาการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บฯ นี้ยังคงเกิดขึ้น ข้อมูลปี 2565 ได้จำแนกเรื่องร้องเรียนตาม “กลุ่มประเภทบริการที่ถูกจัดเก็บ” ปรากฏว่า กรณีถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลทั้งบิลใบเสร็จ มีจำนวนสูงสุด 282 เรื่อง รองลงมาเป็นค่าตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคโควิด 19 จำนวน 108 เรื่อง ค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ 46 เรื่อง ค่าตรวจวินิจฉัยทางเทคนิคการแพทย์และพยาธิวิทยา 34 เรื่อง ค่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ 21 เรื่อง เป็นต้น เมื่อจำแนกการร้องเรียนตาม “กลุ่มอาการและโรคที่เข้ารับบริการ” ปรากฏว่า เป็นกรณีถูกเรียกเก็บค่าบริการโรคระบบทางเดินหายใจมากที่สุด 221 เรื่อง รองลงมาเป็นบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 53 เรื่อง ตั้งครรภ์และการคลอด 37 เรื่อง โรคระบบประสาทและสมอง 32 เรื่อง โรคระบบย่อยอาหาร 32 เรื่อง เป็นต้น 

3

นพ.จเด็จ กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) รับทราบปัญหานี้ และมอบให้ สปสช. เร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ซึ่ง สปสช. ได้มีการขับเคลื่อน อาทิ จัดสิทธิประโยชน์บริการสุขภาพอย่างครอบคลุม ออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2564 เป็นการปรับปรุงจากประกาศฉบับเดิม เพื่อให้เกิดความชัดเจนในบริการสุขภาพ การจัดทำคู่มือ Extra Billing อะไรทำได้ ทำไม่ได้ เพื่อทำความเข้าใจกับหน่วยบริการ 

นอกจากนี้ได้จัดกลไกเพื่อให้เกิดหารือร่วมกันอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การมี Provider center หรือศูนย์บริการสำหรับหน่วยบริการเพื่อรับเรื่องจากหน่วยบริการ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างพัฒนาสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อรับเรื่องจากหน่วยบริการและประสานงานที่รวดเร็ว ซึ่งหากรายการบริการนั้นอยู่ในรายการที่ สปสช.จ่ายได้ หน่วยบริการก็จะได้สบายใจ ไม่ต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วย เพราะ สปสช.จ่ายให้แน่นอน แต่หากไม่มีอยู่ในรายการ เป็นต้นว่าเป็นยาใหม่ ยาราคาแพง หรือเป็นเทคโนโลยีการรักษาใหม่ ก็จะมีกลไกหารือร่วมกันต่อไป 

“สปสช. เตรียมที่จะจัดการชี้แจงและทำความเข้าใจเรื่องนี้ต่อหน่วยบริการในระบบท ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยบัตรทองทั้งหมดไม่ต้องเรียกเก็บจากหน่วยบริการ และขอให้ส่งเรื่องเบิกจ่ายกับ สปสช. แทน 
ในกรณีที่ไม่แน่ใจขอให้หารือมาที่ สปสช.แทน  ทั้งนี้ สปสช.จะจ่ายให้ตามอัตราที่ตกลงร่วมกัน ขอย้ำว่าวันนี้ สปสช.ไม่ได้โยนความรับผิดชอบไปให้ เราไม่ได้แค่บอกว่าห้ามเก็บค่าบริการเพิ่มแล้วปล่อยให้ปัญหาผ่านไป แต่จะจัดระบบเพื่อให้มีช่องทางพูดคุยร่วมกันว่าบริการไหนจำเป็นและดีจริง ซึ่ง สปสช. ยังไม่ได้กำหนดการจ่ายให้ ก็จะเข้าไปเพิ่มเติมในส่วนนี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว  

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง หากถูกเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม ก่อนที่จะชำระเงินสามารถโทรสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 หรือติดต่อผ่านไลน์ออฟฟิเชียลของ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso และทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ได้ในทันที ซึ่ง สปสช.จะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการเพื่อเจรจากับทางสถานพยาบาล  

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ