ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช. เปิดวงพัฒนาศักยภาพ สนับสนุนนำร่อง “ธรรมนูญสุขภาพเขต” ของกรุงเทพฯ เพิ่มอีก 10 เขต หลังสร้างกติกา-แนวทางยกระดับสุขภาวะคนเมืองไปได้แล้วใน 12 เขตพื้นที่ พร้อมผนวก “ธรรมนูญเกาะล้าน” เตรียมเดินหน้าเป็นแห่งแรกของเมืองพัทยา ร่วมวางแนวทางสร้างส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของประชาชน


เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพและกลไกขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพเขตในพื้นที่นำร่อง 10 เขต กรุงเทพมหานคร และ 1 เมืองพัทยา เพื่อพัฒนาศักยภาพ กลไก คณะทำงานระดับเขต สู่ความเข้าใจร่วมในการพัฒนาและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ โดยมีผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตัวแทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 10 เขต มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ 5 แห่ง พร้อมด้วยคณะทำงานธรรมนูญเกาะล้าน เมืองพัทยา เข้าร่วมกว่า 150 คน

1

5

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ กทม. ได้เริ่มมีการขับเคลื่อนและยกร่าง “ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร” ขึ้นมาเป็นหลักการ แนวคิด แนวปฏิบัติในการสร้างสุขภาวะที่ดีของชาว กทม. รวมทั้งขยายผลสู่ธรรมนูญสุขภาพในระดับเขต ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้ทำให้เกิด “ธรรมนูญสุขภาพเขต” ไปแล้วรวม 12 เขตพื้นที่ มาถึงวันนี้นับเป็นโอกาสดีที่จะเพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสนับสนุนให้เกิดธรรมนูญสุขภาพเขต เพิ่มเติมอีก 10 เขตพื้นที่ รวมถึงธรรมนูญเกาะล้าน ของเมืองพัทยา ที่กำลังอยู่ระหว่างการเดินหน้าด้วยเช่นเดียวกัน

นพ.ปรีดา กล่าวว่า พร้อมกันนี้ยังมีมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ 5 แห่ง ประกอบด้วย มรภ.จันทรเกษม มรภ.พระนคร มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา มรภ.สวนสุนันทา และ มรภ.ธนบุรี เข้ามาเป็นเครือข่ายภาควิชาการที่ร่วมมีบทบาทในการสร้างและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพเขตให้ไปข้างหน้า จึงเชื่อว่าพลังจากหลายภาคส่วนที่เข้ามาร่วมมือกันนี้ พร้อมด้วยทีมผู้บริหาร กทม. เองที่ให้ความสนใจในการมีส่วนร่วม จะช่วยให้เราสามารถเดินหน้าการสร้างธรรมนูญสุขภาพเขต เป็นแนวทางในการสร้างสังคมสุขภาวะต่อไปสู่เขตที่เหลือใน กทม. ทั้งหมดได้อย่างมั่นคง

2

นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ ประธานคณะทำงานพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เมืองใหญ่อย่าง กทม. รวมไปถึงพัทยา ต่างมีสภาพสังคมที่ประกอบด้วยผู้คนมากมายและหลากหลาย เช่นเดียวกับปริมาณของปัญหา ทั้งในเชิงสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจหรือสังคม ซึ่งกลไกการมีส่วนร่วมเพื่อจัดทำแผนในระดับพื้นที่ อย่างธรรมนูญสุขภาพ จะเป็นอีกหนึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาที่ช่วยหนุนเสริมนอกเหนือจากการทำงานของภาคราชการ เป็นการเน้นการขับเคลื่อนในระดับเส้นเลือดฝอย ที่จะช่วยให้ปัญหาในพื้นที่ถูกดำเนินการจัดการได้อย่างเป็นระบบ

“ธรรมนูญสุขภาพจะเป็นตัวกำหนดกรอบ ทิศทาง กติกาที่ทำให้เกิดสุขภาวะที่ดี อย่างของ กทม. เราวางหลักการไว้ เช่น มุ่งให้ความสำคัญการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ คือเราต้องเข้าใจปัญหาว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นอุปสรรคในพื้นที่เรา แล้วมาวางเป้าหมายร่วมกัน ส่วนในระดับเขตที่ปัญหาอาจแยกย่อยเป็นคนละแบบ ก็จะเขียนกว้างแบบ กทม. ไม่ได้ แต่ต้องวิเคราะห์เองด้วยข้อมูลและการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่” นพ.วงวัฒน์ กล่าว

นพ.วงวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนนโยบายด้านสุขภาพของ กทม. ซึ่งกำลังจะเน้นหนักไปที่ระบบสุขภาพปฐมภูมิ จึงต้องมีแนวทางจัดการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การเยี่ยมบ้านออนไลน์ การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ไปสู่การเป็นสมาร์ท อสส. การจัดทำระบบฐานข้อมูลชุมชน เพื่อนำมาวิเคราะห์สภาพปัญหาในพื้นที่ รวมไปถึงการใช้เงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) มาสร้างประโยชน์ด้านสุขภาพให้กับคนในพื้นที่ เป็นต้น

3

ขณะที่ พญ.สุธี สฤษฎิ์ศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 67 ทวีวัฒนา กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนว่า หากพื้นที่ใดมีความเข้มแข็ง มีแกนนำในการประสานงาน เอื้อให้ภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ ร่วมมือกันเข้าไปช่วย จะทำให้ชุมชนนั้นจัดการกับการระบาดได้อย่างรวดเร็ว เพราะโรคระบาดไม่สามารถจัดการได้ด้วยภาครัฐฝ่ายเดียว แต่จะต้องมีความร่วมมือของภาคประชาชนด้วย ซึ่งหลักการนี้ทำให้ธรรมนูญสุขภาพ เป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์ในการทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพได้

พญ.สุธี กล่าวว่า อย่างไรก็ตามปัญหาที่พบของคนเมืองใน กทม. คือการมีลักษณะต่างคนต่างอยู่ อย่างเขตทวีวัฒนาที่มี 16 ชุมชน จะเห็นความแตกต่างระหว่างชุมชนเมือง หมู่บ้าน ที่มีระยะห่างต่างคนต่างอยู่ เมื่อเทียบกับชุมชนชานเมืองที่เป็นชุมชนดั้งเดิม ซึ่งมีกลไกการมีส่วนร่วมที่มากกว่าชัดเจน ดังนั้นการที่ธรรมนูญสุขภาพจะขับเคลื่อนได้ จึงต้องสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งก่อน มองหาผู้นำชุมชนที่มีความเข้าใจ มีทีมที่มีศักยภาพ ใช้ต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่ รวมถึงกลไกในการสนับสนุนต่างๆ

3

ด้าน เพ็ญวดี แสงจันทร์ ผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า ในส่วนของชุมชนแออัดเขตคลองเตย เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนจน หรือกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากของเมือง เนื่องด้วยราคาที่ถูก และอยู่ใกล้เมือง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความแออัด สภาพแวดล้อม และคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐานทุกด้าน แต่เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ชุมชนเริ่มลุกขึ้นมาแสดงศักยภาพ จัดการดูแลร่วมกัน พร้อมด้วยการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ที่ยื่นมือเข้ามา ทำให้เกิดภาพของความสำเร็จในการรับมือกับโควิด

เพ็ญวดี แสงจันทร์ กล่าวว่า เมื่อมองไปถึงการแก้ไขปัญหาในด้านอื่นๆ ของคลองเตย จึงนำมาสู่การจัดวงแลกเปลี่ยน และร่วมกันตกผลึกออกมาเป็นข้อเสนอ 7 มิติ เพื่อพัฒนาชุมชนคลองเตย ประกอบด้วยข้อเสนอด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ด้านที่อยู่อาศัย ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน และด้านสังคม ซึ่งทำให้ชุมชนได้ร่วมกันรับรู้และเห็นภาพที่ต่อเนื่องกันมากขึ้น และสุดท้ายจะนำไปสู่การร่วมกันลงมือทำต่อไป

4