ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู เผยเคล็ดลับการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพตามสิทธิประโยชน์บัตรทอง ใช้วิธีโปรโมท 3 ช่องทางผ่านกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และการออกบูธให้บริการแบบ One Stop Service


น.ส.นันทนา นาคำ เลขานุการหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ให้บริการตามมาตรา 50 (5) แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู หนึ่งในหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) ที่มีความโดดเด่นในด้านการคุ้มครองการเข้าถึงบริการสิทธิ และการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานว่า เดิมทีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) อ.นากลาง เป็นศูนย์ประสานงานเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินการรับเรื่องร้องเรียนและขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในทุกประเด็นที่เกี่ยวกับผู้บริโภค จนในปี 2551 จึงเริ่มเข้ามาจับประเด็นด้านสุขภาพด้วย โดยมีพื้นที่รับผิดชอบในโซน อ.นากลาง อ.นาวัง และ อ.สุวรรณคูหา 

สำหรับวิธีการขับเคลื่อนเรื่องการเข้าถึงสิทธิบัตรทองของประชาชนนั้น จะใช้ 3 ช่องทาง ประกอบด้วย 1.เครือข่ายกำนันผู้ใหญ่บ้าน 2.การออกบูธให้บริการแบบ One Stop Service และ 3.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 

2

น.ส.นันทนา กล่าวว่า ในส่วนของช่องทางผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทางหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) ใช้วิธีการขอความร่วมมือผู้นำชุมชนในการกระจายข่าวสารและสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพผ่านหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน ซึ่งในการประสานความร่วมมือนั้น จะมีการทำหนังสือประสานที่ว่าการอำเภอ ขอเข้าไปนำเสนอข้อมูลสิทธิประโยชน์ใหม่ๆในระบบหลักประกันสุขภาพในที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน พร้อมทั้งขอรับการสนับสนุนด้านเอกสารวิชาการจาก สปสช.เขต 8 เพื่อแจกให้ผู้นำชุมชนกลับไปใช้สื่อสารกระจายข่าวต่อไป โดยแต่ละอำเภอจะเข้าไปนำเสนอ 2 ครั้ง/ปี หรือทุกๆ 6 เดือน

ขณะเดียวกัน ในช่วงปี 2558-2559 ที่ผ่านมา สปสช.มีโครงการอบรมผู้ประสานงานระดับตำบล และผู้นำสื่อประชาสัมพันธ์ ทางหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) ก็ได้เชิญกำนันผู้ใหญ่บ้านมาอบรมด้วย ทำให้ผู้นำชุมชนมีความรู้ความเข้าในในเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพมากขึ้นอีกทั้งยังเป็นการขยายเครือข่ายผู้ประสานงานในตำบลอีกด้วย

3

น.ส.นันทนา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของช่องทางที่ 2 จะใช้วิธีออกบูธไปกับเวทีสัญจรของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดซึ่งจะหมุนเวียนไปจัดตามที่ต่างๆ ซึ่งบูธของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) จะให้บริการแก่ประชาชนแบบ One Stop Service ตั้งแต่การให้คำแนะนำ ตอบคำถามต่างๆในเรื่องสิทธิ หรือแม้แต่การรับคำร้องทุกข์จากประชาชนพร้อมดำเนินการด้านเอกสารต่างๆ ให้

ส่วนช่องทางที่ 3 นั้น จะเป็นการสื่อสารผ่าน อสม. ที่ผ่านการอบรมเรื่องการคุ้มครองสิทธิ จำนวนหมู่บ้านละ 3 คน ช่วยเดินเท้าเคาะประตูบ้านช่วยดูเรื่องสิทธิต่างๆ เช่น การตรวจสอบสิทธิ โดยเฉพาะสิทธิว่าง เนื่องจากลักษณะประชาชนในพื้นที่เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว นิยมเดินทางไปรับจ้างใน กทม. อสม. ก็จะแนะนำให้ย้ายสิทธิตามไปด้วย และเมื่อกลับบ้านมาทำนา ก็จะย้ายสิทธิกลับ ทำให้ในพื้นที่ไม่ค่อยมีปัญหาสิทธิว่างเท่าใดนัก

“การจะได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเหล่านี้ เราต้องสร้างความเชื่อมั่นความศรัทธาให้เกิดขึ้นก่อน ต้องทำให้เขาเห็น เอาเคสที่เราทำจริงมาเป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งจะทำให้เขาเห็นว่าเราทำงานจริง ไม่มีนอกมีใน และเมื่อเกิดผลลัพธ์จริงมันก็จะเกิดการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก”น.ส.นันทนา กล่าว

3

ในส่วนของการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ น.ส.นันทนา กล่าวว่า ในพื้นที่รับผิดชอบ 3 อำเภอนี้ไม่ค่อยมีประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการมากนัก ส่วนมากจะเป็นเรื่องความไม่สะดวกในการรับบริการหรือการสื่อสารไม่เข้าใจกัน เช่น ผู้ป่วยไปรับบริการรู้สึกเจ็บปวดแทบขาดใจ แต่เจ้าหน้าที่ประเมินว่าไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน หรือกรณีไปรับบริการคลินิกเบาหวานความดันแล้วรู้สึกว่ารอคิวนาน เป็นต้น

“เวลามีข้อร้องเรียนหรือไม่ได้รับความสะดวกในการรับบริการ เราจะให้ อสม. รับเคสแล้วแจ้งมาที่เรา จากนั้นทีม หน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) จะลงพื้นที่ไปเลย พร้อมประสาน รพ.สต. และผู้นำชุมชนมาร่วมฟังด้วย เพื่อไม่ให้เกิดข้อกังขาระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพราะส่วนมากผู้เสียหายมักจะเกรงใจว่าถ้ามีการร้องเรียนแล้วจะไปรับบริการที่ รพ.สต. หรือโรงพยาบาลไม่ได้ เราก็มาช่วยพูดคุยทำความเข้าใจ ดังนั้นลักษณะการทำงานเราจะไม่ทำงานคนเดียวแต่ต้องทำ 3 เส้า คือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) หน่วยบริการ และผู้เสียหายร่วมกับผู้นำชุมชน”น.ส.นันทนา กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ