ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด “เรื่อง แนวปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านแอปพลิเคชัน สำหรับการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาล (Onsite)” เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 ถึงหัวหน้าหน่วยราชการ เพื่อชี้แจงถึงการพัฒนาระบบเบิกจ่ายตรงของสวัสดิการข้าราชการ ให้สามารถทำธุรกรรมเบิกจ่ายตรงผ่านกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ของบริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

สำหรับการพัฒนาระบบเบิกจ่ายดังกล่าว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ลดการรอคิวการทำธุรกรรม ณ จุดชำระเงินของสถานพยาบาล โดยจะดำเนินการเป็นโครงการนำร่องกับสถานพยาบาลจำนวน 6 แห่ง ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 7 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป ก่อนขยายโครงการให้ครอบคลุมกับสถานพยาบาลทั่วประเทศ ภายใต้หลักการความพร้อมในเชิงระบบของแต่ละสถานพยาบาล และเพื่อให้การเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านแอปพลิเคชันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ประกอบด้วย 1. โรงพยาบาลวชิรพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 2. โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 3. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 4. โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ 5. โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 6. โรงพยาบาลสระบุรี

นอกจากนี้ ภายในไตรมาส 1 พ.ศ. 2566 จำนวน 8 แห่ง ดังนี้ 1. ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 2. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 3. โรงพยาบาลพนมสารคาม 4. สถาบันประสาทวิทยา 5. โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว 6. โรงพยาบาลบางคล้า 7. โรงพยาบาลราชวิถี 8. โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต

ขณะที่ ภายในไตรมาส 2 พ.ศ. 2566 จำนวน 7 แห่ง ดังนี้ 1. สถาบันโรคทรวงอก 2. โรงพยาบาลพุทธโสธร 3. โรงพยาบาลสมุทรปราการ 4. โรงพยาบาลปากช่องนานา 5. โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ 6. โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ 7. โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 19 ข้อ 23 และข้อ 27 ของหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยวิธีการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 กำหนดแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านแอปพลิเคชันสำหรับการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาล (Onsite) ให้ผู้มีสิทธิและสถานพยาบาลถือปฏิบัติดังนี้

1. ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว

1.1 ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่ประสงค์จะใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน จะต้องลงทะเบียนใช้งานแอปพลิเคชันเป๋าตัง และสมัครบริการกระเป๋าสุขภาพก่อนการทำธุรกรรมเบิกจ่ายตรง ทั้งนี้บุคคลที่ไม่สามารถมีบัตรประจำตัวประชาชนได้ตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนจะไม่สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงผ่านช่องทางนี้ได้

1.2 ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่ประสงค์ใช้สิทธิตามข้อ 1.1 ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนเพื่อทำธุรกรรมการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรง โดยการทำธุรกรรมจะใช้รหัสผ่าน (PIN) ในการทำธุรกรรมแทนการใช้บัตรประจำตัวประชาชนทั้งนี้ ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวจะต้องเก็บรักษาและไม่เผยแพร่รหัสผ่านในการทำธุรกรรมเบิกจ่ายตรง

1.3 การเข้ารับการรักษาพยาบาลให้ดำเนินการตามขั้นตอนปกติของสถานพยาบาล ซึ่งสถานพยาบาลอาจกำหนดให้ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่ประสงค์จะทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชันต้องดำเนินการตามขั้นตอนภายในของสถานพยาบาลร่วมด้วย โดยหลังจากเข้ารับการรักษาพยาบาลแล้วให้ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวเข้าสู่กระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตังและดำเนินการตามขั้นตอนในแอปพลิเคชัน พร้อมตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลการรักษาพยาบาลก่อนยืนยันการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรง

1.4 เมื่อทำธุรกรรมเบิกจ่ายตรงเสร็จสมบูรณ์ แอปพลิเคชันจะแสดงหน้าจอข้อมูลสรุปการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรง พร้อมกับคำว่าใช้สิทธิสำเร็จหรือข้อความอื่นในทำนองเดียวกัน และเลขอนุมัติ (Approval Code)

2. สถานพยาบาล

2.1 สถานพยาบาลอาจกำหนดให้ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่ประสงค์จะทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชันต้องดำเนินการตามขั้นตอนภายในของสถานพยาบาลร่วมด้วย เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการส่งเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรง

2.2 ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวจะต้องแสดงตน ณ สถานพยาบาล และทำธุรกรรมเบิกจ่ายตรงผ่านกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยให้ยกเว้นการใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการทำธุรกรรมเบิกจ่ายตรง

2.3 สถานพยาบาลต้องจัดให้มีการแสดงรายละเอียดค่ารักษาพยาบาลในกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยอย่างน้อยจะต้องปรากฏรายละเอียดในส่วนที่ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวจะต้องชำระค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม (ส่วนที่เบิกไม่ได้) เพื่อให้ผู้ป่วยรับทราบและสามารถตรวจสอบรายการค่ารักษาพยาบาลได้

2.4 เมื่อการทำธุรกรรมแล้วเสร็จ ระบบจะส่งเลขอนุมัติ (Approval Code) ไปยังระบบสารสนเทศของสถานพยาบาล เพื่อให้สถานพยาบาลใช้ประกอบการส่งข้อมูลในระบบเบิกจ่ายตรง

3. นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในแนวปฏิบัตินี้ ให้นำแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกตามหนังสือที่อ้างถึง 1-3 มาใช้บังคับกับการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านแอปพลิเคชันสำหรับการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาล (Onsite) ด้วย

4. สถานพยาบาลที่มีความพร้อมในทางระบบสารสนเทศ หากประสงค์จะเข้าเป็น

สถานพยาบาลนำร่องเพิ่มเติม จะต้องดำเนินการขออนุญาตกับกรมบัญชีกลางเป็นรายกรณีก่อนเริ่มดำเนินการโดยผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลนำร่องและดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ww.w.cgd.go.th หัวข้อ รักษาพยาบาล/ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล

อ่าน แนวปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านแอปพลิเคชัน สำหรับการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาล (Onsite)

Attach Files