ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากงบประมาณปี 2566 ที่คาดการณ์กันว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะได้รับการจัดสรรทั้งสิ้นราว 2 แสนล้านบาท

ในจำนวนนี้ ถูกแบ่งไว้สำหรับจัด “บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์” ไว้เฉพาะ รวม 3,978 ล้านบาท

ในอดีต การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี-เอดส์ ต้องใช้งบประมาณมหาศาล หน่วยบริการที่ได้รับ “งบเหมาจ่ายรายหัว” ส่วนหนึ่งจึงรู้สึกลำบากใจเมื่อต้องจัดบริการที่มีต้นทุนสูง เพราะเสี่ยงต่อการขาดทุน

สปสช. จึงใช้วิธี “ตั้งกองทุนเฉพาะโรค” ขึ้นมาเป็นกลไกทางการเงินแบบใหม่ โดยมีหลักการคือ หน่วยบริการที่จัดบริการให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี-เอดส์ สามารถมาเบิกค่ารักษาจากกองทุนนี้ได้โดยไม่ต้องไปเบียดบังเงินจาก “งบเหมาจ่ายรายหัว”

นั่นหมายความว่า สปสช. ได้สร้างหลักประกันให้กับหน่วยบริการว่า หากรักษาโรคที่มีราคาแพง สปสช. จะมีเงินที่กันเอาไว้เฉพาะเพื่อจ่ายให้หน่วยบริการ หน่วยบริการจึงสามารถจัดบริการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย

1

สำหรับซีรีย์ “เจาะแฟ้มการบริหาร ‘บัตรทอง’ ปี 66” ตอนที่สามนี้ จะขออธิบายถึง “บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์” กองทุนย่อยที่มีมูลค่าเฉียด 4,000 ล้านบาท

อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น ในปีงบประมาณ 2566 คาดว่า สปสช. จะได้รับเงินราว 2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ถูกกันไว้สำหรับงานเอชไอวี-เอดส์ จำนวน 3,978 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทบริการย่อย

ได้แก่ 1. บริการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสและบริการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3,402 ล้านบาท 2. บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 575 ล้านบาท

“เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือประชาชนกลุ่มเฉพาะตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด ที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ โดยครอบคลุมบริการการรักษาด้วยยาต้านไวรัส การตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ การตรวจคัดกรองและการตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซี” (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. เรื่อง “หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ พ.ศ. ...” ที่รอ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ลงนาม ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป ระบุ

สำหรับ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสและบริการที่เกี่ยวข้อง (3,402 ล้านบาท) มีดังนี้

2

- กรณีบริการการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัส เช่น ยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน และสูตรดื้อยา ยารักษาภาวะไขมันในเลือดสูงจากการรับประทานยาต้านไวรัส ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกัน การติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาสู่ทารก และยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีภายหลังสัมผัสโรค ในกรณีสัมผัสเชื้อเอชไอวีจากการทำงานให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือเป็นผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือเป็นทารกซึ่งคลอดจากมารดาติดเชื้อเอชไอวีสำหรับรายการที่กำหนดอยู่ในแผนและวงเงิน การจัดหาฯ ให้หลักเกณฑ์การจ่ายเป็นไปตามหมวด 10

- กรณีบริการการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ จ่ายให้หน่วยบริการตามผลงานการให้บริการที่ส่งข้อมูลมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนด

- การตรวจคัดกรองและการตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซีในผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์และกลุ่มเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวี จ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนด

ในส่วนของ การจ่ายสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข ในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค/ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวี สำหรับประชาชนไทยทุกคน (575 ล้านบาท) ตามที่บอร์ด สปสช. กำหนด รวมนำร่องบริการยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (Pre-Exposure Prophylaxis : PrEP) บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ (Post-Exposure Prophylaxis : PEP) บริการให้การปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ (Voluntary counseling and testing: VCT) และบริการถุงยางอนามัย

- จำนวนไม่น้อยกว่า 18 ล้านบาท สำหรับการบริการเพื่อให้มีการเข้าถึงและชักนำประชากรที่มีความเสี่ยงให้เข้ารับบริการ การสร้างความต้องการในการรับบริการผ่านเครือข่ายสังคมและเครือข่ายสุขภาพ การขยายบริการเชิงรุกการตรวจเอชไอวี การดำเนินการให้ผู้ติดเชื้อรับการรักษาต่อเนื่องตามแผนการรักษา และดำเนินการให้ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อยังคงภาวะการไม่ติดเชื้อ การตรวจการติดเชื้อ ทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ในประชากรกลุ่มเสี่ยงร่วมกับการตรวจการติดเชื้อเอชไอวี และถุงยางอนามัยสำหรับ ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินการ เช่น ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย สตรีข้ามเพศ พนักงานบริการหญิง/ชาย ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด ผู้ต้องขัง หญิงตั้งครรภ์ เยาวชน พนักงานในสถานประกอบการ ประชาชนในชุมชนที่มีความเสี่ยง (พ่อบ้านแม่บ้าน) เป็นต้น

การจ่ายค่าใช้จ่ายให้จ่าย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนด และตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2559 เรื่อง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข และค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลงวันที่ 5 กรกฎาคม พุทธศักราช 2559 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงิน และรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข และค่าใช้จ่ายอื่น สำหรับรายการที่กำหนดอยู่ในแผนและวงเงินการจัดหาฯ ให้หลักเกณฑ์การจ่ายเป็นไปตามหมวด 10

- จำนวนไม่เกิน 51 ล้านบาท สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และบริการติดตามผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีตามรายการ เช่น การให้คำปรึกษา การคัดกรอง การค้นหาผู้มีภาวะเสี่ยง การใช้ยาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นต้น โดยกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ปฏิบัติงาน ในศูนย์องค์รวมร่วมกับหน่วยบริการ

การจ่ายค่าใช้จ่ายให้จ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนด และตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2559 เรื่อง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลงวันที่ 5 กรกฎาคม พุทธศักราช 2559 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับเงินการจ่ายเงิน การรักษาเงินและรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่น

3

- จำนวนไม่เกิน 196 ล้านบาท สำหรับบริการให้การปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ (Voluntary counseling and testing: VCT) จ่ายให้หน่วยบริการตามผลงานที่ส่งข้อมูลมาในปีงบประมาณ 2566 สำหรับการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV antibody testing) และการให้บริการให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่มารับบริการการให้การปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ (Voluntary counseling)

- จำนวนไม่เกิน 103 ล้านบาท สนับสนุนถุงยางอนามัยแก่ผู้ที่เข้ารับการบริการให้การปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจและผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ โดยประชาชนอาจรับบริการถุงยางอนามัยได้ที่ร้านขายยา หรือคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้าน ตามที่ สปสช. กำหนด สำหรับรายการที่กำหนดอยู่ในแผนและวงเงินการจัดหาฯ ให้หลักเกณฑ์การจ่ายเป็นไปตามหมวด 10

- จำนวนไม่เกิน 6.4 ล้านบาท สำหรับนำร่องบริการยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP) ซึ่งเป็นการให้ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ การจ่ายค่าใช้จ่ายเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนด สำหรับรายการที่กำหนดอยู่ในแผนและวงเงินการจัดหาฯให้หลักเกณฑ์การจ่ายเป็นไปตามหมวด 10

- จำนวนไม่เกิน 36 ล้านบาท สำหรับบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ (Post-Exposure Prophylaxis : PEP) ในกลุ่มผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี การจ่ายค่าใช้จ่ายเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนด